“ทัชสกรีน” ครองเมือง

ต้องยอมรับว่ากรุงเทพฯ ในตอนนี้เต็มไปด้วยนานาผลิตภัณฑ์ “หน้าจอสัมผัส” หรือทัชสกรีน ทั้งโทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่น MP3-MP4 คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ-พกพา-พีดีเอ ตู้คีออสก์ เครื่องเล่นเกม กล้องดิจิตอล ไปจนถึงโต๊ะ และกำแพง

สิ่งที่เกิดขึ้นมองดูเหมือนทัชสกรีนกำลังเป็นมหาอำนาจที่มีอิทธิพลคลุมหัวใจคนทั้งเมืองไว้ในมือ

ก่อนจะไปรู้เรื่องราวจุดกำเนิดอิทธิพลของทัชสกรีน และหน้าจอสัมผัสนี้ถูกใช้งานอย่างไรบ้างในทุกวันนี้ คุณรู้หรือยังว่าทัชสกรีนคืออะไร

สารานุกรมออนไลน์วิกิพีเดีย ระบุว่า ทัชสกรีนคือดิสเพลย์ชนิดหนึ่งที่สามารถตรวจจับตำแหน่งและการมีอยู่ของการแตะหรือการสัมผัสพื้นที่แสดงภาพได้ บางเว็บไซต์อธิบายว่าเป็นหน้าจอที่ไวต่อแรงกดหรือการสัมผัสด้วยวัตถุใดก็ตาม มีคุณสมบัติหลักคือความสามารถในการโยน “เมาส์” ทิ้งไปจากระบบคอมพิวเตอร์ เพราะผู้ใช้สามารถโต้ตอบกับระบบผ่านหน้าจอได้โดยตรง

แค่เพียงเฉือนเมาส์ทิ้งไปได้ หน้าจอทัชสกรีนก็ถูกยกย่องว่าเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดในการป้อนข้อมูลง่ายๆ จากผู้ใช้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เพราะเหตุผลหลักคือการใช้มือแตะตัวเลือกบนหน้าจอนั้นง่ายต่อผู้ใช้มากกว่าการเลื่อนเมาส์มาคลิก ส่งให้ทัชสกรีนกลายเป็นฟังก์ชันพื้นฐานของพีดีเอ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์เนวิเกเตอร์ในที่สุด

จุดกำเนิดเทคโนโลยีทัชสกรีนนั้นไม่มีการบันทึกไว้แน่ชัด วิกิพีเดียระบุว่า เทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงครึ่งหลังของยุคปี 60 เร็วกว่าข้อมูลจากเว็บไซต์ about.com ที่ระบุว่าเซ็นเซอร์ทัชสกรีนตัวแรกถือกำเนิดขึ้นในช่วงปี 1971 และถูกจดสิทธิบัตรในนามมูลนิธิเพื่อการวิจัยมหาวิทยาลัยเคนตักกี้

สิ่งเดียวที่แน่นอนคือเทคโนโลยีทัชสกรีนในช่วงปี 1980 นั้นรองรับการสัมผัสหน้าจอเพียงจุดเดียวเท่านั้น และเน้นพัฒนาในรูปแบบระบบตู้คีออสก์ในร้านค้าปลีก ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว และตู้เอทีเอ็ม โดย HP-150 คือหนึ่งในคอมพิวเตอร์ทัชสกรีนเชิงพาณิชย์รุ่นแรกของโลกซึ่งวางตลาดในปี 1983

ตั้งแต่นั้นมา ทัชสกรีนถูกนำไปพัฒนาเป็นแค็ตตาล็อกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ระบบอีคอมเมิร์ซในร้านค้า ระบบเล่นเกม ระบบทำธุรกรรมการเงิน ระบบจำหน่ายตั๋ว ระบบฝึกสอนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และที่ได้รับความนิยมมากคือในอุตสาหกรรมหนัก เช่นในระบบห้องควบคุมอัตโนมัติหรือ Room Automation หรือแม้แต่หน้าจอแสดงข้อมูลชิ้นงานในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงสถานที่ทุกแห่งที่ไม่สะดวกจะนำเมาส์และคีย์บอร์ดเข้าไปใช้งาน

เชื่อว่าทัชสกรีนกลายเป็นเรื่องแพร่หลายที่สุดเมื่อทัชสกรีนเริ่มขยายขอบเขตเข้าสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคหลากหลายค่าย เช่น แอปเปิล ซัมซุง แอลจี แบล็กเบอรี่ ฯลฯ เพราะความยืดหยุ่นในการออกแบบปุ่มกดที่ผู้ผลิตจะสามารถเขียนโปรแกรมให้ปุ่มกดบนหน้าจอทำงานใดก็ได้ หรือมีจำนวนมากเท่าใดก็ได้โดยไม่กระทบดีไซน์ของตัวเครื่อง แผงปุ่มกดโทรศัพท์ในยุคนี้จึงถูกโยนทิ้งไป และซอฟต์แวร์ปุ่มกดโทรศัพท์บนหน้าจอทัชสกรีนเข้ามาแทนที่

