ชีวิตติด “Speed” ที่พัทยา

ภาพของนักท่องเที่ยวนอนอาบแดดไปพร้อมการท่อง (เที่ยว) โลกอินเทอร์เน็ตผ่านโน้ตบุ๊กและสมาร์ทโฟนตามบริเวณชายหาดพัทยาจะกลายเป็นอีกปรากฏการณ์ของ Modern Pattaya ซึ่งทำให้ชายหาดพัทยามี “กิจกรรม” ที่เป็นสีสันใหม่เพิ่มขึ้น เฉกเช่นกับ Top Beach อื่นๆ ทั่วโลก เมื่อสัมผัสกับผืนทราย พร้อมๆ กับ Connect จากการลงทุน 3 โอเปอเรเตอร์ CAT, TOT และทรู ติดสปีดอินเทอร์เน็ตให้กับเมืองพัทยา

ทรูได้เลือกพัทยาเปิดตัว Hi-speed Internet ความเร็ว 8 Mbps เป็นแห่งที่ 2 ต่อจากกรุงเทพฯ ขณะที่จุด Wi-Fi Hotspots ของทรูมีครอบคลุมทั้งตัวเมืองพัทยากว่า 400 จุด ทั้งอินดอร์และเอาต์ดอร์ โดยคาดว่าจะมีผู้สมัครใช้บริการอินเทอร์เน็ตของทรูทั้งสิ้น 10,000 คน ในพัทยา ภายในสิ้นปี 2552 นี้

นนท์ อิงคุทานนท์ ผู้จัดการทั่วไป Wire-line Broadband Services Business บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บอกว่า ที่พัทยายังไม่มีการ Convergence ของการสื่อสารที่ชัดเจน เมื่อทรูเปิดตัว Hi-speed Internet ครั้งนี้ จึงทำให้ภาพดังกล่าวเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เพียง Hi-speed at home ไม่ใช่แค่ Stand alone Wi-Fi แต่เป็นการใช้ประโยชน์ได้ทุกรูปแบบ โดยครั้งนี้ลงทุน 100 ล้านบาท คาดว่ารายได้ในปีแรกจะอยู่ที่ 40-50 ล้านบาท โดยเฉพาะ Wi-Fi สามารถรองรับลูกค้าได้ถึง 100,000 ราย

วรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บอกว่า TOT มีศักยภาพเพียงพอในการเป็นผู้ให้บริการหลัก เนื่องจากมีโครงข่ายด้านการสื่อสารโทรคมนาคมอยู่ครอบคลุมทั่วประเทศ จึงได้รับมอบนโยบายดังกล่าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนการลงทุนชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเดิม มาร่วมมือกับเทศบาลเมืองพัทยา ด้วยเห็นว่าพัทยาเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจดี และเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญระดับชาติ แต่บริเวณชายหาดยังขาดบริการ Hi-speed Internet จึงนับว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเติมเต็มช่องว่างทางธุรกิจ

งบประมาณจำนวน 10 ล้านบาทที่คาดว่าจะคืนทุนภายใน 2 ปี ถูกทุ่มลงไปสำหรับอุปกรณ์และสถานีฐานเพื่อติดตั้งโครงข่าย Wi-Fi ให้มี Access Point ที่ครอบคลุมตั้งแต่ “ชายหาดพัทยาเหนือจรดชายหาดพัทยาใต้” ระยะทางยาว 3 กิโลเมตร และจาก “Walking Street จนถึงแหลมบาลิฮาย” เป็นระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ด้วยคาดหวังว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อีกทั้งเป็นการช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับพัทยาว่าเป็น IT City เพื่อตอบโจทย์ความเป็น Modern Pattaya

ด้าน “ชวลิต เจียรานุชาติ” ผู้จัดการส่วนพัฒนาธุรกิจสื่อสารไร้สายความเร็วสูง ของ TOT บอกว่า กลุ่มเป้าหมายหลักของการให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงนั้น 60% พุ่งเป้าไปที่ “นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ” ซึ่งพบว่ามีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย “หนึ่งชั่วโมงต่อวัน” ไม่ว่าจะเป็นการรับส่งอีเมล การหาข่าวสาร ตลอดจนเพื่อความบันเทิงอย่างการอัพโหลดรูปภาพ หรือคลิปวิดีโอ

“ฝรั่งนิยมเล่นเน็ตตามชายหาดได้ เพราะชอบอาบแดด แต่คนไทยนี่ต้องหลบแดดเข้าไปเล่นในห้างหรือในคาเฟ่”

