ศึกชิงปั๊ม ปตท. สงครามคอนวีเนียนสโตร์เที่ยวล่าสุด

ด้วยเครือข่ายกว่า 1,300 แห่งทั่วไทย ส่งผลให้ปั๊ม ปตท. ได้กลายเป็นสมรภูมิแห่งใหม่ของธุรกิจค้าปลีก ที่ต้องการแผ่อาณาจักรธุรกิจเข้าถึงผู้บริโภคที่มา ใช้บริการ “ซื้อ-ดื่ม-กิน-ช้อป” ในปั๊มน้ำมัน แถมยังไร้ข้อจำกัดเรื่องเวลา ให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง เซ็นทรัลหวนคืนสู่ซัพพลายเออร์รายใหญ่ป้อนสินค้าให้ร้าน “จิฟฟี่” ของ ปตท. โดยมี “เซเว่นอีเลฟเว่น” เตรียมขยายร้านในปั๊ม ปตท. จาก 700 สาขาเพิ่มเป็น 1,300 สาขา

เซ็นทรัลจับมือจิฟฟี่
ความเคลื่อนไหวล่าสุดคือ ความร่วมมือกันระหว่าง PTTRM หรือ ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก และเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล (CFR) ซึ่งคุ้นเคยกับการเป็น Supplier ให้กับคอนวีเนียนสโตร์ในสถานีบริการน้ำมันอยู่แล้ว เพราะปัจจุบันมีสัญญาอยู่กับไทเกอร์ มาร์ท ของเอสโซ่ จำนวนเกือบ 100 แห่ง มานานกว่า 6 ปีแล้ว ขณะที่ล่าสุดหวนคืนบทบาทเดิมกับการเป็น Supplier ให้กับจิฟฟี่ของปั๊ม ปตท. จำนวน 146 แห่ง ซึ่งบริหารงานโดย อีกครั้ง หลังจากห่างหายไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ครั้งนี้มีสัญญา 3 ปี โดยลงนามร่วมกันมาตั้งแต่มีนาคม 2551 แต่เพิ่งจะมาแถลงข่าวเนื่องจากรอให้ระบบทุกอย่างคงที่ก่อน

กฤษณะพล โกมลบุณย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด บอกว่า หลังจาก ปตท.เข้าซื้อกิจการปั๊มน้ำมันเจ็ทจากโคโนโค่ฟิลลิปส์ (ConocoPhillips) ตั้งแต่ปี 2550 และเปลี่ยนแบรนด์เป็นปั๊ม ปตท.หมดเรียบร้อยแล้ว แต่ยังคงแบรนด์จิฟฟี่ไว้ เนื่องจากเห็นว่า ติดตลาดและมีศักยภาพในการทำตลาดเพื่อที่จะเติบโตในธุรกิจนี้ต่อไปได้ โดยความร่วมมือครั้งนี้ เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จะรับผิดชอบในระบบกระจายสินค้า และระบบจัดซื้อสินค้า จากเดิมเคยใช้ Distribution Center (DC) ของสตาร์มาร์ท แต่เนื่องจากคาลเท็กซ์ได้เลิกบริการในส่วนของสตาร์มาร์ทไปแล้ว

“สินค้าราว 60% ของจิฟฟี่จะถูกจัดซื้อและจัดส่งโดยคลังสินค้าของท็อปส์กว่า 4,500 รายการ โดยมีมูลค่าสัญญา 3,000 ล้านบาท ขณะที่เหลืออีก 40% เป็น Fresh Food และ Local Product แต่ในอนาคตทางท็อปส์อาจเข้ามาดูแลเพิ่มขึ้นในส่วนของ Fresh Food”

ทั้งนี้ท็อปส์เคยร่วมมือกับปั๊มเจ็ทในอดีตด้วยการจัดบริการป้อนวัตถุดิบอาหารสดภายใต้ชื่อ จิฟฟี่ คิทเช่น บาย ท็อปส์ มาแล้ว ดังนั้นการเพิ่มขอบเขตความรับผิดชอบในอนาคตจึงไม่ใช่เรื่องยาก และท็อปส์จะจัดสินค้าเพิเศษเฉพาะสำหรับจิฟฟี่ 600 SKU

เดิมทีจิฟฟี่มี Brand Image ที่ดูพรีเมียมด้วยดีไซน์ที่โดดเด่นและมีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าคอนวีเนียนสโตร์ แบรนด์อื่นๆ ในปั๊มน้ำมัน และเป็นภาพลักษณ์ที่สอดคล้องกับปั๊มเจ็ทเดิม ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องความสะอาดของห้องน้ำ และเมื่อแปลงร่างเป็นปั๊ม ปตท. ก็ดำเนินรอยตามจุดเด่นดังกล่าวโดยไม่ผิดเพี้ยน และจิฟฟี่ยังคงเป็นหนึ่งในแม่เหล็กสำคัญของปั๊ม ปตท.

