แจ่มใส…เจาะใจชุมชนนักอ่าน

ด้วยความที่สำนักพิมพ์แจ่มใสกำเนิดมาจากชุมชนคนชอบอ่านชอบเขียนเรื่องสั้นและนิยายบนอินเทอร์เน็ต สื่อออนไลน์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ “วรงค์ชนก เทียมทินกฤต” ผู้จัดการแผนก e-Marketing และทีมงานเลือกใช้มาตลอด

“ถ้าเราทำแค่เว็บไซต์ jamsai.com ก็จะได้เฉพาะกลุ่มลูกค้าเก่า แต่ถ้าเราใช้ Social Network จะได้นักอ่านใหม่ๆ เพราะจะช่วยขยายการรับรู้เกี่ยวกับข้อความที่แจ่มใสเผยแพร่ออกไป มากกว่าการมีแค่เว็บไซต์เพียงอย่างเดียว” วรงค์ชนกชี้ชัดถึงกลุ่มเป้าหมายและยุทธศาสตร์บน Social Network ของแจ่มใส

ฐานอีเมลลูกค้าเดิม เป็นหน้าด่านแรกของรายชื่อ Follower บนทวิตเตอร์ เมื่อแจ่มใสจัดโปรโมชั่น หรืออีเวนต์ จะทวีตข้อความให้กับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวเป็นระยะๆ จุดดีของทวิตเตอร์ หากข้อความโดนใจ โอกาสที่ข้อความเหล่านี้จะถูกส่งต่อจาก Follower ไปยังคนอื่นๆ ย่อมมีมากตามไปด้วย

เนื้อหาข้อความที่แจ่มใสใช้บน Twitter จะไม่เป็นทางการ เป็นลักษณะของการ “ชวนคุย” แบบเพื่อนถึงเพื่อน ไม่เกี่ยวกับหนังสือโดยตรง เช่น ถามว่าอยากอ่านเรื่องราวแบบไหน ถามว่าฝนตกแบบนี้รู้สึกอย่างไรกันบ้าง? เวลาเหงาๆ คิดถึงใคร? และประเด็นที่โดนใจวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาวอีกมากมาย กระตุ้นให้เกิดการบอกต่อ หรือ RT ดึงคนอื่นๆ ที่ไม่เคยเป็นลูกค้าหรือแม้แต่ไม่เคยรู้จักแจ่มใสเข้ามาได้

จากนั้นจึงดึง “คำคม” ในหนังสือเล่มต่างๆ มาโพสต์เป็นข้อความในทวิตเตอร์ Twitter ในนาม @Jamsai เลือกสรร เพื่อให้สะดุดตา กระตุ้นความรู้สึกผู้ที่ได้ผ่านตาพบเห็น หลายครั้งก็จะส่งชื่อหนังสือตามขึ้นไปเฉลยในข้อความต่อมาด้วย เป็นวิธีการโปรโมตหนังสือแบบ “เนียนๆ” ด้วยข้อความสั้นซึ่งก็คัดมาจากหนังสือเล่มนั้นเอง

นอกจากโปรโมตหนังสือแล้ว วรงค์ชนกยังใช้ทวิตเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมการตลาดต่างๆ เช่นแจ้งที่อยู่บูธแจ่มใสในงานหนังสือต่างๆ แจ้งข่าวโปรโมชั่นลดราคาหนังสือ แนะนำหนังสือใหม่ ส่งลิงค์ให้เข้าไปทดลองอ่านในเว็บ jamsai.com

“การบอกคนอื่นว่าโปรดักต์ของเราดียังไง ไม่เท่าให้เค้ามารู้เองจะดีที่สุด” วงศ์ชนก บอก

และที่ขาดไม่ได้คือการตอบกลับผู้อ่าน ที่วรงค์ชนกยึดหลักว่าต้องตอบให้ครบทุกคำถามที่เข้ามา และต้องพยายามจำชื่อเล่นของทุกคนบนทวิตเตอร์แจ่มใสให้ได้ และต้องจะพูดคุยเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจด้วย เพื่อผูกใจกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะวัยรุ่นลงไปถึงรุ่นเด็ก

“เด็กๆ ที่คุยในเว็บบอร์ดแจ่มใส, ใน hi5, Twitter ถามได้ทุกเรื่องแม้แต่ถามการบ้าน” วรงค์ชนกเล่าความประทับใจของเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกได้ว่า “แจ่มใส” ไม่ว่าจะบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ไหน ก็พร้อมจะเป็นเพื่อนที่ดูแลกันได้อย่างแท้จริง

ทีม e-Marketing ของแจ่มใส จึงแบ่งงานดูแลตั้งแต่เครื่องมือออนไลน์ต่างๆ ตั้งแต่ เว็บบอร์ด, hi5, และ Facebook อย่างชัดเจน ส่วนวงศ์ชนกจะดูแลทวิตเตอร์และภาพรวมงานทั้งแผนก เนื่องจากเว็บแต่ละประเภทจะมีกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน