คู่ท้าชิงใหม่

โลโก้ของดังกิ้น โดนัทที่มีถ้วยกาแฟเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งตั้งแต่ปีที่ผ่านมานั้น จะฉายภาพให้เห็นมากขึ้นในปีนี้ เมื่อมีการนำเข้าเมล็ดกาแฟคั่วบดจากเกาหลี หนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตของยอดขายเครื่องดื่มกาแฟในระดับสูงของดังกิ้น โดนัท เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย

นาดีม ซาลฮานี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลเด้น โดนัท (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ปี 2553 จะเป็นปีที่ดังกิ้น โดนัทเน้นคอนเซ็ปต์ Coffee & Donut มากขึ้น ซึ่งต้องการให้ผู้บริโภคเกิด Brand Perception ในทิศทางนี้ด้วย

เมื่อวัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่กลายเป็นกระแสหลักในเมืองไทยไปแล้ว ทำให้ดังกิ้น โดนัทขอเป็นส่วนหนึ่งในตัวเลือกของผู้บริโภคด้วยจุดขายของกาแฟสดที่ราคาต่ำกว่าคู่แข่งอย่างสตาร์บัคส์และแมค คาเฟ่ ถึง 3 เท่า

“ดังกิ้น คอฟฟี่ จำหน่ายกาแฟสดราคาแก้วละ 50-55 บาท ขณะที่กาแฟชงสำเร็จราคาแก้วละ 19 บาท ปัจจุบันมีร้านที่จำหน่ายกาแฟสดแล้ว 30 สาขา และในไตรมาส 3 ปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่ดังกิ้น โดนัท นำเมล็ดกาแฟคั่วบดเข้ามาจำหน่ายจากเกาหลี ประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดของดังกิ้น โดนัท อันเป็นผลมาจากการรุกด้วยคอนเซ็ปต์ Coffee & Donut” นาดีมให้รายละเอียด

นับเป็นทิศทางเดียวกับนโยบายของดังกิ้น โดนัท สหรัฐอเมริกา ที่ประกาศสู้ตายกับทั้งสตาร์บัคส์และแมค คาเฟ่ที่สหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว จนปัจจุบันสัดส่วนยอดขายของดังกิ้น โดนัท ที่อเมริกา มาจากกาแฟสูงถึง 80% ขณะที่ 20% มาจากโดนัท (เติบโตดีถึงขนาดที่ว่าสามารถสั่งซื้อเมล็ดกาแฟคั่วบดของดังกิ้น โดนัทได้ผ่านทางเว็บไซต์เลยทีเดียว) แปรผกพันกับเมืองไทยอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม จากรุกหนักครั้งนี้นาดีมคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนยอดขายกาแฟจากเดิม 10% เป็น 20-25% ของยอดขายรวม

ทั้งนี้ในตลาดสหรัฐอเมริกานั้น ดังกิ้น โดนัท กลายสภาพเป็นร้านกาแฟไปแล้ว ขณะที่ในเมืองไทยเอง นาดีมบอกว่ายังคงเป็นร้านโดนัทอยู่ ซึ่งภาพลักษณ์นี้เปลี่ยนแปลงได้ยาก เพียงแต่นำเสนอกาแฟเพื่อเป็น Value Added ให้กับแบรนด์ ด้านยอดขายของดังกิ้น โดนัท โดยรวมเติบโต 9%ขณะที่เฉพาะกาแฟเติบโต 18% ในปี 2552 ที่ผ่านมา

ดังกิ้น โดนัทก็เหมือนกับแบรนด์อื่นๆ ที่เกิดมานาน สาขาแรกปักหลักที่สยามสแควร์ตั้งแต่ปี 2524 ทุกวันนี้สาขานี้ได้ปรับโฉมตามแนวคิด Coffee & Donut เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยสไตล์การตกแต่งที่เน้นสีสันเพื่อครองใจวัยรุ่นยุคนี้ให้ได้ ขณะที่สาขาอื่นๆ ก็ทยอยปรับโฉมให้สดใหม่มากขึ้นด้วย

กระนั้น การขยายสาขาของดังกิ้น โดนัทไม่ได้เป็นได้อย่างง่ายดาย เพราะในขณะที่เคเอฟซี เจ้าแห่ง QSR เมืองไทยแผ่ขยายสาขาครบทุกจังหวัด และเจาะลึกระดับอำเภอไปแล้ว แต่ดังกิ้น โดนัทมีสาขา 185 สาขาใน 40 จังหวัดเท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้เกิดการเติบโตมากขึ้น

ดังกิ้น โดนัทจึงวางแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 60-80 สาขาภายในปีนี้ ซึ่งเป็นอัตราการขยายสาขาที่สูงมาก

นับเป็นเรื่องประจวบเหมาะที่ภูมิหลังของนาดีมก่อนหน้านี้ที่เคยร่วมงานกับเซ็นทรัล กรุ๊ป ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ ในยุคแรกเริ่มเปิดตลาดในเมืองไทย ทำให้เวลานี้การรุกตลาดกาแฟในเมืองไทยจึงเป็นเรื่องท้าทายอีกครั้งสำหรับเขา

อย่างไรก็ตาม หลังกรำศึกกันมาในทุก Category ทั้งโดนัทและอาหารเช้า ต้องมาดูกันต่อไปว่ามิสเตอร์ โดนัทจะมีความเคลื่อนไหวใดในส่วนของกาแฟมานำเสนอกับผู้บริโภคบ้าง และพร้อมที่จะรบกับคู่แข่งหน้าใหม่ๆ เหมือนที่ดังกิ้น โดนัททำหรือไม่ ขณะที่คริสปี้ ครีม เตรียมบุกตลาดโดนัทพรีเมียมเมืองไทยภายใต้การขับเคลื่อนของตระกูลมหากิจศิริ ในเร็วๆ นี้

สัดส่วนยอดขายร้านดังกิ้น โดนัท ประเทศไทย
80% โดนัท
10% กาแฟ
10% เครื่องดื่มอื่นๆ

ที่มา : โกลเด้น โดนัท ประเทศไทย

ส่วนแบ่งการตลาดโดนัทมูลค่า 2,200 ล้านบาท เติบโต 10% (by brand)
มิสเตอร์ โดนัท 50%
ดังกิ้น โดนัท 40%
อื่นๆ (แดดดี้ โด,แบ๊บเปิ้ล โดนัท แอนด์ คอฟฟี่) 10%

ที่มา : โกลเด้น โดนัท ประเทศไทย

เปรียบเทียบจำนวนสาขาเชนร้านกาแฟในประเทศไทย
สตาร์บัคส์ 132 สาขา
ทรู คอฟฟี่ 53 สาขา
แมค คาเฟ่ 50 สาขา
ดังกิ้น โดนัท 185 สาขา (หากจำหน่ายกาแฟสดครบทุกสาขา)