จากความร่วมมือที่ผ่านมาราวปีเศษ พบว่า Service Level Agreement (SLA) ซึ่งเป็น KPI วัดความแม่นยำในการสั่งสินค้าของจิฟฟี่ เพิ่มขึ้นจาก 93% เป็น 98% หรือหมายความว่า หากสั่งสินค้า 100 ชิ้น จะได้สินค้าที่ถูกต้องอย่างต่ำ 98 ชิ้น ซึ่งหาก SLA สูง ก็จะช่วยย่นระยะเวลาส่งสินค้า มีความแม่นยำในการส่งสินค้า สินค้าไม่ขาด แต่ก็ไม่ต้องสต๊อกสินค้าไว้เยอะ

จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทำให้จิฟฟี่ยังมียอดขายเพิ่มขึ้นด้วย โดยจากเดิมเฉลี่ย 2.1 ล้านบาทต่อสาขาต่อเดือน เป็น 2.269 ล้านบาทต่อสาขาต่อเดือน โดยคาดว่ายอดขายของจิฟฟี่ในปีนี้จะปิดที่ 4,000 ล้านบาท

กฤษณะพลบอกว่า การทำธุรกิจค้าปลีกให้ประสบความสำเร็จนั้นจะต้องดีทั้ง “หน้าบ้าน” คือ สาขาเยอะ บริการดี สินค้าหลากหลาย และ “หลังบ้าน” คือ การจัดซื้อและการจัดส่ง ซึ่งจิฟฟี่มีพื้นฐานดังกล่าวแล้วและพร้อมเติบโตต่อไปในอนาคต

ด้านอลิสเตอร์ เทย์เลอร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ คนใหม่ของบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด บอกว่า จิฟฟี่จะมี Positioning ที่แข็งแกร่งขึ้น ด้วยสินค้าหลากหลายแบบซูเปอร์มาร์เก็ต ขณะเดียวกันก็คงรูปแบบของคอนวีเนียนโตร์ในปั๊มน้ำมันไว้เช่นเดิม ขณะที่เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ก็มี Positioning ของการเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่มียอดขายอันดับ 1 ของไทย ก็จะได้ภาพลักษณ์ของความเป็นผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น

ขณะเดียวกันในแง่มุมของเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ซึ่งอยู่ภายใต้เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ก็ได้แสดงศักยภาพความเชี่ยวชาญในด้านค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค และเป็นการขยายธุรกิจของ CRC ให้เติบโตโดยการแสวงหาพันธมิตรใหม่ๆ

ทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด บอกว่า “CRC ไม่จำเป็นต้องขยายงานด้วยตัวเองเสมอไป การหา Partnership เป็นสิ่งสำคัญซึ่งเราเปิดรับทั้งเล็กและใหญ่ และเป็นไปเพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในรูปแบบ Win-Win Situation”

ต่อข้อถามที่ว่าจะมีความร่วมมืออื่นๆ กับ PTTRM อีกหรือไม่ เนื่องจาก CRC มี Business Unit อื่นๆ อีกทั้ง B2S, Supersport และ Powerbuy เป็นต้น ทศตอบสั้นๆ ว่า “แล้วแต่ความกรุณาของ ปตท.”

ด้านจิฟฟี่ ก็ยังต่อยอดความร่วมมือกับเซ็นทรัล กรุ๊ป ด้วยการเจรจากับเซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป (CMG) เพื่อนำสินค้าแฟชั่นเข้ามาจำหน่ายในร้านจิฟฟี่ด้วย โดยเฉพาะในสาขาใกล้แหล่งท่องเที่ยว เช่น แก่งคอย ซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่

