ดัชนีชี้วัดตัวใหม่

มาม่า ใกล้เดินทางมาถึงจุดอิ่มตัวเต็มที แต่การปูทิศทางมาสู่บรรจุภัณฑ์แบบถ้วยกระดาษของมาม่าตั้งแต่ 4-5 ปีที่ผ่านมา ก็เริ่มแสดงผล แม้จะไม่สามารถเพิ่มอัตราการบริโภคได้ แต่การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมาบริโภคมาม่าจากถ้วยกระดาษนั้นเป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ ดังนั้นแม้ในอีกราว 1-2 ปีข้างหน้าที่บะหมี่กึ่งสำเร็จจะถึงจุดอิ่มตัว แต่มาม่าก็ยังมียอดขายที่เพิ่มสูงขึ้นได้อยู่ จากถ้วยกระดาษที่มีราคาจำหน่ายสูงกว่าบะหมี่ซองกว่าเท่าตัว รวมถึงการสยายปีกลงทุนในตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วย

พิพัฒน์ พะเนียงเวทย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ TF บอกในงานแถลงข่าวกลุ่มย่อยด้วยรูปแบบที่เรียบง่ายสไตล์มาม่า ไร้แบ็กดร็อบ ไร้พิธีกร ว่า “ปัจจุบันอัตราการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของคนไทยอยู่ที่ 37 ซองต่อคนต่อปี และคาดว่าจะถึงจุดอิ่มตัวในอีกราว 1-2 ปีข้างหน้า ที่ 40 ซองต่อคนต่อปี หน้าที่ของเราคือการผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคแบบถ้วยมากขึ้น”

เขาเล่าว่า ในจังหวัดท่องเที่ยวพบว่ามาม่าถ้วยกระดาษเติบโตดี เพราะนักท่องเที่ยวต้องการความสะดวก กอปรกับนักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่มีงบประมาณจำกัด การฝากท้องกับมาม่าถ้วยกระดาษจึงเป็นทางเลือกที่ลงตัว

“ยิ่งท่องเที่ยวบูม มาม่าคัพก็บูม” นายใหญ่ TF ซึ่งชื่นชอบมาม่ารสต้มยำกุ้งน้ำข้นเป็นพิเศษขยายความ

ปัจจุบันมาม่ามีส่วนแบ่งการตลาดแบบถ้วยถึง 60% (คิดเป็นยอดขาย 7-8%ของมาม่า) และเมื่อรวมแบบซองด้วยมาม่าก็ยังมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ที่ 50-54%

4-5 ปีที่แล้วแบบถ้วยเติบโต 30% ต่อเนื่องทุกปี มีปีที่ผ่านมาที่โต 10% เพราะเศรษฐกิจไม่ดี

พิพัฒน์ ตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีสัดส่วนของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% จากปัจจุบันมีสัดส่วน 6% เป็นเทรนด์คล้ายประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยกว่า 50%

โดยในปี 2552 ที่ผ่านมา TF มียอดขายเพียงอย่างเดียว (ไม่รวมบริษัทร่วมทุน) 7,400 ล้านบาท ทั้งจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและบิสกิต (นิชชิน โฮมมี่)

เพื่อรองรับการเติบโต เครื่องจักรสำหรับผลิตมาม่าถ้วยกระดาษจะถูกลำเลียงติดตั้งที่โรงงานของ TF ที่ศรีราชา กระนั้นก็ยังมีการลงทุนในเครื่องจักรแบบซองอยู่ โดยจะทำให้มีกำลังการผลิตแบบซองทั้งสิ้น 6.5 ล้านซองต่อวัน ขณะที่แบบถ้วยกระดาษมีกำลังการผลิต 600,000 หีบต่อเดือน เบ็ดเสร็จลงทุนในปี 2553 ราว 500 ล้านบาท

เมื่อตลาดในประเทศอิ่มตัว การแสวงหาโอกาสจากในต่างประเทศจึงเริ่มขึ้น โดยที่เอเชียใต้มีโอกาสมากที่สุดและประเดิมที่บังกลาเทศภายในปีนี้ ซึ่งยังมีคู่แข่งน้อยและอัตราการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังต่ำเป็นตลาดเล็กเพียง30,000หีบต่อเดือน อีกทั้งยังมีประชากรมากกว่าเมืองไทยกว่า 2 เท่า (เกือบ 150 ล้านคน) ก่อนหน้านี้ TF ไปร่วมลงทุนในพม่าและกัมพูชามาแล้ว ขณะที่ตลาดจีนและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น เวียดนามกำลังอยู่ในระหว่างศึกษาและเจรจา

“สนใจลงทุนในประเทศใกล้เคียง ไปเช้าเย็นกลับได้ดีที่สุด อย่าไปไกล ดูแลไม่ทั่วถึง และทุกประเทศที่ไปร่วมลงทุนต้องการถือหุ้นเกิน 50% ถึงจะคุมได้ นอกจากนี้ต้องเลือกพันธมิตรที่เก่งในเรื่องช่องทางจำหน่ายเป็นหลักเพราะถือเป็นหัวใจ เพราะเงินเขามี เราก็มี ”

สุดท้ายพิพัฒน์บอกว่า การที่เอามามาไม่เป็นดัชนีผู้บริโภคหรือชี้วัดเศรษฐกิจไม่ถูก เพราะไม่ว่าจะคนรวยคนจนก็กินมาม่ากันทั้งนั้น และ ณ ตอนนี้ เรื่องขึ้นราคามาม่าไม่อยู่ในหัวสมองของเขา

ที่แน่ๆ ภายใน 2 ปีข้างหน้า TF ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นองค์กรหมื่นล้าน หรือมียอดขายแตะที่ 10,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรก

ที่มา : www.instant-ramen.net