เจาะ 9 ตลาดเบียร์เอเชีย

1.Indonesian Beer
อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่ประชากรกว่าค่อนนับถือศาสนามุสลิม ส่งผลให้ประชากรเพียง 3% ของประเทศที่สามารถบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ทว่า อัตราที่ต่ำนี้กลับไม่ได้ช่วยลดขนาดของตลาดเบียร์ให้เล็กลงกว่าประเทศอื่น เนื่องจากอินโดนีเซียมีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวขนาดใหญ่เข้ามาทดแทน

ซาน มิเกล ของฟิลิปปินส์ เป็นผู้เล่นรายสำคัญในตลาดเบียร์อินโดนีเซีย รวมทั้งผู้ผลิตเบียร์ท้องถิ่นอย่างแบรนด์ Anker, Bali Hai และ Bintang ซึ่งไฮเนเก้นของเนเธอร์แลนด์เป็นเจ้าของ

Anker เป็นเบียร์ที่มีดีกรีแอลกอฮอล์ไม่สูงมากประมาณ 5% รสชาติหวานแต่รู้สึกคล่องคอ ผลิตในโรงงานเดียวกับ Bali Hai และซาน มิเกล

Bali Hai มีดีกรีแอลกอฮอล์ประมาณ 5% เช่นเดียวกับ Anker แต่ไม่มีฟองมากนัก ซึ่งแตกต่างจากเบียร์อินโดนีเซียอื่นๆ และมีรสชาติหวานไม่มากนัก

Bintang เนื่องจากมีไฮเนเก้นเป็นเจ้าของ Bintang มีรสชาติไม่ต่างจากไฮเนเก้นมากนัก รวมถึงรูปลักษณ์ภายนอกอย่างเช่น ขวด และมีดีกรีแอลกอฮอล์ประมาณ 5% นอกจากนี้ Bintang ยังได้ปล่อยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทใหม่สู่ตลาดในชื่อแบรนด์ Green Sands ซึ่งมีรสชาติคล้ายเบียร์ที่ผสมมะนาวและมีดีกรีแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 1%

San Miguel ซาน มิเกล เป็นบริษัทเบียร์ในฟิลิปปินส์ที่เข้ามาลงทุนผลิตเบียร์ในอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้ซาน มิเกล ที่นี่มีรสชาติเหมือนกับซาน มิเกล ในฟิลิปปินส์ ซานมิเกล เป็นผู้เล่นใหญ่สุดในตลาดเบียร์ปัจจุบัน และเป็นคู่แข่งคนสำคัญของเบียร์อื่นๆ ในอินโดนีเซีย โดยมีดีกรีแอลกอฮอล์ 5% และมีรสขมเล็กน้อย

2.Laotian Beer
สองสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ควบคุมตลาดของลาวในปัจจุบัน คือ เหล้าหมักจากข้าวแบรนด์ Lao Lao และ Beerlao ผลิตภัณฑ์เบียร์ที่ผลิตโดย Lao Brewing Company ตั้งแต่ปี 1973 โดยมีส่วนแบ่งสูงถึง 99% ของตลาด

นอกจากประเทศลาวแล้ว เบียร์ลาว ยังสามารถหาซื้อได้ทั่วเอเชียแปซิฟิก และในสหราชอาณาจักร ก่อนหน้านี้ Lao Brewing Company ยังเคยผลิตเบียร์ชื่อ 33 Export สำหรับส่งออกขายนอกประเทศโดยเฉพาะ แต่หยุดผลิตเมื่อช่วงปลายของทศวรรษที่ 90

Beerlao Lager ส่วนใหญ่มักเรียกสั้นๆ ว่า Beerlao เนื่องจากกระบวนการผลิตที่ยังคงความดั้งเดิมไว้ก่อนที่เบียร์แบบ Light และ Dark จะเปิดตัว เป็นเบียร์ที่สร้างความสดชื่นให้กับผู้ดื่มได้อย่างมากด้วยสีทองอำพัน และไม่ค่อยมีฟองมากนัก มีดีกรีแอลกอฮอล์ 5% จำหน่ายในกระป๋องขนาด 330 มิลลิลิตร และขวดขนาด 640 มิลลิลิตร

ส่วน Beerlao Light มีดีกรีแอลกอฮอล์เพียง 2.9% ขณะที่ Beerlao Dark มีดีกรีแอลกอฮอล์สูงถึง 6.5% และมีสีเหลืองอำพันมากกว่า Dark Beer ทั่วไป