จิฟฟี่ยุคใหม่อาจจะต้องแข่งกับ Fashion Outlet อีกทาง

ปตท. เนื้อหอม พันธมิตรรุมเร้า
นอกเหนือจากพันธมิตรหลักอย่างคอนวีเนียนสโตร์ 7-Eleven และคอนวีเนียนสโตร์ที่ดำเนินการเองอย่างจิฟฟี่แล้ว ยังมีผู้เช่าพื้นที่ภายในปั๊ม ปตท.ซึ่งเป็นแบรนด์ใหญ่ที่คุ้นตากันคือ อะเมซอน คาเฟ่ ของ ปตท.เอง และรายหลักอย่าง เอแอนด์ดับบลิว เคเอฟซี แมคโดนัลด์ เชสเตอร์กริลล์ เอสแอนด์พี ฮาเก้นดาส เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีร้านหนังสือนายอินทร์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์

ด้วยเครือข่ายปั๊มน้ำมันที่มีมากที่สุดในไทย และโลเกชั่นที่ครอบคลุมเส้นทางสำคัญๆ ทั่วประเทศทั้ง Outbound และ Inbound

ขณะที่ปั๊มนอกอย่างเชลล์ ไม่เลือกที่จะเสริมรายได้จากธุรกิจ Non-oil หากแต่มุ่งมั่นกับการจำหน่าย “น้ำมันพรีเมียม” มากกว่า

Jiffy Platinum
ออกนอกปั๊ม

กฤษณะพลบอกว่า จิฟฟี่มีอยู่ 7 โมเดล ขนาดตั้งแต่ 150-550 ตารางเมตร แต่โมเดลเด่นและเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ รักความสะดวกสบาย แต่ต้องการสินค้าในระดับพรีเมียมมากขึ้น เป็นรูปแบบ Platinum Gas Station ในปี 2552 นี้เปิดไปแล้ว 3 สาขา คือ แก่งคอย พระราม 2 กม.35 และวังน้อย ซึ่งทำรายได้งามด้วยยอดขาย 5-6 ล้านบาทต่อสาขาต่อเดือน

ขณะที่อีกโมเดลหนึ่งที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อมิถุนายนปีนี้คือ จิฟฟี่ เอ็กซ์เพรส ซึ่งจำหน่ายสินค้าขายดี 200 รายการแรก โดยสาขาแรกอยู่ที่บางบัวทอง-สุพรรณบุรี กม.28 และภายใน 3 ปีหรือภายในปี 2554 จะมีจิฟฟี่ แพลตตินั่ม 200 สาขา ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างเร่งด่วน และจะทำให้จิฟฟี่มี Positioning โดดเด่นและแตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นมากยิ่งขึ้น

แผนการขยายสาขาของจิฟฟี่อีกรูปแบบหนึ่ง คือ การเปิดสาขานอกปั๊มน้ำมันเป็นครั้งแรก ที่อาคาร Energy Complex บริเวณ 5 แยกลาดพร้าว ด้วยขนาด 125 ตารางเมตร ซึ่งพร้อมให้บริการในปลายปี 2552 นี้

“เนื่องจากเป็นศูยน์รวมของบริษัทนานาชาติด้านพลังงาน จึงมี Expat ทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก สินค้าส่วนใหญ่จะเป็น High end และการตกแต่งจะดูแปลกตามากขึ้น”

และในอนาคตจิฟฟี่จะเปิดให้บริการนอกเหนือจากในปั๊มน้ำมันมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งอาจะเป็นการขยายตัวในรูปแบบแฟรนไชส์ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา

ท็อปส์ปูพรมโมเดล “มินิซูเปอร์มาร์เก็ต” รุกฆาต “เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส”
ในปี 2553 เซ็นทรัล รีเทล ฟู้ด เลือกที่จะขับเคลื่อนแบรนด์ “ท็อปส์ เดลี่” ซึ่งเป็นรูปแบบมินิซูเปอร์มาร์เก็ต กว่า 40 สาขา มีพื้นที่ตั้งแต่ 200-300 ตารางเมตร ลงทุนเฉลี่ย 5 ล้านบาทต่อสาขา จากแผนการลงทุนทั้งหมด 400 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงท็อปส์ มาร์เก็ต 3 สาขา และท็อปส์ ซูเปอร์ 2 สาขาซึ่งนับเป็นการขยายตัวยิ่งกว่าก้าวกระโดด จากปัจจุบันที่มีเพียง 17 สาขาเท่านั้น

อลิสเตอร์บอกว่า โอกาสของมินิซูเปอร์มาร์เก็ตมาถึงแล้ว เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป

“ผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น ต้องการสินค้าในรูปแบบของซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใกล้บ้าน ใกล้ชุมชนมากขึ้น คอนวีเนียนสโตร์อาจตอบสนองความต้องการในเรื่องความสะดวกสบาย แต่ไม่ได้ตอบสนองในเรื่องความหลากหลาย และขนาดของสินค้า ขณะเดียวกันซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ก็เกินความต้องการ อีกทั้งมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสและศักยภาพของมินิซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างท็อปส์ เดลี่”

ขณะที่เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ก็ลงเล่นในตลาด G-Store ตั้งแต่ปี 2544 แต่ก็ยังมีสาขาในปั๊มน้ำมันไม่มากนัก โดยจับมือกับปั๊มเอสโซ่ ซึ่งส่วนหนึ่งมีไทเกอร์ มาร์ทอยู่ โดยปัจจุบันมีเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรสราว 350 แห่งแล้ว เน้นเปิดสาขาในแหล่งชุมชนของกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ ในพื้นที่ขนาด 150-360 ตารางเมตร ใกล้เคียงกับท็อปส์ เดลี่

ในอนาคตต้องรอดูว่า ท็อปส์จะปักธงแบรนด์ของตัวเองและโผล่จากหลังบ้าน มาอยู่หน้าบ้านแบบเชิดหน้าชูตาได้เต็มที่เมื่อใด และหากไม่ใช่ ปตท.แล้วจะเป็นปั๊มน้ำมันใด เพราะถึงแม้ขณะนี้อลิสเตอร์จะบอกว่ายังไม่มีแผนเปิดสาขาในปั๊มน้ำมัน เนื่องจากได้ทดลองเปิดแล้ว 1 สาขา แต่ได้รับผลตอบรับไม่เป็นที่น่าพอใจ

“ทดลองเปิดท็อปส์ เดลี่ ที่ปั๊มคาลเท็กซ์ แต่ว่ายังไม่เวิร์คเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะลูกค้าคนละกลุ่ม จึงต้องการเน้นขยายตัวแบบ Stand Alone”

อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2555 ท็อปส์ เดลี่ จะเปิดตัวครบ 200 สาขา ซึ่งใกล้เคียงกับเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรสในขณะนี้ และเมื่อถึงเวลานั้นก็เป็นเวลาที่จิฟฟี่จะออกมาลุยตลาดนอกปั๊มน้ำมันมากขึ้น และเป็นไปได้ว่าจากพันธมิตรอาจกลายเป็นคู่แข่งแม้จะไม่ทางตรงแต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ซะทีเดียว กระนั้น อลิสเตอร์บอกว่า กลุ่มเป้าหมายก็ยังต่างกันอยู่ดี เพราะความต้องการในสินค้าที่แตกต่างกัน

“เคยขายสินค้าไซส์เล็กแบบคอนวีเนียนสโตร์ ปรากฏว่าขายไม่ได้ เพราะลูกค้ามองเราเป็นมินิซูเปอร์มาร์เก็ต ต้องการซื้อสินค้าแพ็กใหญ่ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค”

แม้ใครต่อใครจะปรับตัวหันเหธุรกิจไปเน้น “อาหาร” กันหมด โดยเฉพาะ 7-Eleven ที่จะปรับสัดส่วนสินค้าในร้านเป็นอาหาร 85% และคงเหลือ Grocery ไว้ที่ 15% ภายใน 3 ปี แต่ด้วยความเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต สินค้าในท็อปส์ เดลี่ จึงยังคงสัดส่วน Grocery ในระดับสูงคือ 80% ขณะที่เหลือ 20% เป็นอาหาร และในสาขาที่ตั้งใกล้กับตลาดสดเช่น สาขาโชคชัยสี่ สัดส่วนของอาหารจะยิ่งลดน้อยลง

ต้องรอดูว่าเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส จะมีท่าทีอย่างไรต่อการขยับตัวครั้งนี้ของท็อปส์ เดลี่ แต่ตอนนี้อลิสเตอร์บอกว่า ท็อปส์ เดลี่ มีสินค้าที่หลากหลายมากกว่าคู่แข่งราว 1,000 SKU

7-Eleven แรง !!! ขอซบ ปตท. ทุกสาขา
ในวันเดียวกัน ปิยวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.ออล์ จำกัด (มหาชน) ตอบคำถามเกี่ยวกับการลงทุนในพื้นที่ค้าปลีกของปั๊ม ปตท. ซึ่ง 7-Eleven ปักหลักในปั๊ม ปตท.อยู่แล้ว 700 กว่าสาขา จากปั๊ม ปตท.ทั้งสิ้นราว 1,300 สาขา และยังเหลือระยะเวลาสัญญาอีก 4 ปีเศษ ว่า

“กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับคุณประเสิรฐ บุญสัมพันธ์ อาจจะเข้าไปจัดซื้อจัดหาอาหารให้กับจิฟฟี่ หรืออาจจะเข้าไปเปลี่ยนแบรนด์จิฟฟี่เป็น 7-Eleven หรืออาจจะเกิดความร่วมมือในรูปแบบอื่นๆ ที่ทำให้ ปตท.พึงพอใจและได้ประโยชน์สูงสุด”

ไม่ชี้ชัด ไม่ฟันธง ออกแนวคลุมเครือ แต่อีก 3 เดือนข้างหน้าได้รู้กันว่า Big Deal ของซี.พี.ออลล์ กับ ปตท. ที่ว่ากันว่าระดับเบอร์ 1 คุยกันนั้นจะออกมาในรูปแบบใด เนื่องจาก 7-Eleven ในปั๊ม ปตท. เป็นพื้นที่รับผิดชอบของ ปตท.ใหญ่ ไม่ใช่ PTTRM

ปัจจุบันรายได้จาก Non-oil ในปั๊ม ปตท. คิดเป็น 12-13% ของรายได้ทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 30% ภายใน 2-3 ปีจากนี้ไป แสดงให้เห็นถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนอยู่แล้ว

จะเห็นว่าแบรนด์ค้าปลีกแทบทุกรายต่างหันหัวธุรกิจมาทางธุรกิจ “อาหารและเครื่องดื่ม” เนื่องจากมีกำไรสูงราว 30-50% ขณะที่สำหรับ ปตท.เองนั้น ได้รายได้จากค่าการตลาดน้ำมันราว 1.8-2 บาทต่อลิตรเท่านั้น

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะทำให้ จิฟฟี่ปิดฉาก 15 ปีในไทยหรือไม่ในอนาคต ทั้งๆ ที่เป็นแบรนด์ที่ PTTRM ซื้อสิทธิ์ขาดมากจากโคโนโค่ฟิลลิปส์แล้วก็ตาม ด้วยเงินทุน 100 ล้านบาท หรือไม่ หรืออาจจะเกิดการ่วมมือในรูปแบบใดที่ต้องติดตามกันต่อไป แต่สุดท้ายแล้วเชื่อว่า “ปตท. คือผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด” อย่างแน่นอน

หากย้อนกลับไปมากกว่า 10 ปี ปั๊ม ปตท.มีคอนวีเนียนสโตร์ในพื้นที่ปั๊มหลากหลายแบรนด์ เช่น พีทีทีมาร์ท สินสยาม จอย ไดโนมาร์ท และเปลี่ยนผ่านมาจนถึงยุคปัจจุบัน และอนาคตอันใกล้นี้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกครั้งว่า 7-Eleven จะยึดหัวหาดในทุกพื้นที่ทั่วไทย โดยอาศัยเครือข่ายของ ปตท.ได้สำเร็จดังใจหรือไม่

งานนี้ต้องลุ้นกันหน่อย

ทำไมใครๆ ก็อยากเข้าปั๊ม
1. High Traffic โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลคนเดินทางเยอะ กฤษณะพล หัวเรือใหญ่ PTTRM บอกว่า ก่อนเข้าพรรษาวันเดียว Amazon Cafe จำหน่ายได้เกือบ 1,000 แก้ว

2. Long Time Operation มีโอกาสในการขายยาวนาน ตั้งแต่เช้าถึงดึก สำหรับร้านอาหารและบริการอื่นๆ ขณะที่ G-Store ก็มีโอกาสในการขาย 24 ชั่วโมง

3. High Purchasing คนเดินทางส่วนใหญ่มักจะเดินทางเป็นกลุ่มและซื้อสินค้าจำนวนมากเพื่อการเฉลิมฉลอง โดยเฉพาะอาหาร เครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว

4. Strong Business Partnership หากจูบปากกับปั๊มน้ำมันที่มีความแข็งแกร่งทางธุรกิจและโลเกชั่นแล้ว โอกาสทำยอดขายได้มากย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และบางครั้งมีการลงทุนเช่าพื้นที่ต่ำกว่าในศูนย์การค้าด้วย

จำนวนสถานีบริการน้ำมัน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2552 รวมทุกภาค (หน่วย : แห่ง)
ปตท. 1,149
เชลล์ 576
เอสโซ่ 541
เชฟรอน (คาลเท็กซ์) 429
บางจาก 1,058
ปิโตรนาส 110

ที่มา : กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน