เติมศักดิ์ จารุปาน คนสื่อ…ฝีปากกล้า

ถ้าเป็นคอข่าวการเมืองแบบเจาะลึกแล้ว ทุกเย็นแฟนๆ เอเอสทีวีต้องไม่พลาด “เติมศักดิ์ จารุปาน” คนข่าวเอเอสทีวี หนึ่งในพิธีกรข่าวตัวยืนที่สามารถยึดคอนเซ็ปต์การวิเคราะห์ข่าวได้ลึกซึ้งและคมคาย

ในแวดวงคนข่าวยุคทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี สื่อมวลชนส่วนใหญ่ถูกครอบงำ ไม่กล้าวิพากษ์ ขุดคุ้ยประเด็นข่าวที่ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ หรือกระทบความรู้สึกของบรรดานักการเมืองและรัฐบาล แต่สำหรับคนข่าวอย่าง “เติมศักดิ์ จารุปาน” ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะตั้งแต่ทำงานเป็นผู้จัดรายการวิทยุ ไอเอ็นเอ็น ผู้ประกาศข่าวไอทีวี กระทั่งปัจจุบันที่เอเอสทีวี เติมศักดิ์มีจุดยืนชัดเจน อยู่คนละข้างกับระบอบทักษิณ กล้าวิพากษ์ ตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา

เติมศักดิ์ย้อนเรื่องราวให้ฟังว่า หลังยุคอื้อฉาวกบฏนักข่าวไอทีวีรวมตัวต่อต้านการเข้ามาแทรกแซงการทำงานของกลุ่มชิน คอร์ป อันมีเจ้าของตัวจริงทักษิณ ชินวัตร เขาได้รับการชักชวนของวสันต์ ภัยหลีกลี้ อดีตผู้บริหารฝ่ายข่าวช่อง 7 สี ก่อนย้ายมาทำงานที่ไอทีวี ให้ไปเป็นผู้ประกาศข่าวภาคค่ำและภาคเช้าของไอทีวี โดยรับงานเป็นผู้จัดรายการวิทยุ ค่ายไอเอ็นเอ็น ควบคู่กันไป จนกระทั่งวันหนึ่งถูกเรียกเข้าไปตักเตือนหลายครั้ง แต่ก็ไม่ทำให้เติมศักดิ์เปลี่ยนไป

“ตอนนั้น นอกจากเป็นผู้ประกาศข่าวไอทีวีแล้ว ยังทำงานเป็นผู้จัดรายการข่าว ยามเช้า อยู่ที่คลื่น FM99.5 ของค่ายไอเอ็นเอ็น ร่วมกับคุณกรุณา บัวคำศรี สัมภาษณ์คุณประสงค์ สุ่นศิริ กรณี ปปง. ตรวจสอบทรัพย์สินสื่อมวลชน ทำให้เจ้าของตัวจริงของไอทีวีในขณะนั้น (ทักษิณ ชินวัตร) ไม่พอใจ ส่งสัญญาณผ่านผู้ใหญ่เรียกไปเตือน

แต่ที่คาดว่าทำให้ผู้บริหารกลุ่มชินฯ และทักษิณไม่พอใจหนักขึ้น ก็คือ กรณีค่ายเอไอเอสไปตั้งเสาสัญญาณในที่ดิน สปก. ซึ่งเติมศักดิ์ก็เกาะติดประเด็นข่าวไปสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทไอทีวีเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น แต่อาจเป็นเพราะคำถามและคอมเมนต์บางส่วนเลยทำให้ผู้ใหญ่ไม่แฮปปี้”

เติมศักดิ์บอกถึงชนวนเหตุความไม่พ่อใจว่า “ตอนนั้นได้ยินมาว่า ผู้ใหญ่ในทำเนียบฟังรายการวิทยุที่จัดแล้วเค้าไม่แฮปปี้ อาจเป็นเพราะ เราชอบคอมเมนต์ บางทีก็ชอบอ่านอ้างอิงบทความ และเชิญคนที่เค้าไม่พึงปรารถนา เช่น คุณประสงค์ สุ่นศิริ ซึ่งตอนนั้นเป็นคนในข่าวคนหนึ่งที่ถูกพาดพิง ซึ่งคุณทักษิณใช้คำว่าปิศาจคาบไป้ป์ จำได้ว่าเช้าวันนั้นหลังจากที่ผมสัมภาษณ์ออกอากาศวิทยุเนชั่น ซึ่งตอนนั้นมีสรยุทธและกนกจัดรายการ ก็สัมภาษณ์ต่อจากผมแล้วบังเอิญไฟดับ”

เขายอมรับว่าการจัดรายการวิทยุเวลานั้นมีกรอบมากเกินไปเลยต้องคอมเมนต์เวลาจัดรายการ บางครั้งก็นำบทความจากสื่อ เช่น บทความของคุณเปลว สีเงินมาอ่านบ้าง จนทำให้เกิดความไม่พอใจแบบสะสมเรื่อยมา จนในที่สุดทางไอทีวีตัดสินใจไม่ต่อสัญญาจ้าง ซึ่งเป็นการจ้างงานแบบปีต่อปี รวมระยะเวลาทำงานเป็นผู้ประกาศข่าวในไอทีวีได้ประมาณ 4 ปี

