จาก Buzz ถึง Feedback 3.0

รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรยุส วัฒนาศุภโชค รองคณบดี ฝ่ายวางแผน และพัฒนา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า facebook จะมีอิทธิพลมากขึ้น หลังจากที่ hi 5 ได้รับความนิยมมาก่อน เพราะ facebook เริ่มแปลเป็นภาษาไทย หลังจากที่ฟีเจอร์ของ facebook สามารถจับกลุ่มระดับกลาง และนักธุรกิจรุ่นใหม่ในไทยได้แล้วบางส่วน

หากวิเคราะห์ในแง่กลยุทธ์การตลาด ตั้งแต่ตัว Product ถือว่า facebook พัฒนาได้ต่างจาก Social Networking อื่นๆ และโดนใจลูกค้ามากกว่า ตั้งแต่รูปลักษณ์ที่ออกแบบให้ดูเรียบง่าย มี Applications ที่หลากหลาย เพราะเปิดกว้างให้นักพัฒนาเสนอ Applications ให้ชาว facebook ใช้ รวมไปถึงการคัดเลือกหรือยอมรับเพื่อนใหม่เข้ามาในเครือข่าย ที่กรองได้เฉพาะเพื่อนที่รู้จัก ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

การมี Target Group กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น คือจุดเริ่มต้นความสำเร็จ เพราะเริ่มจากเครือข่ายนักศึกษา เป็นหนังสือรุ่นออนไลน์ กลุ่มนี้เติบโตทำงาน และขยายแวดวงมาในกลุ่มนักวิชาการ คนทำงาน

กระบวนการตลาดที่ทำให้ facebook สำเร็จคือ เริ่มจาก Word of Mouth คือการบอกต่อๆ กัน เมื่อเสียงกระซิบเริ่มดังมากขึ้นจึงกลายเป็น Talk of the town เป็นขั้น Buzz Marketing ที่ทำให้กระบวนการ Friend get friend ของ facebook เติบโตเร็วขึ้น

ในด้านโอกาสสำหรับสินค้า และแบรนด์ที่จะใช้ facebook เป็นสื่อนั้น อาจารย์ธีรยุสมองว่าโอกาสความสำเร็จเป็นไปได้สูง เพราะใน facebook สามารถหา Segment ที่ชัดเจนได้ว่าเป็นกลุ่มใด มีไลฟ์สไตล์อย่างไร เป็น Electronic below the line ที่ทรงอิทธิพล และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยมีต้นทุนต่ำ เช่น กลุ่มเครือข่ายนักวิชาการ กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มผู้หญิง และใช้เป็นสื่อในการติดต่อ และสร้างสังคมในกลุ่มลูกค้าของสินค้านั้นๆ

นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือการทำ CRM อย่างได้ผล เพราะทำให้รับรู้ความต้องการของลูกค้าได้โดยตรงจากคอมเมนต์ และความสามารถในการชี้แจงข้อมูลกับลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง และ Interactive เป็นขั้น Feedback 3.0 โดยมี Social Networking เป็นตัวขับเคลื่อน จากยุค Feedback 1.0 เป็นเรื่องของการส่งอีเมลถึงลูกค้า และ 2.0 เป็นช่วงของการให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ และกระทู้ในเว็บบอร์ด