ศึก “เรียลลิตี้ นิวส์” สงครามข่าวรอบใหม่ ช่อง 3 ปะทะช่อง 7

ช่อง 3 และช่อง 7 คู่แข่งตลอดกาล กำลังเปิดศึกรอบใหม่ด้วย “รายการข่าว” เป็นมวยคู่เอกที่ยืนซดหมัดกันมันหยดติ๋ง ประชันกันชนิดนาทีต่อนาที ประเด็นต่อประเด็น และพิธีกรตัวต่อตัว ตั้งแต่เช้าจนดึก เกิดปรากฏการณ์รายงานข่าวแบบ Reality News Show ในข่าวดึก และ Variety News Show ในข่าวเช้า แทน “การเล่าข่าว” อย่างที่ผู้ชมคุ้นเคยมานานกว่า 6 ปี

ช่อง 3 นั้นมี “ครอบครัวข่าว” เป็นขีปานาวุธ ทะลุทะลวงใจคนดู เปลี่ยนจากเวลาเน่ากลายมาเป็นเวลาทำเงิน แถมยังไล่แซงช่อง 7 ช่วงชิงแชมโฆษณาสูงสุดมาครอง ทำเอาช่อง 7 ต้องปรับเกมรบ ประกาศศึกตาต่อตาฟันต่อฟัน โดยมี “มีเดีย ออฟ มีเดียส์” เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน เปิดศึกข่าวเช้ายันดึก ชนิดใครดีใครอยู่
ศึกรอบนี้ของช่อง 3 และ 7 ไม่ธรรมดา เพราะไม่เพียงแต่เม็ดเงินโฆษณาเท่านั้นที่ต้องการ แต่ยังหมายถึงศักดิ์ศรีของช่อง เพราะ “ข่าว” ถือเป็นรายการทีวีที่สร้างแบรนด์ และชื่อเสียงให้สถานีได้ในระยะยาวมากกว่ารายการประเภทอื่น

หลังจากช่อง 3 ประสบความสำเร็จจากครอบครัวข่าว จนกลายเป็นตำนานความสำเร็จ จากการนำเวลาไม่ทำเงิน มาปั้นให้เป็นรายการข่าว สร้างเรตติ้งพุ่งสูงขึ้น ยึดกลุ่มคนดู จนกลายเป็นเวลาทำเงินสร้างรายได้รองจากเวลาละคร

“ครอบครัวข่าว” คืออาวุธสำคัญใช้ในการยึดหัวหาดเวลาข่าว เพราะเป็นการรวมพลังระหว่างผู้ผลิตรายการข่าว ที่มี บีอีซีเทโร และ เซิร์ชเอ็นเทอร์เทนเม้นท์ และทีมข่าวช่อง 3 เอง ร่วมระดมความคิด นำการตลาดเป็นส่วนผสม ใช้ถอดรหัสคนดู และเอเยนซี่โฆษณา ดึงพิธีกรข่าวระดับหัวกะทิ สรยุทธ สุทัศนะจินดา และกิตติ สิงหาปัด รวมถึงพิธีกรข่าวรุ่นใหม่ๆ ไฟแรง มาแรงเสริมทัพตลอด โดยช่อง 3 สนับสนุนลงทุนทั้งสถานี อุปกรณ์เครื่องมือ ส่งผลให้รายการข่าวช่อง 3 ถูกพัฒนาต่อเนื่อง

ไฟสงครามรายการข่าวครั้งใหม่เกิดขึ้นเมื่อสิงหาคม 2551 เมื่อช่อง 3 เฉือนเวลาสำหรับ ”วาไรตี้บันเทิง” ทุกวันเว้นวันอังคาร มาเป็นเวลาสำหรับ ”รายการข่าวช่วง 4 ทุ่มครึ่ง” ภายใต้ชื่อรายการ ”ข่าว 3 มิติ” โดยมี ”กิตติ สิงหาปัด” เป็นพิธีกรข่าว และทีมข่าวเจาะของอดีตสถานีโทรทัศน์ไอทีวี

ปรากฏว่า ”ข่าว 3 มิติ” ได้เรตติ้งดีวันดีคืน ณ ต้นเดือนพฤษภาคมได้สัดส่วนผู้ชมถึง 34% เรตติ้ง 5%

“สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) บอกว่า ก่อนตัดสินใจวางผังรายการข่าว 3 มิติ ช่อง 3 ได้ศึกษาพฤติกรรมผู้ชมอย่างละเอียด โดยเฉพาะกลุ่มคนเมืองที่ส่วนใหญ่ช่วงเย็นยังไม่ได้ดูข่าว เพราะอยู่ระหว่างเดินทาง ขณะที่รายการข่าวส่วนใหญ่จบช่วง 1-2 ทุ่มครึ่ง หลังกลับบ้านผู้ชมดูละคร ได้พักผ่อนหย่อนใจ ประมาณ 2 ชั่วโมง การมีรายการข่าวในช่วงนี้จึงเป็นช่องว่างการตลาดที่ช่อง 3 มั่นใจว่าจะได้คนดูและรายได้

และเมื่อได้คุยคอนเซ็ปต์กับทีมผู้ผลิตในนามบริษัทฮอตนิวส์ ของ ”กิตติ” และความเป็น ”พิธีกรข่าว”ของ ”กิตติ” ที่มีบุคลิกชัดเจน มีแฟนผู้ชมตั้งแต่สมัยไอทีวี ช่อง 3 จึงเห็นว่าเป็นรูปแบบที่ลงตัวและเหมาะสมกับเวลา 4 ทุ่มครึ่งซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนคือส่วนใหญ่ 40 ปีขึ้นไป

”สุรินทร์”บอกว่า ในช่วงแรกยังไม่ได้คาดหวังเรตติ้งสูงนัก หากเทียบกับรายการประเภทบันเทิงวาไรตี้ที่อยู่ในผังเดิม ซึ่งเฉลี่ยมีเรตติ้งตั้งแต่ 3-7 แต่ ”ข่าว 3 มิติ”ได้ทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 5 หากนับเฉพาะในกทม.และหัวเมืองอยู่ที่ 7 จึงถือว่าน่าพอใจอย่างมาก และสำหรับ ”กิตติ” เขาบอกว่าผลตอบรับนี้ดีกว่าที่เขาคาดไว้อย่างมาก

ความสำเร็จของ “ข่าว3 มิติ”ในมุมมองของ “สุรินทร์” คือมาจากคอนเทนต์ เพราะในที่สุดเรื่องทุนหากใครมีก็สามารถทุ่มซื้อเทคโนโลยีและพิธีกรได้ แต่หากทำเนื้อหาข่าวออกมาไม่ดีก็ไม่สำเร็จ

ช่อง 7 คู่แข่งตลอดกาล เมื่อโดนช่อง 3 แย่งชิงเม็ดเงินโฆษณา และเรตติ้งคนดูจนแซงหน้าไปได้ ก็อยู่เฉยไม่ได้ เมื่อมีการปรับองค์กรภายใน กฤษณ์ รัตนรักษ์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ได้เข้ามากุมบังเหียนการบริหารงาน ได้ปรับผังรายการใหม่ ซึ่งเป็นการท้ารบกับช่อง 3 โดยเฉพาะ

นอกจากโยกรายการชิงร้อยชิงล้าน ชนกับตีสิบของช่อง 3 ในวันอังคารแล้ว ยังได้ตัดสินเขย่าเวลาช่วงข่าวใหม่ โดยมอบหมายให้ “มีเดีย ออฟ มีเดียส์” บริษัทลูกของช่อง 7 ที่มี “ชาลอต โทณวณิก” อดีตมือบริหารจากแบงก์กรุงศรีอยุธยามาเป็นซีอีโอ เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน เพื่อมุ่งท้ารบกับช่อง 3 โดยตรง

ในส่วนของมีเดียฯ นั้น ชาลอตได้เตรียมพร้อม ด้วยการนำทีมงานที่เป็นอดีตคนข่าวไอทีวีมาเป็นผู้ผลิตรายการข่าว โดยประเดิมด้วยรายการ “ข่าวเจาะเกาะติด” ช่วงเวลาเที่ยงคืน เป็นรายการข่าวแรกที่ช่อง 7 เปิดทางให้แสดงฝีมือ

ด้วยรูปแบบรายการข่าวเจาะเกาะติด ที่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการนำเสนอขาวแบบเดิมๆ มีการลงพื้นทำข่าวมากขึ้น แม้เนื้อหาจะไม่เข้มข้นมาก และยังไม่สามารถคว่ำรายการข่าวภาคดึกจากช่อง 3 แต่ก็สร้างความแตกต่างจากรูปแบบเสนอข่าวช่อง 7 ที่เป็นแค่การรายงานข่าว ทำให้รายการเจาะเกาะติด “สอบผ่าน” จากฝ่ายบริหาร ที่ได้อนุมัติเวลารายการข่าวในช่วงสี่ทุ่มครึ่ง ให้กับมีเดียฯ

