To be “My Blythe”

เสน่ห์หลักของ Blythe คือการทำให้เจ้าของไม่รู้สึกเบื่อกับหน้าตาเดิมๆ หรือแม้แต่ให้ Blythe มีหน้าตาอย่างที่เจ้าของอยากให้เป็นด้วยการ Custom หรือแปลงโฉม ตั้งแต่ ผิวหน้า ตา จนถึงริมฝีปาก การมี Blythe จึงไม่เพียงทำให้มีความสุข และบางคนรู้สึกไม่ตกเทรนด์เท่านั้น แต่เพราะการ Custom ทำให้ตอบสนองความต้องการ “ความแตกต่าง” ที่มีอยู่ในใจของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ว่าแม้จะมี Blythe เหมือนคนอื่น แต่ก็ต้องเป็น Blythe เฉพาะแบบของฉันเท่านั้น

“ศิริธร และ ธนพัฒน์ อุปเสน” เพิ่งได้รับข่าวดีล่าสุดจากญี่ปุ่นเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า Blythe ที่เขาทั้งสองแต่งหน้า ปรับโฉม (Custom) ในนามของทีม Lovely Creation ที่มีเพื่อนร่วมทีมอีก 2 คนที่ทำเสื้อผ้าและผม ชนะประกวด Blythe Beauty Contest 2009 ในอันดับ 2 ที่ญี่ปุ่น ซึ่ง “คุ้มค่า” ในความรู้สึกของเขาทั้งสองอย่างมาก หลังจากที่หลายเดือนที่ผ่านมาพวกเขารับจ้าง Custom น้อง Blythe ให้กับลูกค้ามาแล้วหลายคน

การ Custom หน้า Blythe เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจของสามีภรรยาคู่นี้ ที่ทำรายได้เฉลี่ยวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท หรือหากยิ่ง Custom ได้หลายตัว ก็ยิ่งมีรายได้มากขึ้น แม้จะเทียบไม่ได้กับรายรับหลายหมื่นบาทต่อวันที่ทั้งคู่ได้จากธุรกิจร้านอาหารย่านถนนพระอาทิตย์ แต่ Blythe ก็เติมเต็มความสุขให้พวกเขาได้เต็มที่ เช่นเดียวกับอีกหลายคนในวงการที่รับ Custom Blythe

วัสดุของ Blythe ที่ทำมาจากพลาสติกเอื้อต่อการขัดเกลาใหม่ ซึ่งถือเป็นความจงใจที่ทำให้ Blythe แต่ละตัวสามารถเปลี่ยนได้ตามที่เจ้าของต้องการ นอกเหนือจากสีตา ที่เป็นจุดเด่นที่ตัวหนึ่งมีกลไกภายในที่ให้เจ้าของสามารถดึงเชือกจากข้างหลังศีรษะสลับเปลี่ยนได้ 4 สี

การ Custom ตุ๊กตา Blythe สามารถทำได้ตั้งแต่เปลี่ยนสีผิว จากมันวาวให้เป็นผิวด้าน ที่ดูนุ่มนวลกว่า สามารถเปลี่ยนวิกผม สีนัยน์ตา เพนต์เปลือกตา คิ้ว ปัดแก้ม แต่งรูปร่าง และสีของริมฝีปาก และอื่นๆ อีกรวมกว่า 20 รายการ หรือหากใครทำน้อง Blythe หล่นตกแตก ก็สามารถซ่อมปิดรอยแผลได้ ด้วยราคาที่ต่ำสุดในหลักร้อยบาท จนถึงสูงสุดเกือบ 2,000 บาทต่อรายการ ซึ่งมีคนรัก Blythe จำนวนมากที่บางครั้งซื้อ Blythe มาตัวหนึ่ง รู้สึกว่าแพงแล้ว แต่ก็ยอมจ่ายอีกก้อนหนึ่งที่อาจแพงกว่าเพื่อ Custom ให้เป็นแบบที่ตัวเองชอบ

นี่คือเสน่ห์ของ Blythe ที่ทำให้เจ้าของรู้สึกได้ว่ามีตุ๊กตาที่แตกต่างเฉพาะในแบบที่ตัวเองต้องการ นอกเหนือจากการใช้เสื้อผ้าที่ทำให้ตุ๊กตาดูมีชีวิตชีวามากขึ้น จนทำให้อาชีพใหม่นี้เติบโตอย่างรวดเร็วในไทย แม้ว่าเจ้าของ Blythe บางคนจะส่งไปทำที่ญี่ปุ่นและฮ่องกงมากกว่า อย่างดาราดังอย่าง “ชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ต” ที่สะสม Blythe เป็นร้อยตัว และมีหุ้นร้านจำหน่าย Blythe ที่สยามพารากอน ก็ส่ง Blythe หลายตัวไป Custom ที่ฮ่องกงมาแล้ว

นัก Custom Blythe ที่เป็นที่รู้จักในวงการนี้ ยังมี “เบญจพร อณิรักษ์กุล” ผู้จัดการร้านลีโอ ทอย ที่นอกจากได้ลิขสิทธิ์เป็น Official Shop ของ Blythe แล้ว เธอยังบินไปเรียนเทคนิคการ Custom กับอาจารย์คนหนึ่งที่ญี่ปุ่น และทุกวันนี้ก็มี Blythe ที่รอให้เธอ Custom อีกจำนวนมากเช่นกัน

“ธนพัฒน์” บอกว่าการ Custom เป็นงานศิลปะที่ใช้ทักษะการแกะสลัก ซึ่งโดยพื้นฐานของ “ธนพัฒน์” ที่จบการศึกษาด้านงานศิลป์มาอยู่แล้ว จึงไม่เหนือความสามารถนัก โดยเฉพาะส่วนที่ยากที่สุดอย่างการแต่ง “ริมฝีปาก” หรือที่เรียกกันว่า “เหลาปาก” ที่ไม่ว่าเจ้าของอยากให้ยิ้มแบบหวาน ยิ้มเซ็กซี่ หรือยิ้มเห็นฟัน ก็ทำให้ได้

การบอกปากต่อปาก การเข้าร่วมในกิจกรรมคนรัก Blythe ของ “ศิริธร” หลังจาก “ศิริธร” ตกหลุมรัก Blythe เป็นครั้งแรกเมื่อประมาณปีกว่าที่ผ่านมา และการใช้ช่องทางโปรโมตผลงานผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ “Multiply” ทำให้ตั้งแต่ต้นปีมี Blythe ถูกส่งมาจากทั่วประเทศรอให้ “ธนพัฒน์” แปลงโฉม เฉลี่ยเดือนละประมาณ 20 ตัว โดยลูกค้าคนหนึ่งต้องรอคิวประมาณ 3 อาทิตย์ถึง 1 เดือน จึงจะได้น้อง Blythe คืน

น้อง Blythe ที่ถูกแปลงโฉมแล้ว ทำให้เจ้าของมีความสุข และยังทำให้เกิดเรื่องราวต่อเนื่องในกลุ่มเพื่อน เพราะเจ้าของ Blythe จะถ่ายรูปขึ้นเว็บอวดเพื่อนๆ ในเครือข่ายเดียวกัน หรือพาไปอวดถ้าหากมี Meeting Party กัน Blythe ที่เป็นแบบเฉพาะตัวของเจ้าของแต่ละคนจึงเป็นหนึ่งในจุดเชื่อมโยงให้ไม่รู้จบ