วันปีย์ สัจจมาร์ค “บ้านเรารับเทรนด์มาจากทั่วโลก ไม่เกิน 3 เดือนสินค้ากอล์ฟมีขายครบแล้ว”

ด้วยประสบการณ์ในการเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬาทางช่อง 7 มาหลายปี บวกกับการเป็นผู้บรรยายกีฬาทางช่องทรูวิชั่นส์ ทั้งยังเป็นโปรดิวเซอร์ควบพิธีกรรายการ Teeoff และจัดรายการเกี่ยวกับกอล์ฟทางวิทยุ FM 99 เป็นประจำ

ทำให้บรรดาสาวกและแฟนานุแฟนของกีฬากอล์ฟในประเทศเทศไทยต่างก็รู้จักชื่อของ “วันปีย์ สัจจมาร์ค” หรือ “โปรฯ เจย์” กันเป็นอย่างดี

จากการที่เขาคลุกคลีกับกีฬากอล์ฟมากว่า 20 ปี นับตั้งแต่หัดเล่นจนได้เป็นนักกีฬากอล์ฟของโรงเรียนมัธยม Chapparal High School ประเทศสหรัฐอเมริกา กระทั่งสามารถคว้าปริญญาตรีทางด้านการตลาดจาก University of Nevada Lasvegas ควบคู่ไปกับประกาศนียบัตรจาก UNITED STATES GOLF TEACHERS FEDERATION (US GTF) และกลับมาทำงานเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬาจวบจนปัจจุบัน ทำให้เขากลายเป็นผู้หนึ่งที่เห็นพัฒนาการของวงการกีฬากอล์ฟทั้งไทยและเทศมาอย่างยาวนาน

ซูเปอร์สตาร์และแฟชั่น

วันปีย์ กล่าวถึงกระแสความนิยมของกีฬากอล์ฟในระดับโลกว่า นับตั้งแต่ไทเกอร์ วูดส์ ผงาดขึ้นเป็นซูเปอร์สตาร์มือหนึ่ง ก็ทำให้วงการกอล์ฟตื่นตัวขึ้นมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

สังเกตได้จากการแข่งขันใน US PGA ที่นักกอล์ฟมือ 1 มีจำนวนเงินรางวัลสะสมเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 9-10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ภายในช่วงเวลา 1 ทศวรรษเท่านั้น แสดงว่าเทรนด์กีฬากอล์ฟมาแรงมากจนสปอนเซอร์ต้องยอมทุ่มทุนเพิ่มเงินรางวัลขึ้นอีกหลายเท่าตัว

ขณะที่เมืองไทยก็ได้รับอิทธิพลจากกระแส “ไทเกอร์ วูด ฟีเวอร์” มาไม่น้อย ทำให้เยาวชนและคนรุ่นหนุ่มสาวหันมาเล่นกอล์ฟกันมากขึ้น มีการจัดการแข่งขันในระดับต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และมีสปอนเซอร์หันมาสนับสนุนการแข่งขันกอล์ฟเพิ่มมากขึ้น

พร้อมทั้งส่งผลให้ตลาดของอุปกรณ์กีฬากอล์ฟเติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ต่างๆ เริ่มออกอุปกรณ์มาตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย จนทำให้อุปกรณ์ประเภท Software หรือเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในการเล่นกอล์ฟเริ่มคืบคลานเข้าสู่โลกของแฟชั่นอย่างเต็มตัว ส่วนอุปกรณ์ประเภท Hardware อย่างไม้กอล์ฟก็เริ่มมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ผสมผสานเข้ากับสีสันและแฟชั่นมากขึ้น

“บ้านเรารับเทรนด์มาจากทั่วโลก ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยในแต่ละปีจะมีงานเปิดตัวอุปกรณ์กีฬากอล์ฟระดับโลกที่เมืองโอลันโด รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่เกิน 3 เดือนเมืองไทยก็มีสินค้าครบหมดแล้ว บางครั้งจัดโปรโมชั่นราคาถูกกว่าเมืองนอกด้วยซ้ำ”

ส่องกล้องมองเมืองแชมป์

สำหรับสาเหตุที่ทำให้นักกอล์ฟไทยยังไม่สามารถยกระดับไปเทียบชั้นกับนักกอล์ฟอันดับโลกจากสหรัฐอเมริกาได้นั้น วันปีย์ กล่าวว่า “ก่อนอื่นต้องยอมรับว่ามันคนละ Scale กัน ประเทศไทยมีคนเล่นกอล์ฟแค่ 5-6 แสนคน แต่ที่สหรัฐอเมริกามีคนเล่นกอล์ฟกว่า 25 ล้านคน ตัวเลือกนักกีฬาของเราจึงมีน้อยกว่า”