ช่อง 7 ชนช่อง 3 ปลุก“ข่าวดึก

ช่วงเวลาสี่ทุ่มครึ่งนั้น นับเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายของทั้งมีเดียฯ และช่อง 7 มากที่สุด เพราะต้องประกบสู้กับ “ข่าว 3 มิติ” ของช่อง 3 ที่มีกิตติ สิงหาปัด เป็นเจ้าของรายการ ด้วยรูปแบบรายการข่าวเจาะลึก ในเชิงสกู๊ปแบบเรียลลิตี้ ตอบโจทย์คนดูที่เบื่อรายการเล่าข่าว เรตติ้งคนดูรายการนี้พุ่งสูงจนเป็นรายการข่าวยอดฮิตรายการหนึ่ง

การมาของประเด็นเด็ดเจ็ดสี ที่มีเดียฯเป็นผู้ผลิต ประกบกับข่าว 3 มิติ และออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ช่วงข่าวสี่ทุ่มครึ่งจึงเป็นช่วงเวลาแห่งสงครามข่าวที่ถูกจับตามองมากที่สุด มีเดียฯ ได้โยก “นารากร ติยายน” อดีตพิธีกรข่าวไอทีวี จากรายการข่าวเจาะเกาะติด ประกบคู่ชน กิตติ สิงหาปัด

ถ้าเป็นมวยต้องบอกว่า มวยถูกคู่ ทั้งกิตติและนารากร ต่างก็เคยเป็นศิษย์เก่าไอทีวี และเคยทำรายการ Hot News ถือเป็นรายการข่าวดังที่สุดของไอทีวี รวมทั้งทีมงานผลิตรายการข่าว 3 มิติ และประเด็นเด็ดเจ็ดสี ก็ล้วนแต่เป็นทีมเบื้องหลัง Hot News

ที่น่าสนใจกว่านั้น ทั้งรายการของประเด็นเด็ดเจ็ดสี และข่าว 3 มิติ ต่างก็ต้องสร้างมิติใหม่ของการนำเสนอข่าวที่ฉีกไปจากรูปแบบเดิม เพื่อสร้าง ”ความต่าง” ที่เป็นจุดขายสำคัญสำหรับเวลาข่าวช่วงดึก ให้ข่าวที่ถูกรายงานมาแล้วตลอดทั้งวัน ซึ่งมักจะอยู่ในรูปแบบการนำเสนอ “สกู๊ปข่าวค้นหาความจริง หรือ Fact News ซึ่งกลายเป็นธรรมดาไปแล้ว จึงเป็นที่มาของการนำเสนอข่าวด้วยรูปแบบใหม่ ที่ยังคงค้นหาความจริงของช่าวชิ้นนั้น เติมรสชาติความเป็น Reality เพื่อทำให้ผู้ชมรู้สึกมีอารมณ์ร่วมในการค้นหาข้อมูล

เช่น “ข่าว 3 มิติ”กับการรายงานข่าว ”ตู้คอนเทนเนอร์ปริศนา กลางอ่าวไทย ข่าวการตามหานักบิน และของรายการ ”ประเด็นเด็ด 7 สี” กับข่าวเปิดโปงกระบวนการฟอกรถ และเปิดใจขบวนการค้าแรงงาน

“ทุกวันนี้รูปแบบการนำเสนอข่าวค้นหาความจริง น่าสนใจน้อยลงเรื่อยๆ เราจึงต้องเสริมเรียลลิตี้เข้าไปกับ ไม่ใช่แค่การค้นหาความจริง แต่ต้องสร้างให้คนดูรู้สึกร่วมไปกับข่าว ถ้าเป็นข่าวเศร้าก็ต้องให้คนดูรู้สึกเศร้าไปด้วย เช่น กรณีข่าวฆ่ายกครัว แทนที่จะรายงานข่าวว่าใครฆ่า เราต้องถ่ายทอดให้เห็นความรู้สึกแม่และยายที่กอดกันร้องไห้ หรือกรณีเด็กชายเคโงะ ที่คนดูรู้สึกร่วมไปกับการตามหาพ่อของเขา”

นี่คือยุทธศาสตร์ใหม่ของการนำเสนอข่าว ที่ ธเนส เกษรรัตน์ ซีเนียร์โปรดิวเซอร์รายการประเด็นเด็ดเจ็ดสี เชื่อว่าเป็นทิศทางการทำข่าวรูปแบบใหม่ที่จะยึดใจคนดูไว้ได้ ต้องเติมรสชาติของความเป็นเรียลลิตี้

แม้ว่าข่าว 3 มิติยังคงยึดคนดูไว้ได้ด้วยประเด็นข่าวในบางช่วงที่โดนใจคนดูมากกว่า สามารถเอาชนะ “ประเด็นเด็ดเจ็ดสี” ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะนอกจากแนวการนำเสนอที่เป็นเรียลลิตี้นิวส์ที่คล้ายกันแล้ว ยิ่งช่อง 7 มีฐานเรตติ้งคนดูละคร และคนดูต่างจังหวัดเป็นต้นทุนสำคัญ ทำให้กิตติและทีมงานข่าว 3 มิติต้องออกแรงมากขึ้น เมื่อแข่งกันหนักเข้า สกู๊ปข่าว 3 มิติเปิดประเด็นขึ้นมาเพื่อเรียกคนดู ก็เริ่มถูกตั้งคำถามจากสังคม ถึงข้อเท็จจริงและความถูกต้อง

ที่ถูกวิจารณ์มากๆ จากคนดู ก็คือ กรณีตู้คอนเทนเนอร์ ที่ถูกผูกโยงเข้ากับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นเรื่องที่ข่าว 3 มิติ และทีมงานยังคงต้องตอบคำถามในเรื่องนี้ต่อสังคม ว่าเป็นการขายข่าวเพื่อแย่งชิงคนดูที่ต้องตกเป็นเหยื่อจากการแข่งขันครั้งนี้หรือไม่ (อ่านล้อมกรอบ)

ในอีกด้านหนึ่ง ผลตอบรับจากการนำเสนอในรูปแบบของ “เรียลลิตี้ข่าว” ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ เด็กชายเคโงะตามหาพ่อชาวญี่ปุ่น ทำเอาคนดูทั่วประเทศต้องร่วมลุ้นไปกับหนูน้อยคนนี้ แม้แต่เจ้าหน้าที่จากสถานทูตยังต้องออกมาช่วยเหลือ และเอกชนไทยใช้กระแสนี้โปรโมตแบรนด์ ออกตั๋วเครื่องบินไปตามหาพ่อให้ฟรี จนล่าสุด ชีวิตของเด็กชายเคโงะกำลังถูกซื้อลิขสิทธิ์ผลิตการ์ตูน หรือกรณีของหมีแพนด้าหลินฮุ่ยออกลูก ที่กลายเป็นอีกหนึ่งในเรียลลิตี้ ดึงความสนใจคนดูให้ร่วมลุ้นกับการเติบโตของลูกน้อยของหลินฮุ่ยได้ทุกวัน ก็ล้วนแต่มาจากความเป็น “เรียลลิตี้ข่าว” ที่สร้างกระแสตอบรับจากผู้ชมให้มีอารมณ์ร่วมไปกับข่าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ข่าวไม่จบลงเหมือนกับการนำเสนอข่าวปกติ

ทุกวันนี้ เรียลลิตี้ข่าว ได้กลายเป็น “สูตรสำเร็จ” ของสงครามข่าวรอบใหม่ ได้นำไปใช้ในเวลาข่าวอื่นๆ ข่าวเช้า กลางวัน และข่าวดึก ที่แม้จะยังคงเป็นรายงานข่าว หรือการเล่าข่าว แต่ได้ใส่ความเป็นเรียลลิตี้ข่าว ในภาพข่าวที่เอามานำเสนอ เพื่อให้เกิดเน้นอารมณ์ความรู้สึกไปกับข่าวอย่างเห็นได้ชัด

หรือแม้แต่ข่าวบันเทิงทุกวันนี้ ก็ใส่ความเป็นเรียลลิตี้ข่าว เช่น การติดตามการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของดารา หรือนักร้องดัง หรือรายการกีฬาก็ตาม ไม่ได้มีแค่รายงานข่าวปกติ แต่ไปติดตามวิถีชีวิตของนักกีฬา หรือตามดูว่าคนดูตามเชียร์มวยอย่างไร

เปิดศึกข่าวเช้า

สำหรับประเด็นเด็ดเจ็ดสี เมื่อผลตอบรับไปได้ดี หลังออนแอร์ได้เดือนเดียว ฝ่ายบริหาร ภายใต้การนำของ กฤตย์ รัตนรักษ์ เปิดไฟเขียว มีเดียส์ฯ ได้ผลิตรายการข่าวเช้า “เช้านี้…ที่หมอชิต” อีกชั่วโมงครึ่ง เป็นการเปิดแนวรบกับช่อง 3 อีกครั้ง หลังจากที่รายการ “จมูกมด” ที่สถานีผลิตเอง ยังไม่สามารถแย่งผู้ชมจาก “เรื่องเล่าเช้านี้” ที่มีถึง 40-50% มาให้รายการจมูกมดซึ่งส่วนมากมีผู้ชมอยู่ในระดับไม่เกิน 30% เท่านั้น

โจทย์หินครั้งนี้ยังคงอยู่ที่ “เรื่องเล่าเช้านี้” ผลิตโดยบีอีซีเทโร ที่มี สรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นพิธีกรตัวยืนมาตั้งแต่ปี 2546 เปลี่ยนพิธีกรหญิงมาแล้วหลายคน จนมาลงที่ “กฤติกา ศักดิ์มณี” จากค่ายเนชั่น แชนแนล และมี “สู่ขวัญ บูลกุล” เสริมบางช่วง โดยพิธีกรชายร่วมคือ “เอกราช เก่งทุกทาง” ปัจจุบันเรื่องเล่าเช้านี้ขายโฆษณาได้นาทีละ 175,000 บาท สูงกว่าทุกช่อง จากเดิมที่ไม่ถึงหลักแสน สามารถปลุกให้ช่องอื่นๆ เริ่มปรับปรุงรายการข่าวเช้า

แม้เวลานี้ สรยุทธจะไม่สามารถสร้างฮือฮาได้เหมือนในอดีต แต่ก็ยังครองเรตติ้งคนดูไว้ได้เหนียวแน่น ส่งผลให้มีเดียฯ ต้องเลือกฉีกไปใช้รูปแบบ “วาไรตี้ข่าว” เพราะเชื่อว่าตอบโจทย์คนดูช่วงเช้า ที่ต้องการฟังข่าวสบายๆ ก่อนไปทำงาน หรือแม่บ้าน จะฟังข่าวไปทำงานไป ยังมีโอกาสลุ้นได้มากกว่า

“คู่แข่งของเราแน่นอนว่าเป็นช่อง 3 ซึ่งเราดูแล้ว่า คนดูน่าจะได้รับทางเลือกอีกแบบ ข่าวเบาๆ เหมือนเพื่อนเล่าให้ฟัง ไม่เครียดมาก ข่าวแบบวาไรตี้น่าจะเหมาะที่สุดสำหรับช่วงเช้า ไม่ใช่เล่าข่าว แต่เป็นคุยกันสบายๆ เนื้อหามี เป็นการเสพข่าวอีกแบบ เพื่อให้ง่ายต่อการติดตาม” ชาลอต โทณวณิก บอกถึงที่มาของโจทย์ข่าวช่วงเช้า

แม้จะวางจุดยืนของการเป็นวาไรตี้ข่าว ที่ต้องดูสบายๆ แต่ยุคที่ข่าวเช้าแข่งเดือดแบบนี้ วาไรตี้ข่าวช่องอื่นก็มีไม่ต่างกัน งานนี้มีเดียฯ จึงต้องอัดฉีด ชนิดที่ต้องใช้ “กองทัพพิธีกรข่าว” เพราะใช้จากมีเดียฯ เอง และช่อง 7 รวมทั้งต้องดึงตัวพิธีกรข่าวจากช่องอื่น ศศิวรรณ เลิศวิริยะประภา จากช่อง 3 และ จำเริญ รัตนตั้งตระกูล จากช่อง 9 มาเสริมทัพ รวมเป็นพิธีกรข่าวถึง 8 คน

นอกจากนี้ ยังใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ ทั้งข่าวเศรษฐกิจ กีฬา เช่น วีระ ธีรภัทร ภราดร ศรีชาพันธุ์ สมจิตร จงจอหอ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน มาเป็นทีม “ผู้รู้ผู้เล่า” รวมพิธีกรข่าว 8 และผู้รู้ 5 คน รวมแล้ว 13 คน เพื่อสร้างความแปลกใหม่ เสริมให้การเล่าข่าวข่าวลึกขึ้น และยังใช้เป็น “แม่เหล็ก” ดึงแฟนคลับ และเรตติ้งคนดูให้ได้มากที่สุด

