Localism จุดระเบิด “ชลบุรี เอฟซี”

“ชลบุรี เอฟซี” ทีมฟุตบอลที่เคยสร้างนิยมเฉพาะใน “ท้องถิ่น” ของจังหวัดชลบุรี แต่กลายเป็น “จุดแข็ง” ที่คอบอลทั่วประเทศรู้จักชั่วข้ามคืน หลังได้แชมป์ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก เมื่อปี 2550 “ฉลามชล”ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้สโมสรฟุตบอลเกือบทุกแห่งเชื่อมั่นว่า ทีมฟุตบอลสามารถสร้างให้ “ขาย” และ “ทำเงิน” ได้ และเมื่อวงการฟุตบอลของเมืองไทยเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนที่ต้องทำทีมให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น “ชลบุรี เอฟซี” จึงกลายเป็นโมเดลการสร้างทีมที่หลายสโมสรเดินตาม จนฤดูกาลไทยฯ ลีกในปี 2552 คึกคักเงินสะพัด และคนดูล้นหลามอย่างชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่าวงการฟุตบอลไทยจะเดินทางมาถึงจุดนี้

หากเปรียบ “ชลบุรี เอฟซี” เป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์หนึ่ง ถือว่าแบรนด์นี้ผ่านกระบวนการสร้างแบรนด์มาแล้วอย่างครบถ้วน ด้วยกลยุทธ์การตลาดจากผู้สร้างทีมที่ใช้แค่ความรู้สึก หรือเซนส์ ที่มาจาก Gut Feeling เท่านั้น ทั้งหมดสามารถประมวลได้เป็น 4P ในแบบเฉพาะของชลบุรี เอฟซี ผ่าน “อรรณพ สิงห์โตทอง” ในฐานะผู้ก่อตั้ง และผู้จัดการทีม

Passion & Fund ความหลงใหล + ทุน (การเมือง) หนา

จากความมุ่งมั่นของ “อรรณพ” และ “ธนศักดิ์ สุระประเสริฐ” เพื่อนร่วมรุ่นในฐานะศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา ซึ่งมีพี่น้องตระกูล “คุณปลื้ม” ครอบครัวผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองในท้องถิ่นเมืองชลฯรวมอยู่ด้วย ทำให้การสร้างทีมฟุตบอลของโรงเรียนระดับไม่เกินมัธยม 6 ไม่ใช่เป็นเรื่องแค่การช่วยเหลือสังคมเท่านั้น เพราะนโยบายของโรงเรียนที่อยากมีทีมฟุตบอลไปแข่งขันเพื่อสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน บรรลุเหนือความคาดหมายเมื่อทีมได้แชมป์ฟุตบอลนักเรียนกรมพลศึกษา รุ่น 18 ปี ข เมื่อปี 2535 และปีต่อมาในรุ่น 18 ปี ก และอีกหลายๆ แชมป์ในทุกสนามการแข่งขัน ทีมจึงดังขึ้น ขณะเดียวกันกลุ่มของ “อรรณพ” จึงเห็นโอกาสสร้างทีมนักฟุตบอลระดับอาชีพมากขึ้น เพื่อนำไปสู่รายได้ในอนาคต

ความมุ่งมั่นนี้ เป็นความหลงใหล (Passion) จากกลุ่มผู้ก่อตั้งทีม ที่ไม่ได้ชอบเล่น หรือดูเกมฟุตบอล แต่มีความรู้สึกอยากสร้างทีมฟุตบอล ที่ “อรรณพ” บอกว่า ที่มานี้ไม่ได้มีเหตุผลมากนัก เพียงแต่อยากให้เด็กๆ ในจังหวัดเล่นฟุตบอล และสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน โดยให้เด็กทั้งเรียนฟรี อยู่ฟรี ส่วนเงินทุน (Fund) ก็มาจากเพื่อนๆ ในกลุ่ม ที่เป็นทั้งนักธุรกิจในท้องถิ่น และนักการเมือง เมื่อนักฟุตบอลโตขึ้น ก็ต้องมีที่รองรับให้เขา “ทีมสโมสรชลบุรี เอฟซี” จึงเกิดขึ้น