3.Malaysian Beer
ตลาดเบียร์ของมาเลเซียค่อนข้างต่างจากที่อื่น เพราะเบียร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในมาเลเซีย เป็นของบริษัทต่างชาติ อย่างเช่น คาร์ลสเบิร์กจากเดนมาร์ก และ Anchor Beer ของไฮเนเก้นที่ผลิตจากประเทศเพื่อนบ้าน สิงคโปร์

ส่วนเบียร์จากประเทศอื่นในเอเชียก็ผลิตเบียร์และจัดจำหน่ายในมาเลเซียโดยเฉพาะ อย่างเช่น สิงห์ และลีโอของไทย หรือ Stag และซาน มิเกล ของฟิลิปปินส์

เบียร์ในรูปแบบขวดเป็นที่นิยมมากสุดในมาเลเซีย โดยดราฟท์เบียร์มีส่วนแบ่งในตลาดเพียง 12% เท่านั้น ส่วนเบียร์ที่ได้รับความนิยมรองลงมาคือเบียร์กระป๋องที่ผสมกับมะนาว

Tiger Beer ต้นกำเนิดไทเกอร์ เบียร์ อยู่ที่สิงคโปร์ แต่ก็มีแหล่งผลิตอยู่ในประเทศมาเลเซีย เพื่อป้อนตลาดมาเลเซียโดยเฉพาะ ไทเกอร์กลายเป็นเบียร์ที่ได้รับความนิยมทั่วเอเชีย เนื่องจากบริษัทเจ้าของไทเกอร์ได้ตั้งโรงงานไว้ทั่วภูมิภาค

4.Philippine Beer
เบียร์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คนฟิลิปปินส์ชื่นชอบมากที่สุด และยังเป็นประเทศที่มี ซาน มิเกล โรงงานผลิตเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งอยู่อีกด้วย

ซาน มิเกล จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1890 โดยชาวสเปน หลังจากนั้นเป็นต้นมา ซาน มิเกลได้เติบโตจนเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์ และเป็นเจ้าของโรงงานผลิตเบียร์หลายแห่ง รวมถึง Anker ในอินโดนีเซีย และ Jame Boag ในออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม แม้ซาน มิเกล จะเข้มแข็งแค่ไหนในตลาดเบียร์ฟิลิปปินส์ แต่ก็ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับผู้ผลิตเบียร์รายอื่นๆ ในเอเชียเช่นกัน

San Miguel ซาน มิเกล ผลิตเบียร์หลากหลายเซกเมนต์ในฟิลิปปินส์ ประกอบด้วย San Miguel Pale Pilsner, Super Dry, Strong Ice, Red Horse และ Gold Eagle แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ แบรนด์ Pale Pilsner ที่ค่อนข้างเบากว่าแบรนด์อื่น

Colt 45 ผลิตโดย Asia Brewery ซึ่งได้รับการอนุญาตให้ผลิตเช่นเดียวกับเบียร์ Lone Star, Stag และ Carlsberg หลายคนบอกว่า Colt 45 ที่มีดีกรีแอลกอฮอล์ 6.5% นั้นค่อนข้างนุ่ม และดื่มง่าย เมื่อเทียบกับที่ผลิตในอเมริกา

Beer Na Beerเบียร์ดีกรีแอลกอฮอล์ 6% นี้ค่อนข้างเป็นเบียร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากค่าย Asia Brewery โดยมีรสชาตินุ่ม และตั้งราคาขายที่เหมาะสมกับค่าครองชีพของคนฟิลิปปินส์ และได้รับความนิยมทั้งในบาร์ หรือแม้กระทั่งแบบขวด และกระป๋อง

5.Vietnamese Beer
เบียร์ที่ดังที่สุดในเวียดนามเป็นที่รู้จักในชื่อ Bia Hoi ซึ่งหมายถึง เบียร์สด และถูกผลิตขึ้นในโรงเบียร์กว่า 300 แห่งทั้งขนาดใหญ่และเล็กที่กระจายอยู่รอบประเทศเวียดนาม

