วัดกึ๋น แคมเปญชิง “เช็คช่วยชาติ” สองหมื่นล้าน

POSITIONING ร่วมกับ บริษัท นาโนเซิร์ช จำกัด นำเสนอผลวิจัยเกี่ยวกับมุมมองและพฤติกรรมการนำ “เช็คช่วยชาติ” ไปใช้ของผู้ที่รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท

ช่วยทำให้เราวิเคราะห์แคมเปญการตลาดของหลากหลายบริษัทที่กระโจนเข้าแย่งชิงเม็ดเงินมูลค่ากว่า 21,000,000,000 ล้านบาท (เช็คจำนวน 10.5 ล้านใบ ใบละ 2,000บาท) ซึ่งแต่ละรายต่างส่งโปรโมชั่นที่ “ให้มากกว่า” มูลค่าที่แท้จริงของเช็คด้วยกันทั้งนั้น

แคมเปญการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยได้เกิดขึ้นแล้ว และเป็นเสมือนเวทีประชันไอเดียเด็ดด้านโปรโมชั่นที่มีคู่แข่งมากหน้าหลายตามากยิ่งกว่าแคมเปญใด เพราะนี่คือแคมเปญระดับชาติเกี่ยวข้องกับคนจำนวน 10.5 ล้านคนทั่วประเทศไทย

“เช็คช่วยชาติ” มูลค่า 2,000 บาท ที่รัฐบาลแจกมายังผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 14,999 บาท จำนวน 6-7 ล้านคน กลายเป็นเม็ดเงินที่มากระตุ้นความคึกคักให้กับสินค้า และบริการที่ต่างงัดกลยุทธ์การตลาดกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน แต่จะตรงใจกลุ่มเป้าหมายหรือไม่นั้น นิตยสาร POSITIONING ร่วมกับ บริษัท นาโนเซิร์ช จำกัด มีผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินจำนวน 2,000 บาท สรุปได้ว่ากลุ่มเป้าหมาย 73% บอกว่ามีแผนใช้เงินก้อนนี้ ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยส่วนใหญ่บอกว่าแหล่งที่จะไปจับจ่ายใช้สอยคือดิสเคานต์สโตร์

สำหรับโปรโมชั่นที่โดนใจคือการให้ส่วนลดในการซื้อสินค้า และเงิน 2,000 บาทนี้ยังช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคพร้อมจ่ายเงินเพิ่มหากสิ่งที่ต้องการซื้อมีราคาเกินกว่าเช็คช่วยชาติ

ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างที่ถูกสำรวจ 200 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัทเอกชน

เพศ
ชาย 45%
หญิง 47.5%
เพศที่สาม 7.05%

อายุ
น้อยกว่า 25 ปี 16.5%
25-30 ปี 36%
มากกว่า 40 ปี 18%

รายได้
7,000-9,000 บาท 23.5%
9,001-11,000 บาท 28%
11,001-13,000 บาท 21%

การศึกษา
ปริญญาตรี 40.5%
มัธยมปลาย 25%
ปวส.15.0%

มาติดตามดูกันว่าพวกเขาวางแผนการใช้จ่ายเช็คช่วยชาติกันอย่างไรบ้าง และแคมเปญการตลาดใดน่าจะตรงใจกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ POSITIONING วิเคราะห์เพิ่มเติม

สื่อที่ทำให้ทราบข่าวการจ่ายเงิน 2,000 บาท
เพื่อนหรือคนรู้จักบอก 20%
อินเทอร์เน็ต 11.9%
นิตยสาร/วารสาร 0.7%
วิทยุ 8.7%
หนังสือพิมพ์ 18.2%
โทรทัศน์ 40.6%

สำหรับผู้บริโภคได้มีการเตรียมการหรือวางแผนสำหรับการใช้จ่ายเงินที่จะได้รับไว้หรือไม่อย่างไรนั้น พบว่า ผู้บริโภคกว่า 73.0% ที่ได้มีการวางแผนเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงิน 2,000 บาทเรียบร้อยแล้ว

