ได้เวลาขึ้นแท่น World Class

ใครที่เคยมีโอกาสไปร่วมงาน World Expo ที่จัดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาแล้ว ย่อมมีโอกาสได้เห็นศาลาไทย หรือ Thai Pavilion ที่ส่งเข้าร่วมแสดงในงานมาแล้วถึง 22 ครั้ง และเป็นประเทศที่ 3 จากเอเชียที่มีความสามารถร่วมงานระดับโลก ตามหลังก็แค่พี่เบิ้มแห่งเอเชียอย่างจีนและญี่ปุ่นเท่านั้น

ครั้งแรกของการจัดศาลาไทยไปร่วมงานเวิลด์เอ็กซ์โป เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2443 เป็นปีเดียวกับที่หอไอเฟลถูกสร้างขึ้นที่กรุงปารีสเพื่อสร้างเป็นสัญลักษณ์ของงานในครั้งนั้น ซึ่งศาลาไทยก็มีจุดจัดแสดงอยู่ภายใต้ฐานของหอไอเฟล นั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 4

ด้วยประสบการณ์ยาวนานของการร่วมงานแสดงระดับโลก ทำให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ซึ่งดูแลด้านนี้โดยตรง ปิ๊งไอเดียลงทุนขอเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานเวิลด์เอ็กซ์โปเป็นครั้งแรก เพื่อหวังจะเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศอีกทาง นอกเหนือจากความพยายามมุ่งต่อยอดดึงการจัดงานระดับโลกหรือ Mega Event ต่างๆ เข้าไทย ตามนโยบายเชิงรุกที่ได้วางไว้

“สำหรับการจัดงานเวิล์ดเอ็กซ์โปโดยเฉลี่ยจะทำรายได้ให้กับประเทศผู้จัดงานประมาณ 5 เท่าของเงินลงทุนที่ลงไป” อรรคพล สรสุชาติ ผู้อำนวยการ สสปน. ยกตัวเลขรายได้มาโชว์

แต่สำหรับแผนการเสนอตัวเข้าเป็นเจ้าภาพการจัดงานเวิลด์เอ็กซ์โป ปี 2020 ของไทย เขาตั้งตัวเลขไว้ว่าน่าจะมีรายได้ตอบแทนถึง 8 เท่า จากเงินลงทุนที่คาดว่าจะใช้สำหรับการจัดการประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

การจะได้เป็นเจ้าภาพไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องเริ่มเสนอตัวตั้งแต่ปี 2011 ก่อนจะได้เป็นเจ้าภาพเกือบ 10 ปี ซึ่งเพียงแค่เปิดตัว ไทยก็มีแคนดิเดทแล้ว 10 เมืองใหญ่จากทุกทวีป ซึ่งล้วนมีจุดแข็งแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ ดูไบ บราซิล ออสเตรเลีย แคนาดา เดนมาร์ก ส่วนสหรัฐอเมริกา มีทั้งนิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก

“พูดถึงคู่แข่ง ผมเชื่อว่าไทยเรามีจุดแข็งและประสบการณ์ที่ไม่แพ้ใคร แต่ที่ถือว่าน่ากลัวคงเป็นดูไบ ซึ่งมีความพร้อมด้านการเงิน”

แต่หากประเทศไทยเริ่มต้นด้วยความเห็นพ้องของทุกฝ่าย ก็ไม่แน่ว่าปี 2020 ประเทศไทยอาจจะได้ชื่อว่าเป็นเจ้าภาพเวิลด์เอ็กซ์โปดังที่ตั้งใจ และผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้น ไม่เพียงแค่การพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจหลังการจัดงานอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับเมืองเจ้าภาพทั่วโลกมาแล้ว แต่อาจจะช่วยสร้างความสามัคคีของคนในชาติจากจุดมุ่งหมายเดียวกันนี้ได้

แผนการลงทุนเวิลด์เอ็กซ์โป 2020 กรณีที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพ
จะใช้พื้นที่จัดงาน 24 ตารางกิโลเมตร (ประมาณ 1,500 ไร่)
คาดการณ์จำนวนผู้เข้าชมงาน 30 ล้านคน
มูลค่าการลงทุน 2 หมื่นล้านบาท
มูลค่าการลงทุนต่อไร่ 5.95 ล้านบาทต่อไร่
คาดการณ์ผลตอบแทน 2.3 หมื่นล้านบาท
คาดการณ์กำไรต่อการจัดงาน 9.55 หมื่นล้านบาท

20,000 ล้านบาทใช้กับ….
– ศึกษาความเป็นไปได้ของพื้นที่ 0.2%
– จัดทำและยื่นข้อเสนอเป็นเจ้าภาพตามขั้นตอนของ BIE 0.8%
– สร้างสาธารณูปโภค (ส่วนต่อนอกเหนือจากแผนที่รัฐมีอยู่แล้ว) 42%
– ก่อสร้างอาคารหลักและพื้นที่จัดงาน 30%
– ก่อสร้างปรับปรุงพื้นที่รอบสถานที่จัดงาน 15%
– ก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย โรงแรม เพื่อรองรับผู้ชมงาน 7%
– โฆษณาประชาสัมพันธ์และกิจกรรมโรดโชว์ 5%

Did you know?
World Expo 2005 ที่เมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี ขาดทุน 21,500 ล้านบาท ดังนั้นการจัดงานเวิลด์เอ็กซ์โปจึงไม่ใช่ประเทศเจ้าภาพจะได้กำไรเสมอไป แต่ที่ผ่านมาก็มีการขาดทุนเพียงครั้งนี้ครั้งเดียว