ช่วงแรกของการทำทีมมีค่าใช้จ่ายไม่มากนัก เพราะจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงนักฟุตบอลอย่างมากก็วันละ 100 บาท ปีหนึ่งรวมๆ ไม่กี่แสนบาท ในปีแรกที่เล่นเป็นอาชีพในการแข่งขัน Provincial League (โปรลีก) เป็นตัวแทนจังหวัดไปแข่งขัน ค่าใช้จ่ายยังอยู่แค่ 2.7 ล้านบาท การเติบโตของทีมมาพร้อมกับการลงทุนที่เพิ่มขึ้น จนขณะนี้ต้นทุนทั้งเงินเดือนนักฟุตบอล เบี้ยเลี้ยง ตกเฉลี่ยคนละ 4-5 หมื่นบาท รวมไปถึงยังมีค่าจ้างโค้ช ทั้งผู้ฝึกสอน และเทรนเนอร์ตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา ปี 2552 ต้นทุนด้านนี้รวมแล้วสูงถึง 24 ล้านบาท หรือคิดเป็น 80% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ที่มาของงบค่าใช้จ่าย มีทั้งงบจากส่วนราชการในจังหวัด นักธุรกิจท้องถิ่น และที่สำคัญคือนักการเมืองที่ยังคงมีพี่น้อง “คุณปลื้ม” เป็นกระเป๋าหลัก ซึ่ง “วิทยา คุณปลื้ม” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ชลบุรี ในฐานะที่เป็นประธานสโมสรชลบุรี เอฟซี มาตั้งแต่ต้นบอกว่า โดยส่วนตัวสนับสนุนกีฬาของจังหวัดมานานหลายปี  ปีหนึ่งๆ ใช้งบไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยเฉพาะกับชลบุรี เอฟซี นอกเหนือจากที่มีพี่ชายคือ “สนธยา” ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา สนับสนุน รวมทั้งยังหนุนไปถึงทีมอื่นๆ ในจังหวัด ทั้ง ศรีราชา เอฟซี และ พัทยา ยูไนเต็ด ที่ต้องใช้ทุนส่วนตัวไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านบาทเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยคอนเนกชั่นของความเป็นนักการเมือง ยังทำให้แบรนด์ใหญ่อย่าง “เบียร์ช้าง” ไม่ปฎิเสธที่จะเป็นสปอนเซอร์หลักให้เมื่อมีการเจรจากัน

หากเปรียบเทียบกับการสร้างผลิตภัณฑ์สักแบรนด์หนึ่ง ที่เกิดจากความลุ่มหลงของผู้บริหารที่อยากให้แบรนด์นั้นๆ เกิดขึ้นในตลาดให้ได้ เมื่อมาพร้อมเงินทุนที่หนาพร้อมทุ่มเต็มที่ การเริ่มต้นจึงไม่ใช่เรื่องยาก และ “ชลบุรี เอฟซี” ก็ตอกย้ำให้เห็นถึงพื้นฐานข้อนี้

Product & Localism แข้งทองเกิด จุดติด “ท้องถิ่นนิยม”

การพัฒนาทีมซึ่งเปรียบเสมือน “โปรดักต์” ในวงการฟุตบอล คืออยู่ที่ตัว”ผู้เล่น” เป็นสำคัญ “อรรณพ” บอกว่าหลักการของเขา คือเขาเป็นผู้บริหารจัดการ ประสานกับผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ส่วนการสร้างประสิทธิภาพของทีมเขาให้”โค้ช” เป็นผู้ตัดสินทุกอย่าง ตั้งแต่การคัดเลือกตัวผู้เล่น การวางแผน “ผมไม่เข้าไปยุ่ง” แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การฝึกซ้อมอย่างจริงจัง และโค้ช ก็ต้องผ่านการเลือกของตัวเขาและผู้บริหารทีมทั้งหมด

จาก “ชัยชนะ” ที่ทีมนักเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา ทำได้ ต่อเนื่องมาจนถึงโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ที่กลุ่มของ “อรรณพ” เข้าไปบริหารจัดการจนกวาดแชปม์รายการใหญ่ๆ มาได้ เช่น แชมป์ฟุตบอลนักเรียนกรมพลศึกษา รุ่นอายุ 16 ปี ก และ 18 ปี ก แชมป์ควิกฟุตซอลจูเนียร์ แชมป์ฟุตบอลเยาวชนโค้กคัพ แชมป์ฟุตบอลนักเรียนนักศึกษาชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย แชมป์ฟุตบอลรายการไนกี้ พรีเมียร์คัพ 2004 ยิ่งทำให้ทีมของจังหวัดชลบุรีถูกพูดถึงมาก และมีชื่อเสียง