จ่ายค่าอาหาร เดินทางมากที่สุด

10 อันดับค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคใช้เงินจำนวน 2,000 บาท ใช้จ่ายทันทีภายหลังได้รับเงิน %
-นำมาใช้ในชีวิตประจำวันปกติ (เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง) 16.3
-ที่อยู่อาศัย (ค่าเช่า/ค่าผ่อนชำระ/ค่าน้ำ/ค่าไฟ) 15.7
-ซื้อของใช้ภายในบ้าน เช่น สบู่/ยาสีฟัน/แชมพูสระผม เป็นต้น 13.6
-เสื้อผ้า/เครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ/เครื่องสำอาง เป็นต้น 9.8
-ค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือ/บ้าน 7.0
-เพื่อความบันเทิง เช่นเที่ยวผับ เธค บาร์ ร้านอาหาร 6.8
-นำเงินที่ได้ไปให้พ่อแม่ ผู้มีอุปการคุณ 6.8
-เอาไปใช้หนี้ที่ค้างไว้ เช่น บัตรเครดิต เงินกู้ยืมต่างๆ 6.5
-ค่าผ่อนชำระสินค้า/บริการ 5.7
-เงินออม เช่น ฝากธนาคาร 3.5
-นำไปลงทุน เช่น ซื้อพันธบัตร ซื้อสลากออมทรัพย์ เป็นต้น 2.2
-ทำผม ทำเล็บ เข้าสปา 2.2
-ใช้เพื่อการท่องเที่ยว เช่น ทะเล น้ำตก เกาะ เป็นต้น 1.6

-จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ความต้องการของผู้ที่ได้รับเช็คช่วยชาติ 2 อันดับแรก คือ การนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายปกติของพวกเขาอยู่แล้ว ขณะที่ผู้จำหน่ายสินค้าและบริการจะได้รับประโยชน์จากความต้องการในลำดับต่อๆ มา อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่าง 92% นำเงินไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อสนองความต้องการด้านต่างๆ ดังกล่าว และมีเพียง
ราว 8% เท่านั้นที่จะนำเงินไปออม ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของรัฐบาล

ดิสเคานต์สโตร์มีเฮ

สถานที่ในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค %
-ดิสเคานต์สโตร์ อาทิ โลตัส คาร์ฟูร์ บิกซีฯ 28.4
-ตลาดนัดใกล้ที่ทำงาน/ที่เรียน/ใกล้บ้าน 17.2
-ห้างสรรพสินค้าอาทิ เซ็นทรัล เดอะมอลล์ โรบินสันฯ 14.2
-ร้านค้าทั่วๆ ไปอาจตั้งในห้างสรรพสินค้า หรือไม่ได้อยู่ในห้างก็ได้ 13.9
-สยามเซ็นเตอร์ 7.1
-ศูนย์การค้า เช่น มาบุญครอง ฟิวเจอร์พาร์ค 6.4
-ตลาดจตุจักร 4.7
-ตลาดเปิดท้ายของหน้าห้างสรรพสินค้าหรือโรงภาพยนตร์ 2.7
-แหล่งช้อปปิ้งอื่นๆ เช่น ตะวันนา เซ็นเตอร์วัน 2.4
-สะพานพุทธ 1.0
-แหล่งค้าส่ง เช่น ประตูน้ำ แพลทินั่ม โบ้เบ๊ 1.0
-แหล่งขายสินค้าหรือตลาดใกล้ที่ทำงาน 1.0

ด้วยสาขาของดิสเคานต์สโตร์ 3 รายใหญ่ ที่มีครอบคลุมทั่วประเทศ และด้วยจุดเด่นในเรื่องของราคาถูกใช้เป็นกลยุทธ์การแข่งขันตลอดมา ทำให้ผู้บริโภคเกิด Perception ว่าสินค้าของดิสเคานต์สโตร์ถูกกว่าแหล่งอื่น ทำให้กลุ่มตัวอย่างผู้ถือครองเช็คช่วยชาติ 28.4% เลือกที่จะเอาเช็คไปใช้ที่ดิสเคานต์สโตร์