Bia Hoi ไม่ได้ใส่สารกันบูด และมักบริโภคในวันที่ผลิต หาซื้อได้ทั่วประเทศทั้งในบาร์ คาเฟ่ และแม้กระทั่งรถเข็นขายของข้างถนน มักจัดจำหน่ายมาในรูปของถังขนาด 100 บาร์เรล ก่อนที่จะขายปลีกโดยใส่ในบรรจุภัณฑ์พลาสติกขนาดย่อม ซี่งมีจากการประเมินคาดว่า Bia Hoi ขายได้วันละ 300,000 – 400,000 ลิตร

ในทางกลับกัน เบียร์แบบกระป๋องก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีราคาจำหน่ายที่สูงกว่า โดยแบรนด์ที่ได้รับความนิยมมากสุด ได้แก่ 333 และ Hue Beer

333 ผลิตโดย Saigon Beer Co ซึ่งยังผลิตเบียร์ในชื่อแบรนด์ Saigon Lager และ Saigon Export โดยเบียร์ 333 เริ่มผลิตครั้งแรกเมื่อปี 1893 ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาของฝรั่งเศส ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น 33 และเปลี่ยนกลับเป็น 333 อีกครั้งในปี 1975

Hue Beer
เบียร์ดีกรีแอลกอฮอล์ 5.0% ผลิตโดย Hue Brewery ซึ่งมีเบียร์คาร์ลสเบิร์กเป็นเจ้าของ จุดเด่นอยู่ที่ที่สีเหลืองอำพัน ฟองเบียร์ที่หายไปอย่างรวดเร็วหลังจากรินออกจากขวดไม่นาน และมีกลิ่นหอมของข้าว นอกจาก Hue Beer แล้ว บริษัทนี้ยังผลิต Festival Beer สำหรับตลาดเวียดนามอีกด้วย

6.Taiwanese Beer
ตลาดเบียร์ที่นี่ถูกครอบครองโดยแบรนด์ Taiwan Beer มาอย่างยาวนาน ซึ่งผลิตโดย Taiwan Tobacco and Liquor เป็นองค์กรของรัฐ มีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 99% มีกำลังการผลิต 35 ล้านลิตรต่อเดือน เป็นผลจากกกฎหมายการนำเข้าที่เข้มงวด

ในปี 1987 เบียร์นำเข้าได้รับการอนุญาตให้เข้าไปขายในประเทศ และในปี 2002 เบียร์นำเข้าก็แย่งส่วนแบ่งตลาดมาจาก Taiwan Beer ได้มากถึง 30% ทำให้ Taiwan Beer ต้องเร่งปรับตัวอย่างหนัก ด้วยการออกแคมเปญเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ดื่มที่อายุน้อยลง และออกเบียร์ในเซ็กเมนต์พรีเมียมในชื่อ Gold Medal Taiwan Beer

Taiwan Beer เบียร์สไตล์เยอรมันที่มีดีกรีแอลกอฮอล์ 4.5% ยังคงเป็นที่นิยมสูงสุดในไต้หวัน ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะส่งออกไปยังจีน แต่โดนระงับเนื่องจากติดข้อกำหนดที่ว่าห้ามนำชื่อของภูมิภาคมาตั้งเป็นชื่อสินค้า แต่ก็น่าแปลกที่ว่าเบียร์ Tsing Tao ของจีนสามารถใช้ชื่อเมืองมาตั้งเป็นชื่อสินค้าได้

7.Japanese Beer
เบียร์เริ่มเป็นที่รู้จักของคนญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1870 โดยคนอเมริกันที่ชื่อ William Copeland ผู้ซึ่งตั้งบริษัท Spring Valley Brewery ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น Kirin ในปัจจุบัน มีโรงเบียร์ขนาดเล็กนับร้อยทั่วประเทศเพื่อผลิตเบียร์รองรับตลาด นอกเหนือจากแบรนด์ชื่อดังทั้งหลาย

Asahi Super Dry
อาซาฮี เป็นเบียร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด และมียอดขายติดอันดับ 4 เบียร์ที่ขายดีที่สุดทั่วโลก โดยอาซาฮีอ้างว่าเป็นคนแรกในโลกที่ผลิตดรายเบียร์ โดยมีสีเหลืองอ่อน และฟองนุ่ม

Kirin Ichiban คิรินผลิตเบียร์หลากหลายรูปแบบ แต่ที่โด่งดังที่สุด คือ Kirin Ichiban ที่มีดีกรีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 5% และมีรสชาติค่อนข้างอ่อนนุ่ม

