News wars Episode II

สงครามข่าวรอบใหม่ เป็นศึกระหว่างช่อง 3 และช่อง 7 มวยคู่เอก ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนของ สงครามข่าวรอบใหม่ เปลี่ยนจาก “การเล่าข่าว” ที่ผู้ชมคุ้นเคยมานาน 6 ปี มาสู่การ Reality News Show ที่ค่าย ASTV เคยทำสำเร็จมาแล้ว ในรูปแบบ “เรียลลิตี้ข่าวการเมือง” จากการถ่ายทอดการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สร้างแฟนคลับมากมาย ติดตามชมรายการตลอด 24 ชั่วโมง จนกลายเป็นสูตรสำเร็จที่เวลานี้ฟรีทีวีต้องเดินตาม

การสู้รบระหว่างช่อง 3 และช่อง 7 ในช่วงข่าวสี่ทุ่มครึ่ง ได้นำไปสู่การนำเสนอข่าวในรูปแบบของ Reality News Show ที่ทั้งสองค่ายต้องการสร้างความแตกต่าง ฉีกรายการเล่าข่าวที่คนดูเริ่มเบื่อ และสกู๊ปข่าวค้นหาความจริงที่ไม่น่าตื่นเต้นให้กับคนดูยุคนี้อีกแล้ว ต้องเสริมความเป็น Reality ข่าว เพื่อสร้างอารมณ์ร่วมให้กับคนดู ได้สุขและเศร้าไปกับข่าว ซึ่งทั้งสองช่องเชื่อว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของสงครามข่าวรอบนี้

ประเด็นข่าวการตามหาพ่อชาวญี่ปุ่นของเด็กชาย เคโงะ ที่ถูกเปิดประเด็นในช่วงสี่ทุ่มครึ่ง ด้วยรูปแบบนำเสนอในรูปแบบเรียลลิตี้ นิวส์โชว์ สร้างให้กับคนดูข่าว ร่วมลุ้น ร่วมเห็นใจ ไปกับชีวิตเล็กๆ ของเด็กลูกครึ่งอย่าง เคโงะ โด่งดังชั่วข้ามคืน ที่เป็นกระแสข่าวที่มีผู้เกี่ยวข้องระดับประเทศลงมาเกี่ยวข้อง และชีวิตของเคโงะถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตการ์ตูน

รายงาน ”ข่าวตู้คอนเทนเนอร์ปริศนา กลางอ่าวไทย ข่าวการตามหานักบิน ที่ข่าว3 มิติทำขึ้น และ ”ประเด็นเด็ด 7 สี” กับข่าวเปิดโปงกระบวนการฟอกรถ และเปิดใจขบวนการค้าแรงงาน คือตัวอย่างของเรียลลิตี้ นิวส์ ของทั้งสองค่าย ที่สร้างปรากฏการณ์ขึ้นกับข่าวทีวีของไทย

นี่คือปรากฏการณ์ของของสงครามข่าวรอบใหม่ ที่มีช่อง 3 และช่อง 7 ไล่บี้กันทุกช่วงเวลา ตาต่อตาฟันต่อฟัน เป็นตัวจุดกระแสให้กับสงครามข่าวรอบใหม่ ที่ทำให้สังคมไทยได้เรียนรู้กับความหมายของ “เรียลลิตี้ข่าว” อยู่ในขณะนี้

รายการข่าว (ยกเว้นข่าวเบรก/ข่าวต้นชั่วโมง) ที่เรตติ้งสูงสุด 10 อันดับแรก ณ ช่วงเดือนพฤษภาคม 2552 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมือง

รายการ ช่อง เรตติ้ง สัดส่วนผู้ชม อัตราโฆษณาต่อนาที (บาท)
———————————————————————————————————–
1. ข่าว 20.00 น. 7 9.8 41% 330,000
2. ข่าวภาคค่ำ 19.40 น. 7 8 33% 330,000
3. ข่าว 3 มิติ 3 7.5 35% 260,000
4. ข่าว 20.00 น. 3 6 25% 330,000
5. ประเด็นเด็ด 7 สี 7 4.7 20% 300,000
6. เรื่องเล่าเช้านี้ 3 4.3 50% 175,000
7. เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ 3 4.3 36% 230,000
8. เรื่องเด่นเย็นนี้ 3 3.1 27% 175,000
9. เที่ยงวันทันเหตุการณ์ 3 3 26% 120,000
10. ก๊วนข่าวเช้าวันหยุด 3 3 43% 150,000
———————————————————————————————-
ที่มา : POSITIONING รวบรวมจากข้อมูล Nielsen

ช่อง 7 ยังมีมีเรตติ้งรายการข่าวช่วงหลักๆ สูงกว่าช่องอื่น ขณะที่รายการข่าวประเภทสืบสวนเจาะลึก และการรายงานที่เป็น Reality News Report อย่างข่าว 3 มิติ และประเด็นเด็ด 7 สี ได้เรตติ้งแรง และเรตโฆษณาที่สูง แม้ว่าจะเพิ่งเปิดตัวมาไม่นาน เมื่อเทียบกับรายการคุยข่าวปกติ

Timeline จากคุยข่าวถึง Reality News

ปี 2528 ยุคเปลี่ยนโฉมผู้ประกาศข่าวต้องลงพื้นที่
“สมเกียรติ อ่อนวิมล” ก่อตั้งบริษัทแปซิฟิค อินเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด ร่วมกับ “ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา” พร้อมกับปลุกกระแสผู้ประกาศข่าวในลุคใหม่ที่ไปทำข่าวในพื้นที่ พร้อมเสนอเนื้อหาข่าวอื่นๆ นอกเหนือจากข่าวในพระราชสำนัก และข่าวประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล เช่น นิรมล เมธีสุวกุล ยุพา เพชรฤทธิ์ นอกเหนือจากผู้ประกาศรุ่นใหญ่ที่ดูมีความมั่นใจและมีสีสันในการอ่านข่าวมากขึ้นอย่าง “กรรณิกา ธรรมเกษร” และการรายงานข่าวพยากรณ์อากาศที่น่าชมมากขึ้นจาก “วิทวัส สุนทรวิเนตร์” ผ่านช่องทางช่อง 9 ในยุคนั้น

ปี 2539 “ไอทีวี” ปลุกกระแสข่าว “ร้อน” ผู้ประกาศ “แรง”
กลุ่มเนชั่น เข้าร่วมทุนกับไทยพาณิชย์ และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เปิดสถานี “ไอทีวี” เน้นนำเสนอรายการข่าว สาระ สถานการณ์ปัจจุบัน โดยเน้นสร้างพิธีกรข่าวรุ่นใหม่ ที่มี “สุทธิชัย หยุ่น” เป็นผู้ติวเข้ม เจ้าของต้นตำรับคำลงท้ายเสียงยาวๆ ว่า “ครับ…” โดยมีผู้ประกาศข่าวรุ่นแรกที่ยังคงได้เรตติ้งผู้ชมปัจจุบัน คือ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” “กิตติ สิงหาปัด” “สายสวรรค์ ขยันยิ่ง” โดยเฉพาะ “สรยุทธ” ที่ได้ต้นแบบจาก “สุทธิชัย” อย่างเต็มตัวในรูปแบบพิธีกรข่าวที่ถามแหล่งข่าวผู้ร่วมรายการอย่างตรงไปตรงมาและดุดัน ต่างจากการสัมภาษณ์ในอดีตอย่างสิ้นเชิง

ปี 2546 เวลาเช้า คุยข่าว
ช่อง 3 เริ่มทำรายการข่าวเช้า สไตล์คุยข่าวในรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” โดยมี “สรยุทธ” เป็นพิธีกรหลัก จุดกระแสให้รายการคุยข่าวได้รับความนิยมมากขึ้น

ปี 2547 เริ่ม “กระแสคุยข่าว”
รูปแบบการคุยข่าว ได้รับความนิยมมากขึ้นภายใต้การร่วมผลิตกับกลุ่มเนชั่น ชื่อรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ช่อง 9 โดยพิธีกรคู่คือ “สรยุทธ และกนก รัตน์วงศ์สกุล”

ปี 2548 ช่อง 3 เรตติ้งข่าวกระฉูด
ช่อง 3 เริ่มโปรโมตแบรนด์ “ครอบครัวข่าว” เน้นคอนเซ็ปต์การคุยข่าว ต่อเนื่องจากรายการข่าวเช้าจนถึง “เรื่องเด่นเย็นนี้” ท่ามกลางความต้องการบริโภคข่าวของผู้ชมมากขึ้น เพราะสถานการณ์การเมืองที่เข้มข้น และขัดแย้ง

ปี 2550 ไอทีวีจอดับ พิธีกรข่าวข้ามช่อง
เดือนมีนาคม 2550 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี บอกเลิกสัญญาไอทีวี และแปรสภาพไอทีวีเป็นทีไอทีวี ก่อนที่จะมาเป็นทีวีสาธารณะ “TPBS” ทำให้พิธีกรที่เติบโตมาตั้งแต่ไอทีวียุคแรกย้ายไปสังกัดช่องต่างๆ

ปี 2551 เวลาเน่า สร้างรายได้ ดูดพิธีกรข่าว
ช่อง 7 เริ่มรายการ “จมูกมด” ช่วงเช้า ขณะนี้ช่อง 3 เริ่มขายเวลา 4 ทุ่มครึ่ง ด้วยรายการข่าว “3 มิติ” พร้อมๆ กับการดึงพิธีกรข่าวจำนวนมากเข้ามาอยู่ในสังกัดช่อง 3

ปี 2552 Reality News
-ช่อง 7 เริ่มแข่งรายการข่าว 4 ทุ่มครึ่ง และปรับโฉมรายการข่าวเช้า เช่นเดียวกับช่อง 9 ที่เริ่มได้เม็ดเงินโฆษณาจากข่าวเช้ามากขึ้น
-“พิธีกรข่าว” ที่คุ้นหน้าและดังไม่เพียงพอสำหรับการแข่งขันในปัจจุบัน แต่ละช่องพัฒนาเนื้อหาของรายการข่าวในรูปแบบ Investigative News มากขึ้น พยายามหาประเด็นใหม่ๆ ในเชิงลึกและตามติดต่อเนื่อง โดยการรายงานข่าวจากผู้สื่อข่าวภาคสนามที่เข้มข้น แบบ Reality News Report มากขึ้น