การได้ประลองฝีเท้าบนสนามหลายรายการ คือประสบการณ์ที่ดีสำหรับนักเตะ ชัยชนะคือกำลังใจ และที่สำคัญเป็นความภูมิใจของคนท้องถิ่นชลบุรี ขณะเดียวกันนักเตะดีๆ เก่งๆ และโค้ช ต่างก็พร้อมที่จะร่วมทีม ตัวอย่างเช่น 2 ผู้เล่นของทีมชลบุรี เอฟซี คือ โกสินทร์ หรือ สินทวีชัย หทัยรัตนกุล ผู้รักษาประตู ที่ยังเป็นผู้เล่นของทีมชาติไทยด้วย และกัปตันทีม ภิภพ อ่อนโม้ ซึ่งอยู่กับทีมมานาน โดยมีพื้นฐานความเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชาด้วยกันทั้งคู่

จุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับ “ชลบุรี เอฟซี” ในการพิสูจน์ได้ว่าสามารถก้าวเข้าสู่เป็นฟุตบอลอาชีพได้ คือเมื่อได้แชมป์ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก เมื่อปี 2550 จากปี 2549 ที่เพิ่งเข้ามาและอยู่ในอันดับ 8 เท่านั้น โดยมีกุนซือ “จเด็ด มีลาภ” เป็นหัวหน้าโค้ช พาเข้าคว้าถ้วย พร้อมกับพลังของกองเชียร์คนชลบุรีเกือบทั้งจังหวัด

“อรรณพ” บอกว่า ชลบุรี เอฟซี กับความเป็นท้องถิ่นนิยม ทำให้เกิดความภักดีในทีมได้ไม่ยาก กลายเป็นจุดเชื่อมโยงของคนในจังหวัด “คุณไปดูได้เลย ถ้าหากขับรถไปแล้วรถเสีย มีสติ๊กเกอร์ของทีมฉลามชลติดอยู่ จะมีแฟนบอลเข้ามาช่วยเหลือโดยทันที หรือถ้าไปซื้อของ ใครร้องเพลงเชียร์ของทีม ก็จะได้รับบริการ ของแถมจากพ่อค้า แม่ค้าได้”

แม้ทุกวันนี้ทีมชลบุรี เอฟซี จะมีผู้เล่นต่างชาติประมาณ 5 คนเข้ามาเป็นส่วนผสม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นท้องถิ่นนิยมหายไป ในทางกลับกัน “อรรณพ” บอกว่า เป็นการสร้างสีสันให้กับทีมมากขึ้น จนปัจจุบันเริ่มมีแฟนบอลกลุ่มใหม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิง

นอกจากมีผู้รักษาประตูของทีม ที่ติดอยู่ในทีมชาติอย่าง ”สินทวีชัย” เป็นขวัญใจแฟนคลับแล้ว ต่างชาติที่กลายเป็นดาราของทีมยังมี “ไมเคิล เบิร์น” ชาวเวลส์ ประเทศอังกฤษ ที่เพิ่งซื้อตัวมาจาก “นครปฐม เอฟซี” ด้วยค่าตัว 6 แสนบาท

“ยังไงความนิยมก็ยังคงอยู่ เพราะเราใช้ชื่อทีมมีคำว่า “ชลบุรี” อยู่แล้ว เหมือนถ้าคุณไปอยู่ที่ไหน มีข่าวเกี่ยวกับกรุงเทพฯ หรือมีข่าวเกี่ยวกับไทยแลนด์ คุณก็ต้องสนใจฟัง เหมือนกันคนชลบุรี เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับทีมฟุตบอลชื่อ “ชลบุรี เอฟซี” คนชลบุรีก็ต้องสนใจ นี่คือท้องถิ่นนิยม”

จากผลของคุณภาพสินค้าตัวนี้ ทำให้ผู้ชม แฟนฟุตบอลเกิดความรู้สึกว่าเมื่อพูดถึง หรือได้ใช้แล้วเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ และพร้อมจะบอกต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเชื่อมโยงกับความเป็น “ท้องถิ่นนิยม” ด้วยแล้ว จุดระเบิดสำหรับการรักใน “ทีมชลบุรี เอฟซี” จึงยั้งไม่อยู่

People & Fanclub
มวลชนช่วยให้เกิด

“ทำยังไงให้คนรักทีม” เป็นโจทย์ที่ “อรรณพ” ตั้งไว้เมื่อ “ชลบุรีเอฟซี” เริ่มสตาร์ทในช่วงแรกๆ แล้ว เพราะเขารู้ดีและมักจะบอกเสมอกับใครก็ตามที่มาปรึกษาเรื่องการสร้างทีมว่า “ฟุตบอลสำคัญที่สุดคือแฟนบอล”

“อรรณพ” เริ่มด้วยวางแผนการสร้างแบรนด์ ผ่านทั้งสีเสื้อประจำทีม และลายเสื้อที่ต้องแตกต่างจากทีมอื่น และเห็นชัด จึงมาลงตัวที่ลายทางน้ำเงิน ฟ้า ที่โดดเด่นเมื่อลงแข่งในสนาม และโลโก้ “ฉลาม” ที่สะท้อนความเป็นจังหวัดแห่งทะเล
นี่คือสื่อเริ่มต้นที่นำมาสู่การสร้างแฟนคลับโดยเริ่มด้วย ให้แฟนบอลใส่เสื้อ และสติ๊กเกอร์ติดรถ ซึ่งทั้งหมดใช้วิธีการเผยแพร่โดย “แจกฟรี” ในระยะเริ่มต้น เพราะกลยุทธ์ “การแจกฟรี” ให้กลุ่มคน จะทำให้อีกกลุ่มหนึ่งสงสัยและถามถึง

“อรรณพ” บอกว่า ช่วงแรกๆ เมื่อมีการแข่งขันนัดต่างๆ เขาจะเลือกเด็กแถวบ้านซึ่งเขาเรียกว่า “หน้าม้า” ประมาณ 20 คน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 5 คน ไปดึงเพื่อนๆ มา บางครั้งมีรถยนต์ให้ มีค่ารถ ค่าน้ำมัน ที่สำคัญแจกเสื้อเชียร์ให้ มีกลอง มีแผ่นป้ายเชียร์ ใช้ข้อความโดนๆ อย่างคำว่า “ฉลามชลแชมป์” แขวนไว้หน้ากองเชียร์ มีเพลงเชียร์ เมื่อทีมเล่นดีขึ้น คนก็เริ่มเข้ามาดูมากขึ้น มาคุยมากขึ้น จากหน้าม้า ก็เหลือแต่ “ตัวจริง” ซื้อเสื้อจริง ไม่ต้องแจก

แต่บรรยากาศเปลี่ยนไปในเมืองชลฯ อย่างเห็นได้ชัด การใส่เสื้อเชียร์ที่มีโลโก้ฉลามชล กลายเป็นความภูมิใจของคนใส่ จากเมื่อก่อนที่ “อรรณพ” บอกว่า ใครจะกล้าใส่ เพราะเมื่อก่อนมีแต่คนคลั่งฟุตบอลอังกฤษ แมนฯยู ลิเวอร์พูล ที่ใครๆ ก็อยากได้เสื้อมาใส่

“พิพัฒน์ ชะเอม” หรือที่รู้จักกันในฉายา “หนู ไดนามิค” เป็นแฟนคลับกลุ่มหนึ่งของฉลามชล ที่เฝ้าเชียร์ทีมสุดรักของเขา เพราะเหตุผลคือ
1. เขาเป็นคนท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี และรักในทีมชลบุรีเอฟซี
2. เพื่อนของเขาก็เล่นอยู่ในทีมนี้ด้วย

และ 3. ที่สำคัญคือ นักเตะ และผู้จัดการทีมเป็นกันเองไม่ถือตัวกับแฟนบอล ทำให้ไม่ว่าทีมของเขาไปแข่งที่ไหน ก็จะเดินทางตามไปเชียร์ ไม่ว่าจะจังหวัดไหน หรือแม้แต่ในต่างประเทศ

อารมณ์นี้ไม่ต่างจากแฟนคลับคนอื่นๆ อย่าง “ก้อง ไดนามิค” หรือ ธรรศ ผิวบาง ที่มีเวลาไม่มาก ก็ขับรถตามไปแม้จะทันเชียร์เพียงครึ่งหลัง และ “คมสัน แสงโพธิ์ หรือ เอ้ พ่อโอโน่” ที่ทีมชลบุรีเอฟซี ทำให้เขารู้สึกว่าอยากให้ลูกชายเป็นนักฟุตบอลอาชีพ และรู้สึกภูมิใจมากกว่าทุกครั้งที่ได้ใส่เสื้อ ชลบุรีเอฟซี

แฟนคลับอย่างพวกเขาบอกว่า แม้จะรู้ว่าการสร้างแฟนคลับจะมาจาก “หน้าม้า” ในช่วงแรกๆ แต่ทีมฟุตบอลนี้ทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกภูมิใจในท้องถิ่น ยังทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันกับทีม และมีเพื่อนมากขึ้น ในช่วงหลังนี้แฟนคลับจึงสร้างแฟนคลับกันเอง ผ่านสื่อเว็บไซต์ ผ่านการติดต่อสื่อสารกันปกติทั้งโทรศัพท์และการบอกต่อ รวมไปถึงการทำประโยชน์เพื่อสังคม อย่างการเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า