ดิสเคานต์สโตร์/แคมเปญ
เทสโก้ โลตัส เช็ค 2,000 บาทแลก แพ็กเกจเทสโก้ โลตัส ช่วยคุณ ช่วยไทย เพิ่มมูลค่ารวมสูงสุด 6,000 บาท

บิ๊กซี ใบเสร็จเช็ค 2,000 บาทที่ซื้อสินค้าที่บิ๊กซี แลกบัตรกำนัล 100 บาท ซื้อขั้นต่ำ 500บาท แลกทอนเป็นเงินสด
รับคูปองส่วนลดรวมมูลค่า 10,000,000 บาท

คาร์ฟูร์ เพิ่มมูลค่าเช็ค 20%

และเมื่อมาพิจารณาแยกย่อยตามประเภทของสินค้าที่จะเลือกซื้อ พบว่า ในส่วนของสถานที่ในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคนั้น จะมีความสัมพันธ์กับประเภทของค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่าย ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับของใช้ภายในบ้าน อาทิ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยาสระผม ผงซักฟอก เป็นต้น ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าดังกล่าวที่ “ดิสเคานต์สโตร์” คิดเป็น37.35% ลำดับรองลงมาคือ เลือกซื้อที่ “ตลาดนัดใกล้ที่ทำงาน/ที่เรียน/ใกล้บ้าน” คิดเป็น 19.28% และ “ร้านค้าต่างๆ ภายในห้างสรรพสินค้า หรือ ร้านต่างๆ ที่จำหน่ายสินค้าประเภทดังกล่าว” คิดเป็น 19.28% เช่นเดียวกัน

ในส่วนของการเลือกซื้อสินค้าประเภท เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ และ เครื่องสำอางนั้น พบว่า ผู้บริโภคนิยมที่จะไปเลือกซื้อที่ห้างสรรพสินค้า อาทิ เซ็นทรัล เดอะมอลล์ เป็นต้น มากที่สุด คิดเป็น20.3% ลำดับรองลงมาคือ ดิสเคานต์โตร์ คือ เทสโก้ โลตัส คาร์ฟูร์ บิ๊กซีฯ คิดเป็น 13.29% และ สยามเซ็นเตอร์ คิดเป็น 13.29% และ ตลาดนัดใกล้บ้าน/ใกล้ที่ทำงาน คิดเป็น 13.29% เช่นเดียวกัน

และในกรณีที่สินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคเลือกซื้อหรือจะต้องใช้จ่ายมีจำนวนเกิน 2000 บาท ผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่มีความพร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่มเติม คิดเป็น 83.0% และมีเพียง 17.0% เท่านั้นที่คิดว่าตนเองไม่พร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่ม

ในส่วนของรายการส่งเสริมการขายที่ผู้บริโภคต้องการหรืออยากให้จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเลือกซื้อสินค้าหรือใช้จ่ายมากที่สุดการให้ส่วนลด

ผู้บริโภคเห็นว่าควรมีการจัดรายการส่งเสริมการขาย %
-การให้ส่วนลดเป็นเปอร์เซ็นต์ (%) เช่น 10% 20% สำหรับการใช้เงิน 2,000 บาท ไปเลือกซื้อ 61.5
-การนำใบเสร็จรับเงินที่ใช้จ่ายเงิน 2,000 บาท มาแลกซื้อสินค้าต่างๆ หรือเลือกซื้อสินค้าต่างๆ ได้ในราคาพิเศษ 22.0
-การให้ของแถมนำคูปองมาซื้อสินค้าครบ 2,000 บาท และมีการให้ของแถม เช่น กระเป๋า หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น 8.0
-การจัดรายการส่วนลดร่วมกับสินค้าอื่นๆ อาทิ จองโรงแรม ได้ส่วนลดร้านอาหาร เป็นต้น 6.0
-การสะสมสติ๊กเกอร์เป็นส่วนลดเงินสดในครั้งต่อไป 2.5

อย่างไรก็ตาม สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่แล้วไม่เชื่อมั่นว่าจะดีขึ้น คิดเป็น 56.0% และผู้บริโภคอีกส่วนหนึ่งที่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น คิดเป็น 24.0% ตามลำดับ