สร้างสมดุล

หลังจากประสบความสำเร็จกับแบรนด์ “โออิชิ” ทั้งในแง่ยอดขาย และแคมเปญที่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย นับตั้งแต่รวยฟ้าผ่า จนถึง ไปแต่ตัว ทัวร์ยกแก๊งกับโออิชิ ภาค 2 ซึ่งทำให้ยอดขายเครื่องดื่มโออิชิในช่วงซัมเมอร์เติบโต 18% หรือทำยอดขายได้กว่า 1,100 ล้านบาท ใน 3 เดือน (มีนาคม-พฤษภาคม 2552) ครองส่วนแบ่งการตลาด 64% เป็นอันดับ 1 เช่นเคย จากมูลค่าตลาดรวม 4,800 ล้านบาท

ล่าสุดโออิชิ กรุ๊ป เตรียมเปิดตัวธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น KAZOKUTEI ซึ่งซื้อแฟรนไชส์มาจากญี่ปุ่นเพื่อรักษาสมดุลของ 2 แผนกธุรกิจ

ปัจจุบันยอดขายจากเครื่องดื่มมีมากถึง 55% ขณะที่ร้านอาหารอยู่ที่ 45% ตันต้องการให้สัดส่วนเป็น 50:50 ภายในปี 2553

ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บอกว่า “เราจำเป็นต้อง Diversify เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แรกเริ่มโออิชิมีรสต้นตำรับเพียงรสเดียว ขายมาตั้งนาน จนกระทั่งมาคิดกันใหม่ว่าควรจะออกรสชาติอื่นๆ ด้วย จนวันนี้รสชาติที่ขายดีที่สุดคือรสข้าวญี่ปุ่น และทุกวันนี้ถึงแม้ร้านอาหารญี่ปุ่นภายใต้แบรนด์ของเราจะขายดี แต่ต้องเตรียมการรองรับไว้ด้วยการหาแบรนด์ใหม่เข้ามาเสริม แต่โออิชิคงไม่ทำเหมืองแร่ (หัวเราะ)”

ขณะที่ “ชาบูชิ” เป็น Rising Star ต้นปีที่ผ่านมาโออิชิ กรุ๊ป เปิดตัวร้านอาหารญี่ปุ่นแบบ Cafeteria Style ที่เป็น Self Service ซึ่งเป็นแฟรนไชส์จากญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ภายใต้ชื่อ “ไมโดะ โอกินิ โชกุโดะ” ที่ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เป็นสาขาแรก และกำลังจะเปิดสาขาที่ 2 ที่เดอะมอลล์ บางแค

ตัน บอกว่า “KAZOKUTEI” (คาโซกูเตะ) เป็นแบรนด์อันดับ 1 ของร้านอาหารประเภทอุด้งและโซบะในญี่ปุ่น โดยมีตำนานเริ่มต้นจากโอซากา ปัจจุบันดำเนินธุรกิจมา 60 ปี มีสาขาอยู่ทั่วญี่ปุ่นกว่า 200 แห่ง และมีแฟรนไชส์ในออสเตรเลีย จีน และสิงคโปร์ ในปีแรกจะเปิด 5 สาขา ใช้เงินลงทุน 50 ล้านบาท และภายใน 5 ปีแรกจะเปิด 20 สาขา โดยเล็งทำเลไว้หลายที่ทั้งสาขาแบบ Stand Alone ที่สีลม หรือย่านที่มีชาวญี่ปุ่นอยู่เยอะ รวมถึงภายในศูนย์การค้าด้วย

วัฒนธรรมการทานอาหารญี่ปุ่นของคนไทยได้รับการพัฒนาเป็นอย่างมาก สังเกตได้จากร้านอาหารญี่ปุ่นที่แบ่งแยกย่อยตามประเภทชนิดอาหารได้เปิดบริการเพิ่มขึ้น เช่น ราเมง ชาบู ซูชิบาร์ เทปันยากิ และแกงกะหรี่ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมคออาหารญี่ปุ่นที่เริ่มมีการเลือกรับประทานแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

การตลาดของโออิชิจึงต้องหันมาให้น้ำหนักกับร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น โดยใช้งบราว 21 ล้านบาท จัดแคมเปญ “ซูโก้ย…โซ้ยแหลก” เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ใช้บริการร้านในโออิชิ กรุ๊ป ครบ 100 บาท ลุ้นชิงซูชิทองคำ หนักรวม 100 บาท เพื่อตอกย้ำ Positioning “King of Japanese Restaurant” ซึ่งภายในปีนี้คาดว่าจะมีจำนวนทั้งสิ้น 109 สาขา

ด้านธุรกิจส่วนตัว ตันยังหลงใหลกับลงทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีก หลังลงทุนบานาน่า สแควร์ และมังกี้โลตัสที่ลพบุรีไปแล้ว ล่าสุดลงทุนร่วมกับ SF ในโครงการLa Nimmanไลฟ์สไตล์มอลล์ บนถนนนิมมานเหมินท์ จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจของวริษา ภาสกรนที ลูกสาวคนโตที่ตันช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด คือโรงแรมสไตล์โมร็อกโก ชื่อ Villa Maroc ที่ปราณบุรี และร้านอาหารไทย Easily ทองหล่อซอย 10 รวมถึงการมีหุ้นในผับดัง Funky Villa ด้วย

ทุกวันนี้ตันยังคงสนุกกับการลงทุนแบบ Diversify ทั้งในฐานะมืออาชีพและเจ้าของธุรกิจต่อไป แต่เขายืนยันว่าต้องอยู่บนพื้นฐานของความตั้งใจและเชี่ยวชาญ

ร้านอาหารญี่ปุ่นยังมาแรง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า แม้ธุรกิจร้านอาหารต่างประเทศในปี 2552 จะมีการเติบโต 3-5% ลดลงจากปี 2551 ที่เติบโต 10-15% แต่ธุรกิจร้านอาหารต่างประเทศโดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่นยังคงมาแรงและได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง จากผลสำรวจพบว่าร้านอาหารญี่ปุ่นเป็นร้านอาหารยอดนิยมอันดับ 1 ของคนไทย โดยปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1,000 แห่งทั่วประเทศ โดยเริ่มขยายตัวออกสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น

มูลค่าตลาดร้านอาหารญี่ปุ่น 7,000 ล้านบาท
โออิชิ กรุ๊ป 37%
ฟูจิ เซ็น โอโตยะ และอื่นๆ 63%

ที่มา : ยูโรมอนิเตอร์