ปัจจุบันแฟนคลับของฉลามชลมีทุกวัย ผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 5% และแน่นอนเป็นชาวจังหวัดชลบุรีเกือบ 100% แฟนคลับ 1 คน จะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปชมการแข่งขันอย่างน้อย 100-200 บาท เฉพาะค่าตั๋วคือ 50 บาท และและหนังสือคู่มือการชมอีก 10 บาท และหากซื้อเสื้อ และซื้อเครื่องดื่มด้วยแล้วก็ต้องจ่ายไม่ต่ำกว่า 500 บาท

“ช้อป” หรือร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ถือเป็นจุดเชื่อมโยงแบรนด์กับแฟนคลับได้อย่างดี เพราะแฟนบอลแต่ละคนเมื่อชอบแล้วก็พร้อมทุ่มให้เต็มที่ “อรรณพ” บอกว่า หลายอย่างที่เราคาดไม่ถึงแฟนบอลก็สามารถทำได้ เหมือนอย่างที่สาวน้อยแฟนบอลคนหนึ่ง เดินเข้ามาในร้าน พร้อมขอลายเซ็น “อรรณพ” และบอกว่าเขาคือหัวใจของทีม เมื่อเจอตัวแล้วก็ต้องขอลายเซ็น

เธอเป็นคนเมืองชล แต่ไปทำงานที่ระยอง มาซื้อเสื้อที่ช้อปวันนั้นไป 4-5 ตัว พร้อมกับสกรีนโลโก้ของทุกแบรนด์ที่เป็นสปอนเซอร์บนตัวเสื้อ จุดละ 20 บาท หรือ 30 บาท จ่ายเพิ่มจากค่าเสื้อตัวละ 450 บาท

เหตุผลนี้ไม่มีอะไรมาก แต่ “อรรณพ” เล่าให้เห็นว่า นี่คือความหมายอย่างแท้จริงของความเป็นแฟนคลับคือ ”เสื้อ” ที่มีโลโก้ครบ ให้เหมือนเสื้อที่นักเตะใส่ลงสนาม เป็นสิ่งที่เกิดจากความรู้สึกที่ว่าทำอะไรก็ได้ให้เหมือนนักบอลที่เขาชอบ
ทุกวันนี้ ”อรรณพ” อาจไม่ได้ทุ่มเวลาไปกับการสร้างแฟนคลับเหมือนในช่วงแรกๆ แต่ในลิสต์เมมเบอร์มือถือของ

”อรรณพ” ก็มีเบอร์ของแฟนคลับอยู่หลายคน และพร้อมจะโทรหาทันทีถ้าต้องการระดมผล และแม้ ”แฟนคลับ” บางคนจะทำให้ ”ชลบุรี เอฟซี” เกือบเสียภาพลักษณ์ เมื่อเข้าไปทำร้ายสื่อมวลชนของ ”สยามกีฬา” เพราะไม่ยอมให้ดูภาพรีเพลย์ ในแมตช์แข่งกับ ”เมืองทอง ยูไนเต็ด” แต่ ”อรรณพ” ก็ต้องออกมาขอโทษสื่อ เพื่อฟื้นภาพลักษณ์ให้แฟนคลับด้วยตัวเอง และถึงอย่างไรเรื่องนี้คงจบเร็ว เพราะคนไทยลืมง่าย และที่สำคัญแฟนบอลชลบุรีเข้าใจกันก็พอ

สำหรับ ”ชลบุรี เอฟซี” จึงไม่ใช่เพียงแค่ทีมสโมสรฟุตบอลที่มีนักเตะเป็นผู้เล่นเท่านั้น แต่ยังมี ”แฟนคลับ” ที่เปรียบเสมือนผู้เล่น ”คนที่ 12” ของทีม หากไม่มีแฟนคลับ “ฉลามชล” ก็อาจไม่ดังเท่านี้

…“เกิดมาเพื่อเป็นแชมป์ เกิดมาเพื่อเป็นแชมป์ ชลบุรีเอฟซี ชลบุรีเอฟซี ชลบุรี…ฟุตบอลคลับ”

“ชลบุรีเอฟซี เห่ เฮ ชลบุรีเอฟซี เฮ้ เฮ ชลบุรีเอฟซี เห่ เฮ ชลบุรีเอฟซี เฮ้ เฮ แม็ตช์ไหนก็ไม่เคยถอย…ฉลามน้อยจะต้องเป็นแชมป์”…

