คลิกเดียวเที่ยวไทย

มาถึงโค้งสุดท้ายแคมเปญ “Ultimate Thailand Explorer” กับ 5 ทีมสุดท้าย ที่ต้องประชันกันด้วย “เรียลลิตี้” เที่ยวทั่วไทย กับการถ่ายคลิป อัพโหลดรูป เขียนบล็อก เพื่อเรียกเสียงโหวต เป็นตัวชี้ขาดชัยชนะ แม้ผลยังไม่ปรากฏ แต่ที่แน่ๆ การเข้าสู่โลกออนไลน์รอบนี้ด้วยงบ 15 ล้าน กับยอดคลิก 17 ล้านครั้ง สะท้อนว่า งบไม่มากก็สำเร็จได้ แต่ไอเดียต้องเด็ด

เรียลลิตี้ออนไลน์ฉบับ ททท.

แคมเปญนี้เป็นแนวทางใหม่ในการทำมาร์เก็ตติ้งให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. จากเดิมหน่วยงานรัฐแห่งนี้เคยลงทุนนับร้อยล้านเพื่อซื้อเวลาโฆษณาใน CNN มาแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการใช้สื่อออนไลน์ล้วนๆ โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นผลิตเนื้อหาก็ให้ชาวต่างชาติถ่ายทำคลิปกันเองแล้วส่งเข้ามาว่าชอบเมืองไทยตรงไหน อยากจะโปรโมตไทยอย่างไร ซึ่งมีผลงานส่งเข้ามาถึง 359 ทีม ทีมละ 2 คน

“เราใช้งบราว 15 ล้านบาท สร้างความรับรู้เกี่ยวกับความน่าเที่ยวของไทยได้ถึงกว่า 17 ล้านครั้ง โดยงบส่วนแรกใช้กับการโฆษณาซื้อพื้นที่โฆษณาตามเว็บใหญ่ๆ ระดับสากล และส่งข่าวประชาสัมพันธ์ไปยังที่ต่างๆ การสร้างระบบเว็บไซต์ แต่งบส่วนหลังซึ่งเป็นส่วนใหญ่ใช้หลังจากนั้นไปกับการดูแล 25 ทีมสุดท้าย และเป็นเงินรางวัลให้กับรอบชิงชนะเลิศ 5 ทีมสุดท้าย” สุรพล เศวตเศรนี รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ของ ททท. เผยกับโพสิชันนิ่ง ถึงภาพรวมตั้งแต่ขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ

“สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ต่างๆ ประหยัดกว่าสื่อเดิมมาก เฉลี่ยแล้วเราลงทุนแค่ประมาณ 80 สตางค์ เพื่อสร้างความรับรู้ว่าเมืองไทยน่าเที่ยว 1 ครั้ง เป็นข้อมูลที่ตรวจวัดง่าย ถ้าเราไปซื้อเวลาโฆษณาทีวีหรือนิตยสารดังๆ นอกจากจะแพงกว่านี้หลายเท่า ก็ยังจะไม่ได้ข้อมูลแน่นอนว่ามีคนได้ดูได้อ่านแค่ไหนอีกด้วย” ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกลุ่มสารสนเทศการตลาดของ ททท. เปรียบเทียบการโปรโมตท่องเที่ยวไทยในเวทีโลกระหว่างสื่อเก่าทีวีสิ่งพิมพ์กับสื่อใหม่ออนไลน์

จากนี้ 5 ทีมสุดท้าย จะแยกย้ายกันไปที่ กรุงเทพฯ พัทยา สมุย เชียงใหม่ และภูเก็ต และใช้เวลา 10 – 17 ธันวาคม ถ่ายทอดเรื่องราวการท่องเที่ยวตลอด 7 วันออกมาเป็นบล็อก ภาพถ่าย และคลิปวิดีโอ จากนั้นจะตัดสินว่าทีมไหนจะได้รับชัยชนะ โดยวัดจากผลโหวต ซึ่งคู่ชนะเลิศรับรางวัลหนึ่งแสนดอลลาร์ หรือราว 3.3 ล้านบาท

ส่วนประเทศไทยก็จะได้รับการโปรโมตด้วยคอนเทนต์และความพยายามขอคะแนนจากชุมชนออนไลน์ต่างๆ ไปทั่วโลกของจาก 5 คู่นี้ บวกกับงบมีเดียในมือ ททท. เอง เพื่อเพิ่มการรับรู้ว่าเมืองไทยน่าเที่ยวทั้งยอดผู้เข้าชมและความถี่ในการกลับมาติดตามดูซ้ำ จากผลลัพธ์ที่ ททท. สรุปว่า “เกินความคาดหมาย” นี้ จึงเป็นไปได้มากที่ “UltimateThailand Explorer” จะกลายเป็นการแข่งขันเรียลลิตี้ออนไลน์ประจำปีที่มีซีซั่นใหม่ๆ ตลอดไปนับจากนี้

วัดผลโค้งสุดท้ายแคมเปญ Thailand Ultimate Explorer
17,294,931 ปริมาณการมองเห็นและรับรู้ข้อมูลโครงการผ่านสื่อออนไลน์
1,120,000 จำนวนเว็บไซต์ข่าวและบล็อกภาษาอังกฤษที่พูดถึงโครงการนี้
3,230 จำนวนเว็บไซต์ข่าวและบล็อกภาษาไทยที่พูดถึงโครงการนี้
70,334 จำนวนครั้งของการโหวตให้ผู้เข้าแข่งขันตั้งแต่รอบแรกถึงรอบ25ทีมสุดท้าย
24,061 จำนวนคนที่สมัครลงทะเบียนร่วมเป็น Voters ในโครงการ
356 จำนวนทีมที่ร่วมแข่งขัน จาก 59 ประเทศ

Campaign Name : “Ultimate Thailand Explorer”
Owner : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
Period : 1 กันยายน 2552 ถึง 8 มกราคม 2553
Goal : สร้างความรับรู้ (Awareness) สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในไทย โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ กระตุ้นการเดินทางมาเที่ยวไทยของชาวต่างชาติหลากหลายประเทศ
Big Idea : สร้างสื่อกลางรวบรวมคลิปวิดีโอบันทึกการเดินทางตามสถานที่ท่องเที่ยวในไทยโดยชาวต่างชาติเอง แล้วให้คนทั่วโลกร่วมโหวตชิงรางวัล เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวผ่านภาษาต่างๆ หลากหลาย
Platform : ใช้เว็บไซต์ http://ultimatethailandexplorers.com, Facebook, Twitter, Youtube และ Flickr เป็นสื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมาเที่ยวไทยเป็นคู่แล้วส่งคลิปวิดีโอท่องเที่ยว กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา หรือสมุย ชิงเงินรางวัลพร้อมแพ็กเกจท่องเที่ยวรวม 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้ผลโหวตตัดสิน