สร้างทราฟฟิคของแท้ สร้างตัวจริงบนโลกไซเบอร์

เมื่อฉบับที่แล้วผมเขียนถึงเทคนิคการสร้างแบรนด์ด้วย Twitter ไปปรากฏว่ามีคนสนใจเยอะครับ มี Blogger หลายท่านนำบทความผมไปแปะต่อในบล็อกตัวเอง (ทั้งที่น่าขอบคุณคือให้เครดิต และน่าตีคือพวกไม่ให้เครดิต… คราวหน้าใครจะเอาไปเผยแพร่ต่อเชิญนะครับ แต่ว่าขอลิงก์กลับ และอ้างถึงแหล่งที่มาสักนิดเถอะครับ) ทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า เรากำลังให้ความสำคัญกับ “ตัวเครื่องมือ” ทางการการตลาดมากเกินไปหรือเปล่า แต่การทำอะไรที่ยั่งยืนมันควรจะต้องมีกลยุทธ์ทั้งระยะสั้น และระยะยาว

เวลามีคนในแวดวงดอทคอมออกมาพูดถึงการตลาดออนไลน์ ก็มักจะมีคนออกมาพูดถึงเรื่อง Search Engine Marketing ทำยังไงให้เว็บติดอันดับต้นๆ ของ Google, Yahoo!, Live และทำยังไงถึงจะมีคนพูดถึงโปรดักต์ของเราเยอะๆ บน hi5, Facebook รวมถึงเครื่องมืออย่าง Micro-bloging เช่น Twitter, Twitpic นี่ยังไม่รวมเว็บสารานุกรมร่วมสร้างอย่าง Wikipedia และ “เครื่องมือ” อีกนับล้านแปดที่ประดังเข้ามาให้เราใช้กันไม่หวาดไม่ไหว

ประเด็นที่ผมพยายามจะบอกก็คือ ให้เราระวังอย่าไปหลงกับ “เครื่องมือ” มากไปกว่า “ยุทธศาสตร์” ซึ่งเป็นภาพรวม ตั้งเป้าหมายของเราให้ชัดว่าต้องการอะไร แล้วใช้เครื่องมือเหล่านี้สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจในระยะยาวด้วยคุณภาพของเนื้อหาของเราจะดีกว่า

เราจะเพิ่มแทรฟฟิคให้กับเว็บอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนได้อย่างไร คำตอบง่ายๆ แต่ทำยากและทำนานคือการสร้างคุณค่าของแบรนด์ของเราให้น่าเชื่อถือด้วย Content , Community, และ Engagement ครับ ทำไมผมถึงเชียร์ให้ทำ Content , Community , Engagement ให้ดี? นั่นเป็นเพราะ ผมมองว่าSearch Engine เปลี่ยนแปลงไว และให้ผลในแง่แทรฟฟิคระยะสั้นที่มาจากการค้นหามากกว่า เชื่อว่านักการตลาดออนไลน์หลายคนคงเคยประสบกันมาบ้างแล้วนะครับว่า ปั่นๆ เว็บกับ Search Engine อยู่ดีๆ มี วันนึง Search Engine เกิดเปลี่ยนอัลกอริธึม ทำให้เว็บตัวเองถูกจัดลำดับน้อยลงไปมากๆ จากคนเคยเข้าเว็บมหาศาลเหลือน้อยลงนิดเดียว อันนี้เกิดจากการที่เราพยายามสร้างให้เว็บเราติดอันดับของ Search Engine มากเกินไปโดยที่ไม่ได้กลับมาแก้ที่รากฐานและหัวใจของเว็บไซต์ นั่นก็คือ “Content”

จากประสบการณ์ของผม ผมว่าการเพิ่มแทรฟฟิคด้วย Search Engine นั้นสุดยอดครับ เพราะพฤติกรรมของคนเวลาจะหาข้อมูลก็จะใช้ Search Engine เป็นหลักอยู่แล้ว แต่ทว่าท้ายที่สุดแล้วถ้าคุณไม่มีเนื้อหาที่ดีมีคุณภาพเพียงพอ ระบบอัลกอริธึมของ Search Engine ก็จะเมินคุณไปอยู่ดี ไม่ว่าคุณจะจัดให้โครงสร้างเว็บเอื้อกับการจัดทำสำเนาหน้าเว็บ (indexing) ของ Search Engine แค่ไหนก็ตาม

เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ค่าย Search Engine ต่างๆ พยายามพัฒนาให้อัลกอริธึมของตัวเองแสดงผลการค้นหาเว็บที่มีความเกี่ยวเนื่องกับคำค้นหาให้ได้มากที่สุด เขาไม่ต้องการให้เว็บของนักการตลาดออนไลน์ที่รู้จักการปั่นเว็บ มีอันดับดีไปกว่าเว็บดีๆ น่าเข้า น่าใช้ ที่มีเนื้อหาดี และมีคุณภาพหรอกครับ ถ้าเราทำเว็บเราดี แบรนด์ดี น่าเชื่อถือ เราไม่ต้องปรับตัวหา Search Engine เลยครับ Search Engine จะจัดลำดับเราให้ดีขึ้นเองในที่สุด (ภายใต้เงื่อนไขว่าเนื้อหาดีมีสาระ เข้าถึงได้สะดวกนะครับ)

สร้างแทรฟฟิค คุณภาพ ช้าๆ แต่ยั่งยืนด้วยการ “ตอบคำถาม”

ในที่นี้ผมขอแนะนำเว็บ Pantip.com และ Yahoo! Yahoo! รู้รอบครับ เว็บแรกคิดว่าคนไทยเราคงรู้จักกันดี ส่วน Yahoo! รู้รอบ (ชื่อสากลคือ Yahoo! Answers ซึ่งมีสมาชิกว่า 150 ล้านคนทั่วโลก) คือบริการ Q&A จาก Yahoo! ที่เปิดให้สมาชิกทุกคนแชร์ความรู้กันด้วยการถามและการตอบ ถ้าเราไม่รู้ในเรื่องไหนก็ถามได้ จะมีคนมาช่วยตอบ แต่ถ้าเรารู้ในเรื่องไหน คุณก็ช่วยให้ Community นี้แกร่งขึ้นได้ด้วยการตอบคำถาม แตกต่างกันนะครับ ตรงที่ Pantip เป็นเว็บบอร์ด แต่ Yahoo! รู้รอบเป็นบริการ Q&A
แล้วจะใช้ Pantip กับ Yahoo! รู้รอบมาทำให้เว็บดังขึ้นได้ยังไง?

อาจจะดูกำปั้นทุบดิน แต่มันง่ายกว่าที่คิด… ขั้นตอนในการทำให้เว็บคุณดังมากขึ้นก็คือ เพียงคุณเข้ามาใช้งานเว็บทั้งสองแห่งด้วยการตอบคำถามให้กับสมาชิกคนอื่นๆ โดยที่การตอบของคุณจะต้องตอบแล้วตรงประเด็น แก้ไขปัญหาให้คนช่างสงสัยในโดยไม่ขัดกับข้อควรปฎิบัติในชุมชน Yahoo! รู้รอบ (ไม่งั้นคำตอบคุณโดนสมาชิกใน community แจ้งลบแน่นอน) เสร็จแล้วคุณก็สร้างลิงก์ที่เกี่ยวข้องกับคำตอบของคุณเอาไว้ในคำตอบที่เราตอบไว้ และอีกใส่ไว้อีกลิงก์หนึ่งในหน้าโปรไฟล์ของคุณเพื่อให้คนที่อยู่ใน Yahoo! รู้รอบสามารถตามไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ของคุณได้ ซึ่งการตอบคำถามให้ผู้อื่นนี้ถ้าคุณตอบในสิ่งที่คุณรู้และเชี่ยวชาญอยู่แล้ว และคุณมีเว็บไซต์ทางด้านนี้อยู่แล้ว คนใน Yahoo! รู้รอบและที่ Pantip ก็จะคลิกไปที่เว็บไซต์ของคุณแน่นอนครับ

ตัวอย่าง

1. คุณกุ๊กไก่เป็นเจ้าของร้านเบเกอรี่แห่งหนึ่ง เธอมีความรู้ความเข้าใจในการทำขนมอร่อยๆ มาก ก็เลยสร้างเว็บไซต์ Kookkaibakery.com ขึ้นมาเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้ารู้จักร้านของเธอ (เว็บไม่มีอยู่จริงนะครับ ผมเมคขึ้นมา)

