“ทรู” ล่าฝัน AF 6

เริ่มต้นแล้วกับ AF6 เรียลลิตี้โชว์ ค่าย “ทรูวิชั่นส์” ที่เดินทางมาถึงปี 6 ซึ่ง “ทรูวิชั่นส์” ประกาศตั้งแต่เปิดตัวว่าได้พยายามปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ เพื่อหวังไม่ให้กร่อยตลอดช่วงซีซั่นที่เหลืออีก 2 เดือนกว่านับจากนี้ หลังจากที่มีคอมเมนต์ดังๆ มาว่า AF5 เหงา และเฉาสุดขีดมาแล้ว และที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงการโหวต แบบไม่มีฟรีอีกต่อไป แฟนคลับต้องโหวตจริง จ่ายจริง เพื่อทำให้รู้ว่า AF คนนั้นๆ เรตติ้งดีจริง และยืนระยะได้ยาวพอจะปั้นต่อหรือไม่

นอกจากแว่นตา 3 มิติ ที่หวังเป็นเครื่องมือช่วยชมให้ได้อรรถรสมากขึ้นแล้ว ส่วนผสมของโปรดักต์ คือ AF6 “นักล่าฝัน” 12 คน ที่เข้ามาอยู่ในบ้านก็ต่างจาก AF5 รวมไปถึงเทรนเนอร์ และบทบาทของคอมเมนเตเตอร์ ซึ่งงานนี้ “บอย อรรถพล ณ บางช้าง” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายรายการ และ Executive Producer รายการ ทรู อคาเดมี แฟนเทเชีย บอกว่า เป็นความตั้งใจ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว เมื่อรายการอยู่มา 5 ปีก็ควรปรับโฉม เพิ่มมุกเข้าไปในรายการ ไม่เช่นนั้นผู้ชมจะเบื่อ

หญิง 7 ชาย 5 คือส่วนผสมใหม่ หลังจากที่ทุกปี จะแบ่ง 6 คนเท่ากัน ซึ่ง “บอย” บอกว่าสัดส่วนนี้ลงตัวมากที่สุด และอยากลองว่าสุดท้ายแล้วผู้ชายจะได้ที่ 1 เหมือนทุกปีหรือไม่ เพราะพฤติกรรมผู้ชายแม้จะชอบก็ไม่โหวต ขณะที่ผู้หญิงที่ชื่นชอบ AF ผู้ชายจะโหวตให้เต็มที่

ลุคที่ชัดเจนของ AF6 ไม่ใช่เกาหลี หรือลูกครึ่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นแบบไทยๆ ที่ “บอย” บอกว่าต่างจากปีก่อนที่เทรนด์เกาหลีมาแรง แต่ยุคนี้ต้องไทยๆ ส่วนความสวยหรือความหล่อนั้น “บอย” บอกว่า เรียกว่าดูแล้ว

“เป็นบวก” ซึ่งบางคนอาจไม่โดดเด่น แต่ก็มีบุคลิกที่ชัดเจน และเพื่อความสนุกในช่วงโชว์ เกณฑ์ในการเลือกปีนี้จึงเน้น AF ที่ค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่ หรือ Mature กว่าปีที่แล้ว โดย 9 คนอายุมากกว่า 20 ปี สูงสุด 25 ปี และมี 18 ปีเพียง 3 คน ความ Mature จะทำให้ตั้งใจฝึกซ้อม ส่วนเรื่องความสามารถไม่ได้เน้นที่การร้องเพียงอย่างเดียว แต่ก็ต้องเห็นแนวโน้มการพัฒนาได้ เพราะอนาคตของ AF บางคนอาจถูกปั้นต่อเพื่อเป็นนักร้อง นักแสดง หรือพิธีกร

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือการโหวต ที่ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ซีอีโอของทรูวิชั่นส์ บอกว่า ปีนี้ไม่มีโหวตฟรี หรือได้ค่าโทรกลับคืน เพราะที่ผ่านมาผู้ที่ได้ค่าโทรกลับคืนส่วนใหญ่ใช้สิทธิโทรไม่หมด จึงเปลี่ยนมาเป็นเมื่อโหวตแล้วทรูมูฟนำค่า SMS ที่ได้ครั้งละ 1 บาท บริจาคการกุศล ซึ่งเชื่อว่าผู้ชมจะยังคงให้ความสนใจโหวต

หรือในอีกทางหนึ่งการโหวตโดยที่ผู้ชมโหวตจริง จ่ายจริง จะทำให้รู้ถึงการตอบรับจริงจากแฟนๆ ของ AF แต่ละคน หาเรตติ้งที่ชัดได้

เป็นอีกทางหนึ่งเพื่อหาคำตอบให้กับโจทย์สำหรับทรูวิชั่นส์ในการปั้นศิลปินต่อ เพราะบนเวที AF ที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าไม่ใช่ปลายทางฝันของ AF แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นหลังจบซีซั่น ที่ “นักล่าฝัน” ต้องไขว่คว้าล่าฝันอีกมากมาย เพื่อเข้าสู่เส้นทางบันเทิงอย่างแท้จริง

โฉมใหม่AF 6
1. เทคโนโลยีถ่ายทอด และชมแบบ 3 มิติผ่านทีวีและไอโฟน ในบางช่วงที่อยู่ในบ้านและคอนเสิร์ต
2. ไม่มีโหวตฟรี เพื่อสำรวจเรตติ้ง AF ทางอ้อมจากเสียงโหวตผู้ชมที่พร้อมจ่ายจริง เพื่อต่อยอดปั้นเป็นศิลปินในอนาคต ส่วนการจูงใจผู้ชมโหวตคือเงินที่ได้ 1 บาทจะบริจาคการกุศล
3. อายุ AF6 เฉลี่ยมากกว่า AF รุ่นก่อนๆ ส่วนใหญ่เรียนจบแล้ว ส่วนหน้าตาเป็นเทรนด์หน้าไทยๆ
4. ผู้หญิงมากกว่าชาย 7 : 5 หลังจากที่ได้ผู้ชนะเป็นผู้ชายมาทุกปี และปีนี้ผู้หญิงร้องเพลงได้ดีกว่า

Profile
AF (Academy Fatasia) ทรูซื้อลิขสิทธ์เมื่อปี 2004 จากรายการ La Academia จากช่อง TV Azteca เม็กซิโก ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2002 ด้วยเกณฑ์การให้ผู้ชมโหวตทางโทรศัพท์เพื่อเลือกผู้ชนะ ซึ่งในไทยเริ่มซีซั่น 6 ที่ต้องจ่ายค่าโหวตผ่านมือถือครั้งละ 3 บาท ส่วนที่เม็กซิโก้ผู้ชมต้องจ่ายค่าโหวตประมาณ 2.50 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 80 บาท