การสำรวจพบว่า ยอดขายโทรศัพท์มือถือทัชสกรีนอาจสูงถึง 21 ล้านเครื่องในปี 2012 ตัวเลขนี้มีโอกาสเป็นไปได้สูงเนื่องจากค่ายผู้ผลิตต่างแข่งขันกันเอาใจผู้บริโภคด้วยการนำเทคโนโลยีสัมผัสหน้าจอมาประยุกต์เป็นนานาแอพพลิเคชั่น เช่น ฟังก์ชันการขยายรูปภาพด้วยนิ้วมือสองนิ้วของแอปเปิล ที่นำเอาเทคโนโลยีมัลติทัชของบริษัทฟิงเกอร์เวิร์คส์ซึ่งบริษัทซื้อไปในปี 2006 มาประยุกต์ใช้ หรือโทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุดของคาสิโอ CA001 ที่ถูกเรียกว่าโทรศัพท์มือถือเครื่องดนตรี เนื่องจากมีฟังก์ชัน “Touch Session” ซึ่งพัฒนาโดยผู้ผลิตเครื่องดนตรีรายใหญ่อย่างยามาฮ่า ให้ผู้ใช้กดหน้าจอเพื่อเดี่ยวเปียโน เคาะหน้าจอเป็นจังหวะเพื่อตีกลองชุด สามารถปัดหน้าจอเพื่อดีดกีตาร์ไฟฟ้า รวมถึงเขย่าโทรศัพท์เพื่อเล่นเครื่องให้จังหวะนาม Maracus ได้อย่างสนุกสนาน

กำเนิดโต๊ะ – กำแพงระบบสัมผัส

นอกจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค เทคโนโลยีทัชสกรีนในวันนี้ถูกนำมาคิดนอกกรอบแล้วสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้อยู่ในรูปคอมพิวเตอร์ด้วย บางค่ายนำไปประยุกต์เป็นโต๊ะกาแฟในชุดรับแขก เคาน์เตอร์ในผับบาร์ร้านอาหาร หรือแม้แต่พื้นและกำแพงระบบสัมผัส บนความเชื่อว่านอกจากจะโดนใจผู้บริโภคทุกคนแล้ว นี่คือหนึ่งในสุดยอดสื่อที่สามารถทำเงินมหาศาลในอนาคต

ยกตัวอย่างลูกค้าในร้านอาหารจะสามารถเพลิดเพลินกับโต๊ะวางเครื่องดื่มที่แปลงร่างเป็นกระดานเล่นเกมออนไลน์ได้ ลูกค้าสามารถสัมผัสจอเพื่อสั่งเครื่องดื่มแทนที่จะชะเง้อมองหาบริกรจนเมื่อยคอ ที่สำคัญ ลูกค้าอาจจะสามารถส่งข้อความไปทำความรู้จักกับสาวโต๊ะข้างๆ ซึ่งกำลังเพลินกับการซื้อสินค้าออนไลน์ของร้านด้วยการสัมผัสโต๊ะ

ไม่ใช่ว่าจะมีเพียงแบรนด์ใหญ่โตอย่างไมโครซอฟท์ เอชพี หรือฟิลิปส์ ที่มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีโต๊ะอัจฉริยะอินเตอร์แอคทีฟได้ ผู้ผลิตคนไทยอย่างเอเชียบิสเน็ตเวิร์ค (AsiaBiz Networks) เองก็มีการพัฒนาโต๊ะอัจฉริยะ และพร้อมรับสั่งทำตามรูปแบบที่ต้องการแล้วตั้งแต่ช่วงกลางปี 2007

นอกจากผับบาร์ โรงแรม ร้านอาหาร โต๊ะอัจฉริยะยังถูกนำไปสาธิตว่าสามารถใช้ในงานแสดงสินค้าหรืออีเวนต์เพื่อเรียกความสนใจจากผู้ชมงานได้ดี เช่นใน CeBIT 2009 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เช่นเดียวกับพื้นและกำแพงระบบสัมผัสที่ห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ เริ่มนำมาใช้เป็นลูกเล่นบ้างแล้ว

พื้นและกำแพงอัจฉริยะเกิดขึ้นจากการฉายภาพจากโปรเจกเตอร์หรือเครื่องขยายภาพลงบนพื้นหรือกำแพง ภาพที่ฉายมักเป็นภาพเคลื่อนไหวที่สามารถโต้ตอบกับผู้ผ่านไปมาบริเวณนั้นได้ เช่น ภาพลูกบอลที่สามารถกระเด้งไปอีกทางหากมีการชูมือไปแตะที่ภาพลูกบอลนั้น หรือภาพวงน้ำที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการยกเท้าไปเหยียบภาพน้ำที่กำลังฉายอยู่

ไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์ทัชสกรีนสายพันธุ์ใหม่ชนิดใดจะเกิดขึ้นอีกในโลกอนาคต แต่มั่นใจได้เลยว่าเทคโนโลยีทัชสกรีนจะอยู่ครองโลกไปอีกนานแน่นอน