ต่อมา เขาได้เข้ามาเป็นผู้ประกาศข่าว พิธีกร ที่เอเอสทีวี ตามคำชวนของเพื่อนๆ และรุ่นพี่ ก็ทราบว่ารัฐบาลและคนใกล้ชิดทักษิณเองก็ไม่ค่อยปลื้มสักเท่าไหร่ เพราะเขายังวิจารณ์ทักษิณเหมือนเดิม

“ในเมื่อเขาทำไม่ถูกต้อง ก็ต้องพูด และตลอดมาผมรู้สึกว่า เขาจะครอบงำทุกอย่าง โดยใช้เงินซื้อ แต่ก็แปลกใจเหมือนกัน ทั้งที่เขาไม่แฮปปี้ แต่ก็ทำงานที่ไอทีวีได้นานตั้ง 4 ปี แต่เมื่อช่วงปี 2548 เอเอสทีวียังไม่ค่อยวิจารณ์ทักษิณมากนัก ผมก็ค่อนข้างเกรงใจ เดี๋ยวจะไปเป็นตัวป่วนอีกหรือเปล่า เมื่อคุณสนธิและผู้ใหญ่เองก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะท่านเป็นคนหนักแน่นและเคารพความเป็นสื่อมวลชนมาก แม้ว่ารัฐบาลทักษิณในช่วงนั้นไม่ค่อยแฮปปี้กับผมสักเท่าไหร่ แต่ก็ได้ทำงานที่เอเอสทีวีอย่างเป็นอิสระ”

เปรียบเทียบงานวิทยุกับทีวี เติมศักดิ์ยอมรับว่า งานจัดรายการวิทยุค่อนข้างแหลมคมกว่างานผู้ประกาศข่าวภาคค่ำและภาคเช้าของไอทีวี ซึ่งไม่ค่อยได้เข้าไปยุ่งเนื้อหาข่าวมากนัก ขณะที่รายการวิทยุต้องมีการสัมภาษณ์ตั้งคำถาม วิเคราะห์ และแสดงความคิดเห็นในประเด็นข่าวบ้าง

เมื่อถามถึงสิ่งหล่อหลอมจุดยืนและการต่อสู้ในวงการสื่อมาได้ทุกวันนี้ เติมศักดิ์ บอกว่า ส่วนหนึ่งเพราะมีผู้ใหญ่ในวงการที่เข้าใจสไตล์ ความคิดของเขา แต่ส่วนที่เกิดขึ้นมาจากตัวเราเอง เมื่อสมัยเป็นเด็กได้เห็นคนทำงานแทบทุกวงการ ทั้งเพลง หนัง หนังสือ สื่อมวลชน ส่วนใหญ่มีวุฒิภาวะมาก และทำงานด้วยความตั้งใจ ทุ่มเท พอเติบโตขึ้นก็อยากทำงานให้เต็มที่อย่างจริงใจและดีที่สุด

“ตอนนั้นยึดถือมาโดยตลอดว่า เมื่อมาทำงานไม่ว่าอาชีพอะไรก็ตาม จะต้องทำงานด้วยรักและจริงใจ ทำอย่างละเมียดละไม เหมือนกับที่เราเคยได้รับรู้ในยุคสมัยก่อนที่ผู้ใหญ่เกือบทุกวงการเป็น เช่น ถ้าเป็นหมอก็ต้องไม่เลี้ยงไข้ผู้ป่วย ถ้าเป็นสื่อมวลชนก็ต้องให้ความรู้ข้อเท็จจริงแก่ประชาชน โดยไม่ได้ให้อย่างเดียว แต่ก็ต้องหาความรู้ควบคู่กันไป” นั่นเป็นอุดมการณ์ในเส้นทางอาชีพที่เขายึดเป็นหลักคิดมาโดยตลอด

ขณะที่แรงบันดาลใจในอาชีพกลับเป็นสื่อผู้จัดการ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ที่เติมศักดิ์บอกว่า “แตกต่างไม่เหมือนใคร มีทั้งการ์ตูนล้อการเมือง บัญชา-คามิน ที่สนุก และบทความนักวิชาการชื่อดังที่น่าติดตาม
อาจารย์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อาจารย์ เกษียร เตชะพีระ คำนูน สิทธิสมาน จึงเป็นสื่อที่เปรียบเสมือนแหล่งสั่งสมทางปัญญา และให้ความสนุกอีกสื่อหนึ่งของผม ที่ติดตามอ่านมาตั้งแต่วัยรุ่นเรียนหนังสือที่ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผมให้ทำงานในเวลาต่อมา” กระทั่งวันหนึ่งเขาได้กลายมาเป็นคนทำสื่ออย่างเต็มตัว ยึดการให้ปัญญา ความรู้แก่ประชาชนอย่างน่าติดตาม

ทุกๆ วันก่อนจัดรายการเล่าข่าว News Hours ทางเอเอสทีวี ช่วงเย็นๆ เติมศักดิ์จะต้องอ่านหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ เว็บไซต์ผู้จัดการ หนังสือพ็อกเกตบุ๊กเล่มดีๆ เพื่อค้นคว้าหาข้อมูลประกอบข่าว คัดเลือกบทความของคอลัมนิสต์โดนๆ มาเล่าให้แฟนรายการฟัง กลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดรายการได้เป็นอย่างดี เพื่อให้สมกับเป็น “คนสื่อคุณภาพ ฝีปากกล้า” ของค่ายเอเอสทีวี…ทีวีของประชาชนได้อย่างเต็มภาคภูมิ