เสียงเพลงเชียร์ และกลองที่รัวอย่างเร้าใจจากแฟนคลับที่ไม่เพียงแต่ทำให้นักเตะในสนามรู้สึกฮึกเหิม และมีกำลังใจเท่านั้น แต่เสียงนี้ยิ่งดังเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ ”อรรณพ” รู้ว่า ชลบุรีเอฟซี ยังเป็นสินค้าที่มีกลุ่มเป้าหมายพร้อมซื้อตลอดเวลา

Profit & Champion เป็นแชมป์ สปอนเซอร์ก็มา

“ชลบุรี เอฟซี” กลายเป็นโปรดักต์ที่มีจุดเด่น และต่างจากคู่แข่งในวงการฟุตบอลอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2550 เมื่อผลออกมาที่ได้เป็นแชมป์ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก ขณะที่สโมสรฟุตบอลอื่นๆ กำลังหาฐานที่มั่น เตรียมทีมเพื่อให้เข้าเกณฑ์ของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย แต่ “ชลบุรี เอฟซี” กำลังขยายธุรกิจ และสปอนเซอร์ก็วิ่งเข้าหามากขึ้น

ปีแรกๆ ของการทำทีมชลบุรี เอฟซี แทบจะไม่มีสปอนเซอร์ หรือแม้จะมี ก็มาจากคอนเนกชั่นการเมือง อย่าง ”เบียร์ช้าง” แต่เมื่อผลงานดี แบรนด์ใหญ่ก็พยายามวิ่งเขาหา ทั้งกลุ่มสินค้ารถยนต์ จักรยานยนต์ หรือแม้แต่ขนมขบเคี้ยว คิดกระทั่งจะเขี่ย ”ช้าง” ออกจากอกเสื้อฉลามชล แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อ ”ช้าง” ไม่ถอย กลับรุกหนักมากขึ้นด้วยการยอมจ่ายเกือบปีละ 10 ล้านบาท นาน 3 ปี เพื่อเป็นสปอนเซอร์หลักให้กับชลบุรีเอฟซี จากปกติการเซ็นสัญญาจะนานแค่ปีต่อปี เพราะเจ้าของสินค้าต้องดูผลงานของทีม ซึ่งทีมใดผลงานดี ได้เข้ารอบลึก ก็จะยิ่งทำให้โลโก้สปอนเซอร์ได้วิ่งโชว์ในสนามมากขึ้น

ตัวเลขรายได้จากสปอนเซอร์ กลายเป็นรายได้หลักของทีมในที่สุด ตั้งแต่ปี 2551 ที่สามารถทำได้เกือบ 20 ล้านบาท และปี 2552 กว่า 20 ล้านบาท แม้จะไม่พอกับค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า 30 ล้านบาท แต่นี่คือปรากฎการณ์ของทีมฟุตบอลที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากสินค้าบริการที่หวังจะใช้กลยุทธ์สปอร์ตมาร์เก็ตติ้งมาสร้างแบรนด์และเพิ่มยอดขาย

หลังจบฤดูกาลปี 2552 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แม้ ”ชลบุรีเอฟซี” จะตกไปอยู่ในอันดับ 2 เป็นปีที่ 2 “อรรณพ” ก็ยังไม่มีเวลาว่างนัก เพราะมีธุรกิจที่ต้องเจรจามากมาย โดยเฉพาะกับสปอนเซอร์รายใหม่ๆ ที่ต่างเห็นโอกาสมากขึ้น จากการถ่ายทอดสดเกือบทุกแมตช์ผ่านช่อง 9 และช่อง 11 และแบรนด์ของชลบุรี เอฟซี ก็เป็นที่รู้จักนอกพื้นที่จังหวัดชลบุรีแล้ว

“อรรณพ” ยังต้องทำหน้าที่เดินหน้ากับการขยายสาขาร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกของทีมฉลามชล ซึ่งมีตั้งแต่เสื้อ นาฬิกา กระเป๋า ไปจนถึงสมุดจด ซึ่งปัจจุบันเปิดร้านเป็นห้องแถวที่บริเวณห้างเฉลิมไทย กลางเมืองชลบุรีแห่งเดียว แต่ต่อไปจะมีที่เซ็นทรัล ชลบุรี และจะเปิดร้าน Stand Alone ริมถนนสุขุมวิท เป็นร้านขนาดใหญ่ โชว์แบรนด์ของฉลามชลให้เห็นชัดเจน นี่คืออีกหนึ่งช่องทางรายได้ ที่จะเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่ทำได้ 9 ล้านบาท จากช่องทางจำหน่ายที่ส่วนใหญ่มาจากการจำหน่ายที่สนามเมื่อมีการแข่งขันในแต่ละแมตช์เท่านั้น

