จุดร่วมเดียวกัน

“บลายธ์” ตุ๊กตาที่ฮิตติดใจนักสะสม ได้กลายเป็นกรณีศึกษาของการแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาสที่โดนใจ “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” ประธานกรรมการ บริษัทโตชิบา ประเทศไทย เข้าอย่างจัง

เธอมองว่า การกู้วิกฤตตุ๊กตาบลายธ์จากธุรกิจที่เกือบเจ๊ง กลายมาตุ๊กตายอดฮิต โดนใจวัยรุ่น เด็กสาว ที่ยอมควักเงินหาซื้อมาครอบครอง ด้วยราคาแสนแพง ไม่ต่างจากการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสของตู้เย็น 1 ประตู ที่โดนตู้เย็น 2 ประตูเบียดตลาดจนกลายเป็นสินค้าที่อยู่ในภาวะ “ตะวันตกดิน” ยอดขายตกลงทุกปี แต่ต่อมาก็สามารถสร้างดีมานด์ใหม่กลับเข้ามาในตลาดได้อีกครั้ง แถมยังเติบโตเติบโตท่ามกลางวิกฤต เป็นตัวเลข 5% ต่อปี

กอบกาญจน์มองว่า จุดสำคัญอยู่ที่แนวคิดและมุมมองที่ต่างออกไป แม้เศรษฐกิจหดตัว แต่หากสินค้าสามารถหามุมมองใหม่ๆ ให้กับสินค้าได้ หรือสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้สินค้ามีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โอกาสในการสร้างดีมานด์ใหม่ย่อมมีมากขึ้น

“ถ้าขายเป็นตุ๊กตาธรรมดาคงมาไม่ได้ไกลขนาดนี้ แต่บลายธ์มีทั้งเสื้อผ้า ของตกแต่ง ทำให้กลายเป็นตุ๊กตาสำหรับผู้ใหญ่ ขยายกลุ่มเป้าหมายจากเด็กครอบคลุมถึงกลุ่มวัยทำงาน เช่นเดียวกับตู้เย็น 1 ประตู จากเดิมเป็นกลุ่มครอบครัวขนาดเล็กและอยู่ในระดับล่าง แต่นำเรื่องดีไซน์ใส่เข้าไป ให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนมือจับตู้เย็น 3 สี ได้เอง ให้ตรงกับความต้องการของแต่ละคน เหมือนกับสีของตุ๊กตาบลายธ์ที่เปลี่ยนได้ตามความต้องการของเจ้าของ กลายเป็น Innovation ที่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า และตอบสนองผู้บริโภคตรงจุดได้” กอบกาญจน์ บอกถึงจุดร่วมของสองแบรนด์

การเพิ่มดีไซน์ และการปรับเปลี่ยนมือจับเอง ได้กลายเป็นจุดขายใหม่ โดยไม่ลงเล่นในสงครามราคาเหมือนที่ผ่านมา ทำให้ได้กลุ่มเป้าหมายใหม่เป็นคนรุ่นใหม่เป็นนักศึกษา คนเริ่มทำงาน ที่นิยมใช้ชีวิตแยกออกมาจากครอบครัว อาศัยอยู่ในคอนโด หรือในบ้านเดี่ยว ไม่ใหญ่มาก แต่ต้องการตกแต่งห้องให้มีความทันสมัย บ่งบอกถึงรสนิยม

“คนยุคใหม่แต่งห้องครัวมากขึ้น เพราะใช้เป็นห้องรับแขก ทำให้ตู้เย็นใหญ่เข้าไปในบ้านไม่ได้ เกิดช่องว่างและความต้องการในตลาด อีกทั้งตู้เย็น 1 ประตูหน้าตาไม่สวย ไม่มีดีไซน์ แข่งกันที่ราคาอย่างเดียว ทำให้เกิดแนวความคิดนี้เมื่อปีที่ผ่านมา เช่น สามารถเปลี่ยนมือจับได้ และปุ่มกดน้ำนอกตู้ จึงตอบโจทย์ผู้บริโภค”

โอกาสมีอยู่ทุกที่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหน เพียงแค่เราจะมองเห็นมันหรือเปล่าเท่านั้นเอง กอบกาญจน์ เชื่อว่า หากมีมุมมองที่แตกต่างจะช่วยทำให้ธุรกิจโดดเด่นขึ้นมาได้ เหมือนอย่างบลายธ์ และโตชิบาได้มองในมุมที่ต่างออกไปแต่มีจุดร่วมเดียวกัน

ยอดขายรวมของโตชิบา 4, 800 ล้านบาท (by secment)
ตู้เย็น 40%
เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน 20%
สินค้าหมวดภาพและเสียง 30%
สินค้าหมวดไอที 10%