นอกจากจำนวนผู้เล่นที่แตกต่างกันแล้ว วันปีย์ยังเล่าถึงระบบในการสร้างนักกีฬาอาชีพที่แตกต่างกัน เพราะที่สหรัฐอเมริกาจะมีความต่อเนื่องตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาถึงระดับมหาวิทยาลัยไปจนกระทั่งเทิร์นโปร

โดยในระดับมัธยมศึกษาจะมีการแข่งขันตั้งแต่ระดับเมือง ระดับรัฐ ไปจนถึงระดับประเทศ หากใครทำผลงานได้ดีก็จะมีแมวมองมาชักชวนให้เข้าไปร่วมทีมในระดับมหาวิทยาลัยโดยให้ทุนเรียนฟรีไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนแม้แต่บาทเดียว ซึ่งนักกีฬาที่ทำผลงานได้ดีในระดับมหาวิทยาลัยอาจตัดสินใจเทิร์นโปรไปเป็นนักกอล์ฟอาชีพที่สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้จากการแข่งขัน เพราะประเทศสหรัฐอเมริกามีลีกกีฬาอาชีพที่เข้มแข็งไว้รองรับ

โรงเรียนและมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ยังมีสวัสดิการค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อมสำหรับนักกีฬา โดยจัดรถโรงเรียนคอยรับส่งนักกีฬาไปฝึกซ้อมที่สนาม พร้อมทั้งประสานงานกับสนามกอล์ฟที่อยู่ใกล้สถานศึกษาให้ช่วยเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อมออกรอบ

ส่วนในประเทศไทยแม้มีองค์ประกอบครบทั้งระบบเหมือนกับที่สหรัฐอเมริกา แต่วันปีย์มองว่ายังขาดความต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีปัญหาที่ระบบการศึกษาในภาพรวม ที่เด็กมักเลือกเรียนตามโรงเรียนชื่อดังซึ่งอยู่ไกลบ้าน แถมต้องเรียนพิเศษตัวเป็นเกลียว ทำให้ไม่มีเวลาทุ่มเทสำหรับการฝึกซ้อมกีฬาเท่าไรนัก

“บ้านเรามีคนหวังดีที่ต้องการพัฒนาวงการกีฬากอล์ฟมากมาย แต่ส่วนมากยังไม่ต่อเนื่องเพราะต่างคนต่างทำ ผมยังไม่เคยได้ยินว่ามีใครผ่านระบบเหมือนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีแต่พ่อแม่ผู้ปกครองที่ทำให้ครบตั้งแต่ต้นจนจบ”

สร้างสะพานเล็กๆ

การแก้ปัญหาความต่อเนื่องในเส้นทางการพัฒนานักกีฬากอล์ฟของไทยนั้น วันปีย์บอกว่าแต่ละคนต้องสร้างสะพานเชื่อมร้อยเข้าไปในแต่ละจุดที่ตนเองถนัด ส่วนตัวเขาเองขอทำหน้าที่สะพานเล็กๆ ในวงการกอล์ฟด้วยการเป็นสื่อมวลชนที่คอยถ่ายทอดข่าวสารกีฬากอล์ฟให้กับประชาชนทั้งประเทศ

“สื่อมวลชนมีความสำคัญมากในการกระจายข่าวสารให้กับผู้บริโภค เพราะแม้ว่าผู้บริโภคบางคนจะตีกอล์ฟไม่เป็น แต่เขาก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้กีฬากอล์ฟเติบโตในฐานะ Viewer เพราะถ้าจัดแข่งขันในประเทศไทยแล้วมีคนดูแค่ 10 คน ครั้งต่อไปใครจะจัด”

วันปีย์ อธิบายความสำคัญของผู้ชมที่ติดตามข่าวสารกีฬากอล์ฟต่อไปว่า คนกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะสนใจและหันมาเล่นกีฬากอล์ฟในอนาคต
ดังนั้นหนึ่งใน Key Success ของการพัฒนาวงการกีฬากอล์ฟไทย จึงต้องทำให้มีจำนวนคนดูกอล์ฟเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มีจำนวนนักกีฬากอล์ฟเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลถึงจำนวนนักกีฬากอล์ฟอาชีพและซูเปอร์สตาร์ที่จะเพิ่มขึ้นตามฐานของผู้เล่นที่กว้างขึ้น

“กายภาพเราไม่ได้เสียเปรียบชาติไหน เพราะคนตัวเล็กก็ตีกอล์ฟได้ ขนาดประเทศสวีเดนเขาต้องตีกอล์ฟในโดมช่วงหน้าหนาว 3-4 เดือนเขายังทำได้ดี บ้านเราก็ทำได้แต่คงต้องค่อยเป็นค่อยไป ขอเพียงดูระบบในประเทศที่เขาก้าวหน้ากว่าเราแล้วนำมาประยุกต์ให้เหมาะสม อย่างน้อย Learning Curve ของเราก็น่าจะดีกว่าเขา” คือบทสรุปของโปรฯ หนุ่มผู้ติดตามกีฬากอล์ฟอย่างใกล้ชิด