แรงใจของแรงเยอร์

เก็บตัวเงียบมานานเกือบ 2 ปี กว่าไทยเบฟฯจะตัดสินใจพา “แรงเยอร์” เครื่องดื่มชูกำลังที่ได้เทกโอเวอร์มาเมื่อเดือนมีนาคม 2551 กลับสู่ตลาดอีกครั้ง

มารุต บูรณะเศรษฐกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ที่ทำหน้าที่ดูแลพอร์ตเครื่องดื่มนอน-แอลกอฮอล์ บอกว่า การกลับมาครั้งนี้ แม้จะปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้ทันสมัยมากขึ้น โดยเปลี่ยนฝาขวดเป็นสีแดงสดใส ออกแบบโลโก้สามมิติ และเพิ่มรายละเอียดของฉลากให้สวยงาม โดยเน้นเสือให้ตัวใหญ่ขึ้น

รวมทั้งการปรับรสชาติใหม่ให้ถูกปากผู้บริโภค และเพิ่มส่วนผสมที่มีประโยชน์อย่างวิตามินซี ตามแนวโน้มของกระแสสุขภาพ

แต่สิ่งหนึ่งที่ติดตัวแรงเยอร์มาตั้งแต่แรกและมารุตตัดสินใจคงเอาไว้ คือ Tagline

“แรงใจไม่มีวันหมด” ยังคงมีประสิทธิภาพในการสื่อสารอยู่ แม้ว่าแบรนด์จะไม่ได้มีการเคลื่อนไหวมานาน แต่จากการสำรวจผู้บริโภคพบว่า กว่า 100% ของผู้บริโภคยังจำ Tagline อันนี้ได้อย่างแม่นยำ

และเป็นแรงใจสำคัญอย่างหนึ่งของไทยเบฟฯ ในการประกาศพาแรงเยอร์ลุยเครื่องดื่มชูกำลังรอบใหม่

“เรายังคงใช้ Tagline เดิมต่อไป เพราะสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในแง่ภาพลักษณ์ของสินค้า”

ภายใต้สโลแกนเดิม มารุตได้นำมาพัฒนาเป็นภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ โดยได้ลงลึกไปใน Insight ของผู้บริโภคว่าในการใช้ชีวิตทุกวันนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากไหน ซึ่งแรงใจจากครอบครัว คือ คำตอบส่วนใหญ่ที่ได้รับกลับมา จนกลายมาเป็นภาพยนตร์โฆษณาในชื่อชุด “แรงใจ” ซึ่งสื่อสารออกมาในรูปแบบที่เข้าใจง่าย และได้เป็นเอก รัตนเรือง มาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาให้

ขณะเดียวกัน ภาพรวมแนวทางการสื่อสารการตลาด มุ่งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับภาพลักษณ์ความเป็นแบรนด์เครื่องดื่มสำหรับคนทำงานที่ขยับอายุให้ลงมาน้อยกว่าเดิม ตั้งแต่ 25 – 54 ปี

การกลับมาครั้งนี้ ไทยเบฟฯไม่ได้ตั้งเป้าให้แรงเยอร์ไว้สูงมากนัก มารุตบอกว่า คงไม่กล้าใช้คำว่า “ท้าชิง” กับแบรนด์ใหญ่ๆ ที่ปีหนึ่งทุ่มงบการตลาดกันหลายร้อยล้านบาท แค่ขอ “ส่วนแบ่งการตลาด” เท่านั้น โดยขอขยับส่วนแบ่งจากเดิมที่มีเพียง 3% เป็น 5% ของมูลค่าตลาด 15,000 ล้านบาท

โดยเชื่อมั่นว่า ความแข็งแกร่งของเครือข่ายจัดจำหน่ายของไทยเบฟฯที่กระจายอยู่ตามทั่วประเทศ ทั้งเอเย่นต์รายใหญ่ประมาณ 500 แห่ง และร้านค้าปลีกที่รถส่งสินค้าสามารถเข้าถึงได้อีกมากกว่า280,000 ร้านค้า จะช่วยผลักดันให้แรงเยอร์กลับสู่การแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังได้อย่างสมศักดิ์ศรี และสามารถเบียดขึ้นเป็นเบอร์สามของตลาดได้ภายในอีกสามปีข้างหน้า

ส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง
มูลค่าตลาด 15,000 ล้านบาท
เอ็ม-150 55%
กระทิงแดง 20%
คาราบาวแดง 10%

ปัจจัยในการเลือกซื้อ
1.รสชาติ
2.ราคา
3.โปรโมชั่น