นอกหนือจากนี้ยังไม่นับค่าตั๋วที่จะจำหน่ายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่ทำได้ 3 ล้านบาท เพราะปี 2552 ชลบุรีเอฟซี จะเข้าใช้สนามใหม่ของวิทยาลัยพลศึกษา ที่สามารถจุคนได้ 12,000 คน จากเดิมที่ใช้สนามขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่จุผู้ชมได้ 9,000 คน รวมไปถึงรายได้จากการปล่อยนักเตะบางคนที่อาจถูกซื้อตัว ที่ค่าตัวอาจสูงถึง 3 ล้านบาท อย่าง ”อาทิตย์ สุนทรพิธ”

สำหรับรายได้ทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่นั้น ”อรรณพ” บอกว่า ไม่สามารถประเมินได้ แต่ที่แน่ๆ คงเพิ่มขึ้นเท่าตัวอย่างแน่นอน

ความสำเร็จของทีมชลบุรี เอฟซี ยังส่งผลไปถึงนักการเมืองที่สนับสนุนทีมมาตั้งแต่ต้น เสียงเชียร์บอลที่ดังกึกก้อง ได้กลายเป็นฐานคะแนนเสียงไปโดยอัตโนมัติ จนเขาเหล่านั้นยืนอยู่บนเส้นทางการเมืองได้อย่างราบรื่น ซึ่งคงไม่มีใครเข้าใจได้ดีไปกว่าครอบครัว ”คุณปลื้ม” จนเป็นแรงกระตุ้นให้นักการเมืองบ้านเราพาเหรดเข้ามาออกหน้าสนับสนุนสโมสรฟุตบอลกันจำนวนมาก

วันนี้หลายคนจึงมองว่า ”ชลบุรี เอฟซี” ประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย และ ”อรรณพ” เองก็ยอมรับว่ามาไกลกว่าที่หวังไว้ และเร็วกว่าแผน จนแทบจัดวางอะไรไม่ถูก เสมือนกับการทำประตูได้ตั้งแต่เปิดเกมได้ไม่ถึงนาที ที่สามารถข่มขวัญคู่แข่งได้อย่างดี แต่วันนี้เขาพร้อมจะเดินเกมต่อ เพราะนี่คือความหลงใหลที่เขายังคงเต็มที่ให้กับฟุตบอล และที่สำคัญคือคู่แข่งในสนามนี้มีมากขึ้น และต่างก็แข็งแรงเต็มที่ โดยบทสรุปของโมเดลความสำเร็จจากชลบุรี เอฟซี นี้
“อรรณพ” มองเห็นชัดเจนแล้วว่า “เมื่อทีมดี คนมาดูเต็มที่ เชียร์เต็มที่ นักบอลก็เล่นเต็มที่ ชนะ และสปอนเซอร์ก็จะมาเต็มที่เอง”

Key Success ชลบุรีเอฟซี

Passion&Fund
-ความมุ่งมั่นของผู้บริหารทีม
-ทุนสนับสนุนจากนักการเมือง

Product&Localism
-นำจุดแข็ง ”ท้องถิ่นนิยม” มาเป็นจุดขาย
-พัฒนาโปรดักต์คือทีมให้เก่ง
-จดทะเบียนเป็นบริษัทตามกฎเอเอฟซี เพื่อเข้าเกณฑ์ฟุตบอลอาชีพ บริหารจัดการได้มาตรฐานมากขึ้น
-หานักเตะต่างชาติเพิ่มจุดแข็งและสีสันของทีม

People&Fanclub
-การสร้าง ”แฟนคลับ”โดยเริ่มตั้งแต่แจกเสื้อให้ ”หน้าม้า”
-หา Touch Point กับแบรนด์ โลโก้ฉลามเพลงเชียร์ สัญลักษณ์สีฟ้า น้ำเงิน ลายทางจำหน่ายสินค้าที่ระลึก โดยเฉพาะเสื้อ
-ติดต่อสื่อสารผ่านเว็บไซต์ โทรศัพท์ บอกต่อและ เคเบิลทีวี วิทยุ ท้องถิ่น

Profit&Champion
-สปอนเซอร์วิ่งเข้าหา
-ทีมกับความเป็นแชมป์
-นักการเมืองที่หนุนทีมได้ฐานคะแนนเสียง

Timeline

Local team become Local hero

ปี 2535 กลุ่ม ”อรรณพ สิงห์โตทอง” และเพื่อน ๆ รวมทั้ง ”สนธยา คุณปลื้ม” ในฐานะศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ สนับสนุนทีมฟุตบอลเยาวชนของโรงเรียน
-ต้นทุนเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับนักฟุตบอลยังน้อย เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยงเฉลี่ยวันละ 100 บาท
-ที่มาของรายได้มาจากนักการเมืองและนักธุรกิจในท้องถิ่น

ปี 2540 ก่อตั้งสโมสรฟุตบอลชลบุรี

ปี 2548 แชมป์โปรวินเชียล ลีก (โปรลีก ที่เป็นการแข่งขันจากทีมจังหวัดต่าง ๆ)

ปี 2549
–เลื่อนขึ้นมาเล่นในไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก
-เริ่มมีกระบวนการสร้างแฟนคลับ การจำหน่ายของที่ระลึก
-เริ่มมีรายได้จากสปอนเซอร์ไม่ถึง 1 ล้านบาท
-ของที่ระลึกอย่างเสื้อ จำหน่ายได้เพียง 500-600 ตัว
ผลต่อทีม : ได้อยู่ในอันดับที่ 8

ปี 2550
-สปอนเซอร์เริ่มเข้ามามากขึ้น รายได้ทะลุหลัก 10 ล้านบาท
-จำหน่ายเสื้อได้หลายพันตัว
ผลต่อทีม : แชมป์ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก

ปี 2551
-จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัท ชื่อว่า บริษัทชลบุรี เอฟซี จำกัด เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท
-รองแชมป์ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก

ปี 2552
รองแชมป์ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก
รายได้สปอนเซอร์เพิ่มขึ้นถึง 20 ล้านบาท และเกิดปรากฎการแย่งกันเป็นสปอนเซอร์หลัก แต่ ชลบุรี เอฟซี ตกลงกับเบียร์ช้างไว้แล้ว 3 ปี (2009-2011) จากปกติต่อสัญญาปีต่อปี เพราะต้องดูผลงานของทีม

รายจ่ายรายได้ของ “ชลบุรี เอฟซี” ได้คุ้มทุน
รายจ่าย รายได้ (เฉพาะสปอนเซอร์)
โปรวินเชียลลีก
ปี 2548 2.7 ล้านบาท –
ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก
ปี 2549 12 ล้านบาท ไม่ถึง 1 ล้านบาท
ปี 2550 18 ล้านบาท 10 ล้านบาท
ปี 2551 24 ล้านบาท 15 ล้านบาท
ปี 2552 30 ล้านบาท 20 ล้านบาท
——————————————————————————————–

สัดส่วนรายได้ ปี 2552 จากทั้งหมด 30 ล้านบาท
สปอนเซอร์ 20 ล้านบาท หรือ 61%
ค่าตั๋ว 3 ล้านบาท หรือ 10%
การจำหน่ายของที่ระลึก 9 ล้านบาท หรือ 29%

สัดส่วนรายจ่าย ปี 2552
ค่าเงินเดือนบุคลากร นักเตะ โค้ช 24 ล้านบาท 80%
อื่นๆ 20%

รายได้นักเตะ
1. เงินเดือนเฉลี่ยคนละ 4-5 หมื่นบาทต่อเดือน จ่ายทุกเดือนแม้ไม่ใช่ช่วงแข่ง (สูงสุดหลักแสนบาท)
2. เบี้ยเลี้ยงซ้อม
3. รายได้ต่อแมตช์ มาจากเบี้ยเลี้ยงแข่ง ยิ่งชนะยิ่งได้เพิ่มขึ้นในแมตช์ต่อๆ ไป
4. โบนัสหลังปิดฤดูกาล โดยนำเงินรางวัลมาหารเฉลี่ยแบ่งตามจำนวนครั้งที่ได้ลงเล่น

แพ็กเกจขายสปอนเซอร์ของชลบุรีเอฟซี
โกลด์แพ็กเกจ 10 ล้านบาท ปัจจุบันคือ”เบียร์ช้าง”ได้พื้นที่โฆษณา เช่น อกเสื้อตรงกลาง บอร์ดริมสนาม สื่อสิ่งพิมพ์ประจำแมทช์

ซิลเวอร์แพ็กเกจ 6 ล้านบาท ได้พื้นที่เช่น เหมราช ได้โฆษณาบนอกเสื้อด้านขวา บอร์ดริมสนาม

แพ็กเกจปกติ 2 ล้าน ได้พื้นเช่น พื้นที่แขนซ้าย บอร์ดริมสนาม