TOT Wi-Fi ON THE BEACH มีทั้งแบบให้ใช้บริการ “ฟรี” ที่ระดับความเร็ว 256 kbps และแบบระบบบัตร Pre-paid หากต้องการความเร็วที่สูงขึ้น โดยราคาอยู่ที่ 60 – 600 บาท (อัตราค่าใช้บริการเฉลี่ยต่อนาทีตกอยู่ที่ 0.40 – 1 บาท) ซึ่งมีตั้งแต่ระดับความเร็ว 1 mbps ในชื่อบัตร “TOT Wi-Fi” และระดับความเร็ว 2 mbps ในชื่อบัตร “TOT Hotspot”โดยนักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อบัตร Wi-Fi ดังกล่าวได้ตามร้านสะดวกซื้อตลอดแนวชายหาดพัทยา

ปัจจุบัน TOT กำลังดำเนินการขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มเติมไปยัง “ชายหาดจอมเทียน” และเตรียมให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 1 Gbps ที่เรียกว่า FTTx (Fiber to the X)ไปยังนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียง อาทิ มาบตาพุด และในส่วนของตัวเมืองตามเส้นทางการสัญจร อันได้แก่ ถนนสายพัทยาเหนือ-กลาง-ใต้ ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป

“FTTx เป็นการติดตั้งสายเคเบิลใยแก้วนำแสงที่มีช่องสัญญาณขนาดใหญ่เป็นพิเศษ และถ้าจุดไหนสัญญาณเข้าไม่ถึง เราก็จะใช้ตัวส่ง Wi-Fi ที่สามารถกระจายสัญญาณรอบตัวได้ 100 เมตรมาช่วยเสริม เป็นการเพิ่มศักยภาพในการรับส่งข้อมูล ภาพ เสียง วิดีโอ ได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงรองรับการใช้งานส่วนบุคคลในเรื่องของการท่องเที่ยว แต่ยังสามารถรองรับการใช้งานทางธุรกิจได้อย่างมีเสถียรภาพ”

ทั้งนี้ การวางโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วย่อมต้องใช้เวลามากกว่าการติดตั้งจุดส่งสัญญาณ Wi-Fi วรุธจึงคาดการณ์ว่า ภายในไตรมาส 3-4 จะสามารถดำเนินการติดตั้ง FTTx ได้ ในขณะที่ระบบเครือข่ายโทรศัพท์ 3G ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการของ TOT ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการที่พัทยาได้ปี 2553

อนาคตอันใกล้ TOT มีแผนการนำเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ทันสมัยมาร่วมในการติดตั้งโครงข่าย Hi-speed Internet เพิ่มเติมด้วย ได้แก่ เทคโนโลยี Wi-Max “เราได้นำไปทดลองในภาคอีสานเห็นว่าได้ผลดี จึงน่าจะได้นำมาใช้ในพัทยาด้วย” วรุธเสริม “Wi-Max ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตในรถขณะเคลื่อนที่ได้ แต่ความเร็วต้องไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สัญญาณจึงไม่สะดุด …ก็รถในพัทยาวิ่งเร็วกันที่ไหน” วรุธกล่าวด้วยอารมณ์ขัน

“พัทยาเป็นเมืองที่ TOT ลงทุนเป็นลำดับต้นๆ จะว่ามากกว่าที่อื่นๆ ก็ได้ เพราะอย่างที่ท่องเที่ยวอื่นๆจะมีนักท่องเที่ยวคับคั่งเป็นฤดูกาล เช่นภาคเหนือ คนก็จะเยอะในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยวของเขา แต่พัทยานี่มีนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ไม่ต้องอาศัยฤดูกาล จึงเป็นเมืองที่น่าลงทุนมาก”

ด้านการสื่อสารแห่งประเทศไทยหรือ CAT ได้ลงทุนไฟเบอร์ ทู เดอะ โฮม สนับสนุนให้พัทยากลายเป็น ICT City แห่งแรก ด้วยงบประมาณ 500 ล้านบาท ติดตั้งโครงข่ายใยแก้วนำแสงที่พร้อมรองรับมัลติมีเดียความเร็วสูง เข้าถึงจำนวนครัวเรือนทั่วเมืองพัทยาราว 20,000 หลังคาเรือน โดยจะเดินหน้าโครงการได้ปี 2553 และเพื่อสอดรับกับแผนฟื้นฟูเมืองพัทยา CAT จะใช้วิธีการวางโครงข่ายใยแก้วนำแสงใต้ดิน เพื่อความสวยงามของทัศนียภาพ โดยเมืองพัทยาจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานด้านไฟฟ้า และอื่นๆ ที่ต้องเดินสายเคเบิลอยู่แล้ว