อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ The Survivor

การก้าวเข้ามาสู่ตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้าน ส่งผลให้เขาถูกเฝ้าจับตาจากสังคมไทยและจากเวทีสากล ว่านายกฯ หนุ่มวัย 44 ปีผู้ซึ่งพร้อมไปด้วยคุณสมบัติครบถ้วนทุกด้าน ทั้งการศึกษา ชาติตระกูล ตลอดจนรูปร่างหน้าตานั้น กำลังจะกลายเป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองของประเทศคนใหม่อย่างแน่นอน

โดยเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ถือได้ว่าเป็นจุดสูงสุดในทางการเมือง ที่นักการเมืองแต่ละคนย่อมใฝ่ฝัน และฟันฝ่ามาให้ถึงในวันใดวันหนึ่ง เพราะทุกคนรู้ดีว่าบัลลังก์แห่งนี้คือแหล่งรวมอำนาจบารมี อิทธิพล และผลประโยชน์อันมหาศาลในทุกๆ ด้าน ภายใต้การรองรับจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ อันถือเป็นกฎกติกาที่ถูกต้องชอบธรรม และที่สำคัญหากใครก็ตามสามารถช่วงชิงและยึดกุมเก้าอี้นายกฯ เอาไว้ได้ในมือแล้ว ย่อมหมายถึงโอกาสในการที่จะสร้างผลงานเพื่อตักตวงคะแนนเสียงจากประชาชนได้ทั้งประเทศ

เมื่อเก้าอี้แห่งอำนาจถูกครอบครองโดยอภิสิทธิ์ นักการเมืองต้นทุนสูง มีพรรคประชาธิปัตย์ และกองทัพเป็นแรงหนุนชั้นดี รวมทั้งยังได้รับอานิสงส์จากเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขับไล่รัฐบาลนอมินีระบอบทักษิณจนสำเร็จ ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้กับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แทบทั้งสิ้น จึงทำให้หลายคนยิ่งมั่นใจว่านายกฯ อภิสิทธิ์คือผู้มีอิทธิพลในทางการเมืองคนใหม่อย่างแท้จริง

ทว่าตลอดระยะเวลา 3 เดือนของการอยู่ในสถานะผู้นำประเทศของนายกฯ อภิสิทธิ์นั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคความยากลำบากทั้งในทางการเมืองไม่นิ่ง การแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งสภาพสังคมไทยที่ยังคงร้อนระอุไปด้วยความรู้สึกขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน

เงื่อนไขเหล่านี้ล้วนแล้วเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศของเขาและคณะรัฐมนตรีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อขั้วอำนาจเก่าจากระบอบทักษิณนอกจากจะยังไม่ถูกกำจัดให้สิ้นซากไปได้แล้ว กลับย้อนหันมาจ้องล้มล้างรัฐบาล จัดให้นายกฯ อภิสิทธิ์ และรัฐมนตรีอีกหลายคนใน ครม.อยู่ในบัญชีที่ต้องดำเนินการประทุษร้ายใช้กำลังให้ถึงที่สุด

แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ไม่ยอมแพ้ ต้องการพิสูจน์ว่า สามารถนำพาประเทศไทยฟันฝ่าคลื่นมรสุมไปให้จงได้

เหตุการณ์จลาจลที่ผ่านมา นายกฯ อภิสิทธิ์สามารถใช้ความอดทนและการตัดสินใจที่เฉียบคมด้วยการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เข้าควบคุมเหตุจลาจลล้มอาเซียน และป่วนกรุงในเหตุการณ์ “สงกรานต์เดือด” ที่ผ่านมาโดยไม่มีใครเสียชีวิต จนได้รับเสียงเชียร์จากหลายฝ่ายทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งนายกฯ อภิสิทธิ์ยังได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ ให้เขาเป็นผู้มีชัยเหนือทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในการทำสงครามสื่อจนสามารถสร้างความเข้าใจ และที่สำคัญ ยังพลิกบทกลับมาเป็นผู้ชนะ เหนือทักษิณและกลุ่มเสื้อแดง

แน่นอนว่า ทักษิณยังไม่ยอมหยุด และคงต้องใช้กลุ่มเสื้อแดงออกมาต่อสู้ และครั้งนี้จะอาศัยบรรดาฝ่ายซ้ายอกหักที่เคยซ่อนตัว ให้ออกมาเป็นทัพหน้า

นายกฯ อภิสิทธิ์ออกมาเปิดเผยว่า กลุ่มคนเสื้อแดงไม่เพียงแต่จะจ้องล้มรัฐบาลเท่านั้น หากถึงขั้นเอาชีวิต เหตุการณ์เสื้อแดงบุกกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นความจงใจของคนบางกลุ่มที่เปิดทางให้กลุ่มเสื้อแดงเข้าประชิดตัวจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด

เหตุการณ์เสื้อแดงบุกไปถึงพัทยาจนประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนต้องล้มไป ย่อมไม่ใช่เรื่องปกติ หากการประชุมลุล่วงไปได้ด้วยดี นายกอภิสิทธิ์ฯ จะได้รับการยอมรับจากนานาชาติมากยิ่งขึ้นไปอีก ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ทักษิณและกลุ่มเสื้อแดงที่มุ่งจ้องล้มรัฐบาลต้องการ หรือแม้แต่กลุ่มอำนาจใหม่ ที่หากรัฐบาลเป็นอะไรไป ย่อมเป็นผลดีต่อกลุ่มนี้ก็พร้อมจะขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองทันที

แม้จะมีเสียงเตือนจากแกนนำพันธมิตรฯ ต่อนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่เรียกร้องและกดดันให้เขาตัดสินใจเอาจริงด้วยการสั่งโยกย้ายนายทหารและตำรวจทุกคน ที่เชื่อว่าเป็น “เสื้อแดง” เพื่อความชอบธรรมและเพื่อความปลอดภัยของตัวนายกฯ อภิสิทธิ์เองนั้น ก็ได้กลายเป็นเพียงเสียงกระซิบที่ต้องจำใจให้ผ่านเลยไป

นายกฯอภิสิทธิ์เลือกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ การสั่งเปลี่ยนชุดรักษาความปลอดภัยชนิดยกแผง และสั่งซื้อรถกันกระสุนเพิ่มเท่านั้น ส่วนดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการกดดันฝ่ายทหารให้ออกมารับผิดชอบ หรือการกดดันฝ่ายตำรวจโทษฐานที่ใส่เกียร์ว่าง ออกมารับผิดชอบ ยังเป็นสิ่งที่ต้องวางไว้ชั่วคราว

เขารู้ดีว่ากำลังถูกปองร้ายจากใคร แต่การที่ไม่สามารถตัดสินใจใช้ไม้แข็งหักดิบสั่งย้าย หรือกำจัดนายทหารและนายตำรวจคนใดคนหนึ่งออกมาชัดเจนนั้น เพราะตระหนักดีว่าแท้ที่จริงแล้ว อำนาจที่หลายคนมองเห็นว่าผู้นำรัฐบาลสูงสุดพึงมี แต่กลับไม่ได้เป็นผู้ครอบครองเอาไว้ทั้งหมด หรือไม่ครอบคลุมและสั่งการหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ ทั้งที่เป็นหัวใจหลักของการบริหารบ้านเมือง เมื่อทหารยุคนี้เลือก “เดินเกมแห่งอำนาจ” ของตัวเอง

ขณะที่ทางด้านการบริหารอำนาจในทางการเมืองของนายกฯอภิสิทธิ์นั้นยังจำเป็นที่จะต้องอาศัยสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และในฐานะเลขาธิการพรรค เป็นตัวจักรสำคัญในการประสานและเจรจาต่อรองกับแกนนำภายในพรรคและแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล มากกว่าที่อภิสิทธิ์จะเข้าไปดำเนินการเองมาตั้งแต่ต้น จนส่งผลเกิดรอยร้าวขึ้นภายในพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่พอใจการยึดอำนาจของรองนายกฯ สุเทพ ไว้เพียงผู้เดียว โดยผ่านกลุ่มการเมือง “แก๊งค์ออฟโฟร์” สายตรงของเลขาธิการพรรค ที่มักแบ่งปันผลประโยชน์ไปให้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น

ศึกหนักนายกฯ อภิสิทธิ์ต้องเผชิญเวลานี้ ไม่ได้มีแต่ทักษิณ ยังคงต้องใช้มวลชนเสื้อเป็นเครื่องมือออกมาต่อต้านรัฐบาล และต้องเพิ่มดีกรีความรุนแรงไปอีกมาก ยังมีกลุ่มสี่เหลียมอำนาจใหม่ ที่ถูกเผยโฉมหน้าว่ามีทั้งบิ๊กทหาร นักการเมือง และคนใกล้ชิดนายกฯ อภิสิทธิ์

การที่ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีชื่ออภิสิทธิ์นั้น หลายคนยังเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ดี เช่นเดียวกับที่ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เคยระบุว่า คนไทยโชคดีที่ได้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ พร้อมทั้งฝากบอกให้อดทน อดกลั้น เสียสละ ประพฤติตนเป็นแบบอย่าง และสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ดูเหมือนว่าสิ่งที่ พล.อ.เปรมฝากเอาไว้นั้นนายกฯ อภิสิทธิ์ได้ทำแล้วตลอด นับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง

หากแต่เรื่องของ “อิทธิพล” การสร้างบารมีทางการเมืองนั้น นายกฯ อภิสิทธิ์ยังต้องอาศัยเก็บสะสมชั่วโมงบินอีกยาวไกล เมื่อใดก็ตามที่อำนาจและผลประโยชน์ต้องถูกแบ่งเฉลี่ยไปให้กับใครก็ตามที่เกี่ยวข้อง แล้วโอกาสที่ใครคนใดคนหนึ่งจะกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างจริงนั้น ย่อมเป็นไปได้ยาก

แต่อย่างน้อยเขาได้พิสูจน์แล้วว่า การใช้ความอดทน ความนิ่ง ตอบคำถามที่ใช้ไหวพริบ ปฏิภาณ ทำให้สถานการณ์ที่เคยเพลี่ยงพล้ำกลับมาเป็นต่อ ยิ่งเมื่อเทียบกับทักษิณเวลานี้ ขาดความน่าเชื่อถือไปแล้ว