2. คุณกุ๊กไก่อยากจะให้คนรู้จักร้านกุ๊กไก่เบเกอรี่ของตัวเอง ซึ่งก็คือเพิ่มแทรฟฟิคและสมาชิกให้เว็บ Kookkaibakery.com นั่นเอง คุณกุ๊กไก่ก็เลยเข้ามาที่ห้อง “ก้นครัว” ใน Pantip.com/cafe ส่วนที่ Yahoo! รู้รอบ ก็เลือกหมวดที่ตัวเองถนัดและมีความรู้ที่สุด นั่นคือหมวด “อาหารและเครื่องดื่ม”

3. คุณกุ๊กไก่เข้ามาตอบคำถามของเพื่อนๆ ใน Yahoo! รู้รอบ, Pantip ประมาณอาทิตย์ละ 1-2 ชั่วโมง (ตอบไปประมาณ 10-15 คำตอบ) ซึ่งถือว่าไม่เสียเวลาเท่าไหร่เลย และปรากฏว่าคำตอบของคุณกุ๊กไก่ได้รับความนิยมสูง มีคนคลิกเข้าไปดูหน้าโปรไฟล์ของคุณกุ๊กไก่วันนึงๆ หลายร้อยคนทีเดียว และในหน้าโปรไฟล์ คุณกุ๊กไก่ก็ใส่ Kookkaibakery.com เอาไว้ ซึ่งถือว่าเป็นโปรไฟล์ ไม่ได้เป็นการโฆษณาอะไร คุณผู้อ่านอาจจะบอกว่าเอ๊ แค่หลักร้อยเองเหรอ? แต่บอกได้เลยครับว่าหลักสิบหลักร้อย แต่เป็นหลักสิบที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของคุณจริงๆ

4. สมาชิกของ Pantip และ Yahoo! รู้รอบที่สนใจเรื่องขนมเบเกอรี่อยู่แล้วพบว่าเว็บไซต์ Kookkaibakery เมื่อเข้าไปแล้วไม่ได้เพียงแต่แนะนำว่าร้านชื่ออะไรอยู่ที่ไหน แต่ยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ สำหรับสมาชิกในเว็บ เช่น สูตรและวิธีการทำขนมปังทาเนยในแบบของร้านคุณกุ๊กไก่ ทางร้านมีแป้งขนมปังชนิดนี้จำหน่ายที่ร้านในราคาพิเศษสำหรับสมาชิกในเว็บไซต์ พร้อมทั้งส่วนลดพิเศษ ทำให้คนที่เข้าไปเยี่ยมชมเว็บกลับเข้าไปที่เว็บไซต์นี้เป็นประจำ และส่งผลในเรื่องยอดขายในที่สุด

5. จำนวน ของคนที่ชอบคำตอบของคุณกุ๊กไก่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และคนก็เข้าเว็บ KookkaiBakery.com มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนรู้สึกว่าเจ้าของเว็บรู้จริง และไม่ได้เพียงแค่เข้ามาโฆษณา ทาง Yahoo! รู้รอบและ Pantip เองก็ได้พัฒนาให้ชุมชนของคำถามและคำตอบนี้ดีขึ้นไปด้วย เพราะคนที่อยากได้สูตรอาหารดีๆ ก็จะเข้ามาหาได้ที่ ห้อง “ก้นครัว” หรือหมวด “อาหารและเครื่องดื่ม” ได้

จากตัวอย่างด้านนี้ผม ผมพยายามจะบอกว่า เราจำเป็นต้องสร้าง “แทรฟฟิคที่แท้จริง” ให้ได้ คนจะเข้ามาที่เว็บไซต์เรา ให้เขาเข้ามาด้วยความต้องการจริงๆ เถอะครับ ไม่ใช่เพียงทำ SEO (Search Engine Optimization) ปั่นให้อันดับผลการค้นหา สูงขึ้นไปเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่ง Yahoo! รู้รอบ และ Pantip ต่างก็ เป็นทางเลือกในการสร้างแทรฟฟิคที่แท้จริง อันเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเว็บไซต์ของคุณด้วยครับ และท้ายนี้ผมยังอยากแนะนำให้คุณผู้อ่านลองอ่านบทความเรื่องนี้ดูนะครับ – รักษาแบรนด์บนเน็ตด้วยการ “ตอบ” http://iamia.wordpress.com/2008/06/06/answer-to-save-brand/ http://iamia.wordpress.com/2008/06/06/answer-to-save-brand/ บังเอิญว่าสอดคล้องกับบทความนี้พอดีเลยครับ