เจาะตำนาน “ขายหัวเราะ” ธุรกิจความฮาสามัญประจำบ้าน อยู่อย่างไรในยุคดิจิทัล   

ท่ามกลางกระแสดิจิทัลมาแรง กระเทือนสื่อสิ่งพิมพ์ให้ “ล้มหายตายจาก” ไปทีละเล่มสองเล่มจากแผงหนังสือ พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยที่ถูกตราหน้าว่า “อ่านหนังสือไม่เกิน 7 บรรทัด” และสถานการณ์ใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ที่ลดลง แมกกาซีนติดลบ นับเป็นความท้าทายของคนทำธุรกิจผลิตตำรับตำรา หนังสืออย่างมาก

อีกหนึ่งสื่อที่น่าสนใจในการ “ฝ่ากระแส” Digital Disrupt ยุคนี้ คงต้องยกให้หนังสือการ์ตูน “ขายหัวเราะ ซึ่งเป็นการ์ตูนที่ผู้บริโภคในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย โตมากับเสียงหัวเราะ อ่านมุกตลก จดจำลายเซ็นนักวาดการ์ตูน ลายเส้นคาแร็กเตอร์ตัวการ์ตูนได้อย่างดี เรียกได้ว่าเป็น “ความฮาสามัญประจำบ้าน” ตามคอนเซ็ปต์ของหนังสือจริงๆ

หากจะพิจารณาจุดแข็งจุดอ่อนที่ “ขายหัวเราะ” ประสบความสำเร็จในตลาดได้อย่างยาวนานถึง 44 ปี คงเริ่มจากการมองเห็น “โอกาสทางการตลาด” ของ “วิธิต อุตสาหจิต” ผู้เป็นทั้งบรรณาธิการหนังสือการ์ตูนในเครือบรรลือสาส์น และผู้ก่อตั้งนิตยสารขายหัวเราะ มองว่าการ์ตูนแนว 3 ช่องจบหรือการ์ตูนแก๊ก ในยุคนั้นมีน้อยมาก สะท้อนให้เห็นถึง “ช่องว่าง” ในการเข้าไปบุกเบิกและทำตลาดได้

ขณะที่ “คอนเทนต์” ของหนังสือ ก็มีความ “หลากหลาย” ตั้งแต่การ์ตูนแก๊ก การ์ตูนที่มีเนื้อเรื่องยาว ขำขัน เรื่องราวมุกตลกจากต่างประเทศมาแทรก รวมถึงเรื่องสั้นภายในเล่ม การ์ตูนมีทั้งความเซ็กซี่ เป็นต้น ตอบโจทย์ผู้บริโภคนักอ่านทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง และผู้ชาย เรียกว่าครบเครื่อง 

นอกจากนี้ “ตัวการ์ตูน” ถือเป็น “จุดแข็งมาก” ของขายหัวเราะ เพราะคาแร็กเตอร์ของแต่ละตัวนั้นแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่การล้อเลียนตัวของ “วิธิต” เอง ซึ่งนักวาดการ์ตูนของบริษัทมักเรียกว่า “บก.วิติ๊ด” เป็นการสร้างสีสันให้คนอ่าน และมีความสนใจใคร่รู้ว่าแท้จริงแล้ววิธิตเป็นคนอย่างที่ได้อ่านหรือเปล่า  

ด้าน “ราคา” เป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อ ในอดีตจะเห็นว่าการ์ตูนเล่มเล็กๆ นี้ขายประมาณ 10 บาท ทำให้จับจ่ายง่าย แต่ปัจจุบันราคาขายขึ้นมาที่ 20 บาทแล้ว แม้จะเป็นหนังสือการ์ตูนราคาไม่แพง แต่ขายหัวเราะมีการกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยการทำ Loyalty Program ให้ผู้บริโภคร่วมสนุกกับเกมในเล่ม ร่วมกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อชิงโชค เป็นต้น

วันนี้กลิ่นอายของการอ่านขายหัวเราะอาจลดลงไป จากการอยู่บนแผงหนังสือน้อยลง การอยู่บนแผงในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นที่ปะปนทับถมกับหนังสือพิมพ์ ซ่อนอยู่ใต้หนังสือประเภทอื่นๆ

ทว่า ขายหัวเราะ กลับปรับตัวยืนหยัดเพื่อ “อยู่รอด” ได้ และเป็นกรณีศึกษาที่ดีในการทำตลาด โดยปัจจุบัน “คนอ่าน” อยู่บนโลกออนไลน์ ขายหัวเราะก็ตามมาเสิร์ฟความตลกทุกช่องทาง มี Application ให้ดาวน์โหลดอ่านได้ทั้งระบบ IOSและ Android แฟนคลับยังสามารถติดตามข่าวสาร พูดคุยได้ทั้ง Facebook Instagram Line Twitter มีครบ

ขณะที่การหารายได้บนหน้ากระดาษ ยังคงมี “โฆษณา” ให้เห็นแทรกอยู่ตามหน้าต่างๆ บ้างเล็กน้อย แต่นั่นก็เป็นโฆษณาหนังสือจากบริษัทในเครือบรรลือสาส์น เทียบกับอดีตจะเห็นโฆษณาที่มาจากขนมขบเคี้ยว และอื่นๆ อีกด้านคือ “ยอดขาย” จากจำนวนเล่มที่ตีพิมพ์นั่นเอง

“ขายหัวเราะ” อาจเป็นหนังสือการ์ตูนหัวหอกของเครือบรรลือสาส์น แต่ในพอร์ตโฟลิโอยังมีทั้ง มหาสนุก, นางสาวดอกไม้กับนายกล้วยไข่, ปังด์ปอนด์, หนูหิ่นอินเตอร์ และอีกมากมายที่ผู้อ่านคุ้นเคยกันอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ขายหัวเราะที่ปรับตัว เพราะในเครือบันลือกรุ๊ป ก็เปลี่ยนตัวเองไม่น้อย โดยที่ผ่านมาเห็นการขยายธุรกิจ “วิธิตา แอนิเมชั่น” นำคอนเทนต์การ์ตูนที่มีมาทำภาพยนตร์ รับทำคอนเทนต์วาดการ์ตูน ตัดต่ออัดเสียงแบบครบครัน มีธุรกิจ มาโชบิส ดูแลลิขสิทธิ์และบริการการตลาดในเครือ และบริษัทยังมีการจำหน่ายหนังสือออนไลน์ เพื่อรับกับโลกดิจิทัลด้วย.