Follow me…จากดาราสู่เจ้าพ่อโฆษณาออนไลน์

เมื่อทวิตเตอร์ทำให้ Nobody กลายเป็นคนดังได้ แล้วทำไมดาราดังอย่าง Ashton Kutcher เจ้าของ @aplusk จะใช้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือกระโดดสู่เจ้าของธุรกิจสื่อและโฆษณาออนไลน์ไม่ได้

Ashton Kutcher เป็นนักแสดงหนุ่มหน้าตาหล่อทะเล้นที่เริ่มดังด้วยในปี 2005 จากซีรี่ส์ That’s 70 show และหนังรักตลก Just Married จากนั้นก็ดังกว่าเดิมด้วยการเป็นแฟนกับนักแสดงรุ่นพี่หลายปีอย่าง Demi Moore แต่มาดังสุดในปี 2009 ด้วยความที่เป็นคนแรกๆ ที่เล่น Twitter และมี Followers มากอันดับต้นๆ ของโลก คือราว 8 แสนคน สูสีกับสำนักข่าว CNN ทำให้เขาก้าวข้ามจากความเป็นสตาร์มาสู่ความเป็นซูเปอร์สตาร์ในสายตานักเล่นเน็ตชาวอเมริกันจนได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ของกล้องถ่ายรูป Nikon เมื่อเดือนมีนาคม 2008

แอชตันเป็นข่าวระดับโลกเมื่อท้า CNN แข่งว่าใครจะมี Foloowers ถึง 1 ล้านคนก่อนกัน โดยมีเดิมพันเป็นการหาสปอนเซอร์มาทำการกุศลซึ่งก็มีแบรนด์ต่างๆเข้าร่วมมากมาย ทั้งคู่เริ่มที่ราวๆ 8 แสนคนทั้งคู่ แล้วผ่านไปเพียงไม่กี่สัปดาห์ Ashton ก็ชนะ CNN ไปได้

ทุกวันนี้แอชตันในชื่อ @aplusk เป็นนักเล่น Twitter ที่มี Followers สูงสุด ล่าสุดมากถึง 4 ล้านคน และมี Fan บน Facebook ถึง 3.3 ล้าน ซึ่งด้วย Social Network นี่เองที่ทำให้แอชตันเป็น “Online Celebrity” เพิ่มจากเดิมที่เป็นแค่ “TV Star” แต่แอชตันกลับไม่พอใจที่จะหยุดไว้แค่ความเป็น Online Celeb เท่านั้น เพราะล่าสุดเขากำลังพยายามก้าวสู่ความเป็น Media Mogul คนใหม่

แอชตันวัย 31 ปี ปรับทิศทางบริษัท Katalyst ของเขาและเพื่อนๆ จากเดิมที่เป็น Production House เล็กๆ รับผลิตงานหนัง ไปเป็นบริษัทโฆษณาออนไลน์ โดยวาง Positioning ให้เป็น Production House ที่ชำนาญด้านการผลิตหนังหรือซีรี่ส์ไปพร้อมกับทำ Online Marketing ด้วย เริ่มงานด้วยการทำซีรี่ส์ชื่อเรื่อง “Katalyst HQ” มีเนื้อเรื่องกึ่งเรียลลิตี้บันทึกชีวิตการทำงานของเขาเองและทีมงานบริษัท โดยฉายทางเว็บเท่านั้น แบบ Webizode ไม่มีออกอากาศทางทีวีแต่อย่างใด

Katalyst ของแอชตัน มีลูกค้ากลุ่มแรกเป็นแบรนด์เครื่องดื่มและอาหารดังๆ อย่าง Pepsi, Kellogg, Nestle และขนมอบยี่ห้อ Hot Pockets ซึ่งนอกจาก 4 แบรนด์นี้จะได้ปรากฏในซีรี่ส์และโฆษณาบนหน้าเว็บแล้ว บริษัท Katalyst ของแอชตันยังได้สร้างและบริหาร Social Network ด้วย ไม่ว่าจะบล็อก เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ซึ่งแทบจะเป็นเครื่องหมายการค้าของแอชตันไปแล้ว

ด้วยความที่แอชตันเป็นนักเล่นสื่อออนไลน์ เขาจึงมีโลกทัศน์แบบคนสื่อดิจิตอล ไม่ใช่แบบคนทีวี เช่นการให้ความเห็นกับนิตยสาร Fast Company ว่า “อุตสาหกรรมบันเทิงกำลังจะตาย ถ้าเรายังไม่หาทางออก เราก็จะเดินตามรอยธุรกิจเพลงที่ถูกเว็บกลืนกินในที่สุด” พร้อมกับวิจารณ์ธุรกิจทีวีว่าไม่มีระบบวัดผลที่ดีพอ ติดอยู่กับการทำเงินจากระบบเรตติ้งแบบเดิมๆ ที่อิงกับ Nielsen Rating ในขณะที่วงการเว็บนั้นมีระบบตรวจวัดผลที่ดีกว่า เป็นระบบที่วัดละเอียดยิบว่าเงินแต่ละเม็ดถูกใช้จ่ายไปกับจุดไหนเท่าไรบ้าง

ล่าสุดคาตาลิสต์เดินหน้าปรับองค์กรตามแผนของแอชตันอย่างเต็มสูบ เขาดึง Sarah Ross อดีตรองประธานของ Yahoo ที่มีประสบการณ์บริหารการตลาดให้ยาฮูมาถึง 10 ปีมาเสริมทีม และยังได้พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจรายใหม่เป็นบริษัทเอเยนซี่ใหญ่ระดับโลกอย่าง Publicis อีกด้วย นับว่าการเริ่มต้นของ Ashton Kutcher ที่หวังจะเป็นนักธุรกิจวงการโฆษณานั้นน่าจับตามองอย่างยิ่งจากนี้ไป ในฐานะที่เมืองไทยก็มีดาราเซเลบฯหลายคนที่เกาะกระแสทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก และก็มีหลายบริษัทองค์กรที่เริ่มใช้ประโยชน์จากคนดังบน Social Network บ้างแล้ว

เรียบเรียงจากนิตยสาร Fast Company ฉบับ December 2009