“เป็นส่วนผสมระหว่างผู้ประกาศ และผู้รู้ ซึ่งผู้ประกาศ จะถนัดการนำเสนอ เพื่อดึงข้อมูลจากผู้รู้ ผู้เล่า ซึ่งจะมีข้อมูลลึกกว่าผู้สื่อข่าว มันเป็นเหตุผลที่ตอบโจทย์ ที่สามารถให้แต่ละช่วงลึกจริงๆ” โปรดิวเซอร์รายการ บอกกับ POSITIONING
นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่มีเดียฯ ต้องผนึกกำลังกับทีมข่าวข่อง 7 โดยใช้ภาพข่าว และพิธีกรข่าวของช่อง 7 มาเสริมในรายการข่าว เพราะช่อง 7 มีภาพข่าวและทีมตระเวนข่าว และพิธีกรข่าวก็มีแฟนคลับอยู่แล้ว มาช่วยสร้างความต่อเนื่องให้ทุกช่วงมีคนติดตาม

ข่าวภูมิภาค เป็นอีกหนึ่งในจุดขาย ที่ต้องให้น้ำหนักมากถึง 30% เพื่อตอบโจทย์คนดูหลักของช่อง 7 ที่เป็นคนต่างจังหวัด ซึ่งข่าวช่วงเช้าจะมีบทบาทมากกับคนดูกลุ่มนี้ ทั้งกลุ่มแม่บ้าน หรือร้านค้าต่างๆ ที่นิยมดูข่าวเช้า และยังเป็นการฉีกหนีไปจากคู่แข่ง ที่มุ่งเน้นตอบสนองคนดูที่เป็นคนเมือง

ในขณะที่ เรื่องเล่าเช้านี้ของสรยุทธมีรายงานสดจราจรในกรุงเทพฯ สลับกับการรายงานพยากรณ์อากาศ ภาวะตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นฝั่งอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ภาวะดอกเบี้ย ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลที่คนวัยทำงานในเมืองต้องการทราบทั้งสิ้น แต่ เช้านี้…ที่หมอชิต มีรายงานสดราคาพืชผลจากตลาดสดช่วงเช้า เพื่อให้ตอบโจทย์คนดูต่างจังหวัด

ขณะเดียวกัน “สรยุทธ” เองก็ปรับตัวอย่างเห็นได้ชัด กลับมาหา Positioning ตัวเองอย่างชัดเจน คือทีวีสำหรับคนกรุงเทพฯและหัวเมือง และหากวัดจากการเริ่มต้นรายงานข่าว “สรยุทธ” มักจะเริ่มด้วยข่าวในกระแสที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในวันนั้นๆ ข่าวความเคลื่อนไหวรัฐบาล หรือข่าวการเมืองที่ร้อนแรง ต่างจาก “เช้านี้…ที่หมอชิต” โดยสิ้นเชิงที่ผู้ชมจะได้รับรู้ข่าวอาชญากรรม และข่าวชาวบ้านในอันดับต้นๆ

นอกจากการเล่าข่าวกระชับขึ้น ยังสลับกับภาพข่าวทีวีที่อยู่ในกระแส ที่เน้นความเป็นเรียลลิตี้ข่าว ไม่ว่าจะเป็นข่าวเคอิโงะ ซาโต ตามหาพ่อชาวญี่ปุ่น หมีแพนด้าคลอดลูกน้อยที่เชียงใหม่ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลง จากเมื่อก่อนคือข้อมูลส่วนใหญ่มาจากหนังสือพิมพ์

ยกแรกการแข่งรายการข่าวในช่วงเช้า “สรยุทธ” ยังชนะ เพราะเป็นพิธีกรอันดับ 1 โฆษณาเข้าเต็มตลอด 2 ชั่วโมงครึ่ง ขณะที่ช่อง 7 ยังเพิ่งเริ่มต้นในเวลา 1 ชั่วโมงครึ่งยังมีโฆษณา House Ad ได้เห็นบ่อยๆ พิธีกรข่าวที่ยังไม่คุ้นหน้าคุ้นตาผู้ชมนัก ต้องรอดูว่ากองทัพพิธีกร และเหล่าผู้รู้ทั้ง 13 คน ของเช้านี้…ที่หมอชิต จะช่วงชิงคนดู จากเรื่องเล่าเช้านี้ได้มากน้อยเพียงใด

ข่าวเย็น ช่อง 3 นำช่อง 7
ข่าวช่วงเย็นของช่อง 3 เป็นรายการข่าวอีกช่วงหนึ่งที่ช่อง 3 มีการปรับรูปแบบมาตั้งแต่ปี 2548 ภายใต้แบรนด์ “ครอบครัวข่าว” จนในที่สุดสามารถทำเรตติ้งทั่วประเทศใกล้เคียงกับช่อง 7 และในพื้นที่กทม. และหัวเมือง ชนะช่อง 7 ด้วยสัดส่วนผู้ชมสูงกว่าประมาณ 6% (ข้อมูล Nielsen)

ด้วยรูปแบบการเล่าข่าวผ่านพิธีกรที่หลากหลายทั้งหญิงชาย ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ เป็นสูตรตามหลักการตลาดโดยแท้ ผลักดันให้ข่าวของช่อง 7 ต้องปรับเป็นสไตล์การเล่าข่าวโดยมีพิธีกรฮอตเวลานี้ของช่อง 7 คือ “นารากร ติยายน” และ “ภัทร จึงกานต์กุล” 2 คนเป็นหลัก

“เรื่องเด่นเย็นนี้” จันทร์-ศุกร์ เป็นรายการคุยข่าวต้นแบบที่ผู้ชมส่วนใหญ่รับรู้ว่ามีพิธีกรข่าวมากที่สุด ด้วยเวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที มีทั้งหมด 6 คน เพื่อตอบโจทย์การให้ “เรื่องเด่นเย็นนี้” ภายใต้แบรนด์ “ครอบครัวข่าว 3” สามารถเข้าถึงผู้ชมทุกเซ็กเมนต์ จากการเล่าข่าวของพิธีกรข่าวแต่ละคนที่จัดวาง Positioning ให้เด่นชัดเป็น Man of Knowledge ในแต่ละเรื่อง ตั้งแต่เรื่องข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การเจาะลึกบางประเด็นและกีฬา

“เรื่องเด่นเย็นนี้” เป็นรายการข่าวที่อยู่ภายใต้การร่วมผลิตระหว่างฝ่ายข่าวช่อง 3 และบริษัทเซิร์ชไลฟ์ จำกัด ในกลุ่ม “เซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ตั้งแต่ปี 2548” ที่มี “วิบูลย์ ลีรัตนขจร” เป็นกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ โดยปัจจุบัน เซิร์ช ไลฟ์ ยังมีรายการ เรื่องเด่นเย็นนี้ เสาร์-อาทิตย์ 17.15-18.00 น. ด้วยพิธีกรอีกชุดหนึ่ง

Wiboon Leerattanakachorn Part 1 from Positioning Magazine on Vimeo.

Wiboon Leerattanakachorn Part 2 from Positioning Magazine on Vimeo.

“วิบูลย์” บอกว่าความสำเร็จของ “เรื่องเด่นเย็นนี้” ในช่วงแรกวางตามสูตรกลยุทธ์การตลาดที่ว่าจะมีส่วนใดมาประกอบให้โปรดักต์ประสบความสำเร็จบ้าง แน่นอนคุณภาพข่าวคืออันดับแรก แต่มีองค์ประกอบหนึ่งคือผู้ประกาศข่าว ซึ่งก่อนที่จะลงตัวได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ชม เช่น ต้องการชมอะไร และผู้ประกาศข่าวคนไหน พบว่าส่วนหนึ่งรายการข่าวจะสำเร็จได้ผู้ประกาศที่ได้รับความนิยม และน่าเชื่อถือเป็นส่วนสำคัญ

ในปีนี้กำลังพยายามขยายกลุ่มเป้าหมายผู้ชม จากเดิมส่วนใหญ่ผู้ชมเป็นกลุ่มอายุ 35 ปี มาเป็นกลุ่มเยาวชนอายุไม่เกิน 30 ปี ด้วยกลยุทธ์ล่าสุดคือการดึงพิธีกรข่าวรุ่นใหม่ “ภาษิต อภิญญาวาท” จากช่อง 7 มาร่วมคุยข่าว

ปัจจุบัน “เรื่องเด่นเย็นนี้” จันทร์-ศุกร์ จึงมีพิธีกรข่าวทั้งหมด 6 คน คือ ธีระ ธัญไพบูลย์ วราภรณ์ สมพงษ์ ภาษิต อภิญญาวาท บัญชา ชุมชัยเวทย์ สรยุทธ สุทัศนะจินดา และสาธิต กรีกุล (จันทร์-เสาร์) ส่วนเรื่องเด่นเย็นนี้ เสาร์-อาทิตย์ มีสายสวรรค์ ขยันยิ่ง นิธินาฎ ราชนิยม ม.ล.ณัฎฐกร เทวกุล บัญชา ชุมชัยเวทย์พลวรรธก์ บุญลออ

แม้ว่าช่อง 7 ยังไม่ได้ขยับปรับเปลี่ยนข่าวเย็นในช่วงนี้ แต่เชื่อได้ว่าศึกรอบนี้ยังไม่จบลงง่ายๆ ที่สำคัญ สงครามข่าวรอบใหม่นี้ ได้เปลี่ยนรูปแบบของการนำเสนอข่าวไปแล้ว จากการ “เล่าข่าวมาเป็นเรียลลิตี้ข่าว” อย่างสมบูรณ์แบบไปแล้ว

5 โมงถึง 3 ทุ่ม ช่อง 3 กวาดเรียบ
————————————————————————————————————————————-
ช่วงเวลา จำนวนผู้รับชม กลุ่มอายุที่ดูมากสุด กทม. ตจว. ช่องที่นิยมสูงสุด/สัดส่วนผู้ชม
ข่าวเช้า 6.00-09.00 น. 54% 64% เป็น 40+ 58% 51% ช่อง 3/ 38%
ข่าวภาคเที่ยง 11.00-13.00 น. 33% 42% เป็น 40+ 37% 30% ช่อง 3 /15%
ข่าวภาคค่ำ 17.00-21.00 น. 81% 85% เป็น 40+ 77% 84% ช่อง 3 + 7/ 33% เท่ากัน
ข่าวดึก 21.00-22.00 น. 41% 49% เป็น 40+ 54% 31% ช่อง 3 /15%
ข่าวหลังเที่ยงคืน 24.00 น.+ 10% 13% เป็น 40+ 17% 6% ช่อง 3 /5%
———————————————————————————————————————————–
ที่มา : Acorn (ปี 2551)

เมื่อสอบถามกลุ่มเป้าหมาย 100% คน ปรากฏว่าข่าวภาคค่ำเป็นช่วงเวลาที่ทุกเพศทุกวัยตั้งแต่อายุ 4+ ดูมากที่สุด เฉลี่ยถึง 81% โดยอายุ 40+ ให้เวลาในการชมข่าวทุกช่วง ส่วนอันดับ 2 คือข่าวภาคเช้า 54% และอันดับ 3 คือข่าวดึก 41% โดยช่อง 3 ได้ส่วนแบ่งผู้ชมสูงสุดทุกช่วง ยกเว้นช่วงค่ำที่ได้เท่ากับช่อง 7

รายการข่าวเช้า (ผังเดือนพฤษภาคม)
————————————————————————————————————–
รายการ/ช่อง รูปแบบ สัดส่วนผู้ชมทั่วประเทศ อัตราค่าโฆษณาต่อนาที(บาท)
————————————————————————————————————-
“เรื่องเล่าเช้านี้”/ช่อง3 เล่าข่าว 45% 175,000
06.00-08.30 น.

“จมูกมด” /ช่อง7 (ยกเลิกแล้ว) เล่าข่าว 20% 100,000
06.15-07.45 น.
“เช้านี้…ที่หมอชิต”/ช่อง7 (เริ่ม1มิ.ย.52) วาไรตี้นิวส์โชว์ –
06.00-07.30 น.
“เช้าข่าวข้น คนข่าวเช้า”/ช่อง9 วาไรตี้นิวส์โชว์ 5% 100,000
06.00-08.00 น.
———————————————————————————————————–

ลำดับเหตุผลในการเลือกชมข่าวเช้า : ข่าวไม่หนัก พิธีกรข่าวมีสีสัน เสน่ห์ข่าวเช้า
——————————————————————————————–
1.หัวข้อข่าว
-ไม่หนักเกินไป
-ไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์เจาะลึก

2. ผู้ประกาศข่าว
-ต้องมีสีสัน/ดูกระฉับกระเฉงในการนำเสนอ
-มีความสามารถในการสรุป และวิเคราะห์ข่าว

3. การนำเสนอ -ต้องมีความสดใส มีรูปแบบสบายๆ ไม่หนักจนเกินไป

4. ช่วงเวลาในการนำเสนอ -กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ เพราะเวลาผู้ชมมีจำกัด

5. ทันสถานการณ์ -รายงานข่าว หรืออัพเดตข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงข้ามคืน หรือที่จะเกิดขึ้นในวันนั้น

6. อื่น ๆ -ฉาก การแต่งกาย สดใส สีสัน เหมาะสมำหรับการเริ่มต้นวันใหม่
—————————————-
ที่มา : ACOR