Orion Draft Orion Draft เป็นเบียร์ที่ผลิตและขายเฉพาะในเกาะโอกินาว่าเท่านั้น โดย Orion Breweries แต่ไม่กี่ปีมานี้ได้ถูกผลิตและทำตลาดโดย Asahi Breweries ในพื้นที่อื่นๆ ของญี่ปุ่นในชื่อ Asahi Orion Draft Beer

8.Indian Beer
เดิมอัตราการบริโภคเบียร์ในอินเดียค่อนข้างต่ำ เฉลี่ยครึ่งลิตรต่อคนต่อปี แต่มีการทำนายไว้ว่า อาจจะเพิ่มเป็น 20 ลิตรต่อคนต่อปีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นของตลาดเบียร์ในอินเดียอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ต่างเข้ามาลงทุนที่นี่อย่างมากเพื่อขอเป็นส่วนหนึ่งใน 70 ล้านลังที่ขายได้ในแต่ละปี

นอกจากนี้ มีเบียร์อินเดียบางแบรนด์ที่ผลิตขึ้นเพื่อส่งออกโดยเฉพาะ และเป็นที่นิยมมากในร้านอาหารอินเดียน ที่ดังที่สุด คือ “Kingfisher” ซึ่งจัดจำหน่ายในหลายๆ ประเทศทั่วโลก และมีส่วนแบ่งในตลาดเบียร์อินเดีย 40%

Bangla Premium Beer ด้วยดีกรีแอลกอฮอล์ 5.5% ซึ่งแรงกว่าเบียร์อินเดียอื่นๆ ทำให้ผู้ดื่ม Bangla สามารถซึมซับรสชาติได้อย่างเต็มที่ด้วยสัมผัสที่เนียนนุ่ม ซึ่งเข้ากันได้ดีกับอาหาอินเดียรสเผ็ดร้อน

Cobra เป็นเบียร์สไตล์อินเดียรูปแบบใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1989 โดยครอบครัวชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ เพื่อผลิตเบียร์สไตล์อินเดียที่ไม่ค่อยมีก๊าซมากนัก โดยเริ่มต้นผลิตจากโรงงานในบังกาลอร์ ก่อนย้ายไปอังกฤษ และกลับมาตั้งโรงงานที่อินเดียอีกครั้ง กว่าครึ่งของ Cobra ที่ผลิตได้ขายในร้านอาหารอินเดียที่ประเทศอังกฤษ

Kingfisher ทุกๆ เบียร์ 4 ขวดที่ขายได้ในอินเดีย หนึ่งขวดในนั้น คือ Kingfisher ที่อยู่คู่กับประเทศอินเดียมาตั้งแต่ปี 1857 และยังเป็นเบียร์ที่ได้รับความนิยมจากร้านอาหารอินเดียทั่วโลกจำนวนมาก เบียร์ที่มีดีกรีแอลกอฮอล์ 5.0% นี้มีรสหวานเล็กน้อย

9.Chinese Beer
ด้วยประชากรที่มากที่สุดในโลก ไม่น่าแปลกใจที่ตลาดเบียร์ในจีน จะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันที่จีนมีโรงเบียร์กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งรายใหญ่ รายย่อย เกือบพันแห่ง โดยเบียร์ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากการแถบยุโรป

อย่างไรก็ตาม เบียร์สัญชาติจีนเหล่านี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศมากนัก และสามารถหาซื้อได้ตามร้านเฉพาะ หรือร้านอาหารจีน ซึ่งเบียร์จีนที่ดังนอกประเทศมากที่สุด คือ Tsing Tao

Chinese Ginseng Beer เบียร์ประเภทนี้หาได้ยากนอกภูมิภาคเอเชีย มีกลิ่นหอมของสมุนไพร พร้อมกับรสสัมผัสของขิง และไซตรัส ด้วยดีกรีแอลกอฮอล์ 4.7%

Tsing Tao เบียร์ที่ดังที่สุดในจีน ผลิตขึ้นครั้งแรกในปี 1903 โดยนักธุรกิจชาวเยอรมันที่เมือง Qingdao ในประเทศจีน Tsing Tao ใช้น้ำพุธรรมชาติจากบริเวณเทือกเขา Laoshan ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ขึ้นชื่อในเรื่องความบริสุทธิ์ของน้ำในการผลิต มีดีกรีแอลกอฮอล์ 4.5% กลิ่นหอมและรสชาติที่กลมกล่อมอดขายของ Tsing Tao เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นเบียร์อันดับหนึ่งในจีน และมีโรงเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน