ตำแหน่งนี้…เราจอง

Location Based Service (LBS) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสุดฮอตในเวลานี้ โดยเป็นบริการที่อาศัยการระบุพิกัดตำแหน่งจากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งการระบุตำแหน่งจากสถานีฐานของโทรศัพท์มือถือ (Cellular Sites) หรือถ้าจะแม่นยำมากขึ้นไปอีกก็จะเป็นการระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลกผ่านดาวเทียม (GPS : Global Positioning System) โดยสามารถระบุตำแหน่งของอาคาร ไปจนถึงสิ่งของ ได้ในระยะ 5 เมตรเหนือพื้นดิน

ทำให้หลายธุรกิจนำไปประยุกต์ใช้กับกิจการของตน เช่น แท็กซี่ GPS, การรายงานข่าวพร้อมระบุพิกัดข่าว (GeoNews), การทำระบบป้องกันขโมยรถยนต์ ที่เมื่อรู้ตำแหน่งรถที่หายไป ก็สามารถใช้มือถือสั่งดับเครื่องแบบไร้สายได้ทันที เป็นต้น

สำหรับวงการโฆษณาบนมือถือ ก็เติบโตพร้อมๆ กับระบบ LBS ด้วยเช่นกัน ซึ่งเราก็เรียกมันว่า Location Based Advertising (LBA) กล่าวคือ มีการส่งสารโฆษณาไปยังผู้รับแต่ละคน ณ สถานที่ที่ผู้บริโภคอยู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เขาเคยไปประจำ ย่อมจะมีโอกาสให้ผู้บริโภครู้สึกว่าตนได้รับประโยชน์จากสารโฆษณานั้นๆ เพราะมันมีความเกี่ยวข้อง (Relevancy) กับตัวเขาจริงๆ

จากผลการวิจัยของบริษัท AdLocal ผู้ทำการโฆษณาแบบ LBA ในแว็บไซต์ต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่นพบว่า อุตสาหกรรมที่เหมาะสมที่สุดกับเทคโนโลยีนี้ก็คือ ร้านอาหาร และร้านเสริมสวย และนอกจากนี้แล้วการขึ้นข้อความหรือป้ายโฆษณาบนมือถือที่สอดคล้องกับตำแหน่งที่ผู้ใช้มือถือยืนอยู่ก็จะเกิดการคลิกชม (CTR : Click Through Rate) สูงถึง 395% เมื่อเทียบกับโฆษณาทั่วไป

มี 2 ตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ LBA บนมือถือได้อย่างน่าทึ่ง

Foursquare ที่ไหนดี ที่ไหนเจ๋ง ก็บอกให้เพื่อนรู้ เพื่อให้เราเป็นกูรู

Foursquare เป็นแอพฯ ที่เกิดมาเพื่อใช้งานบนมือถือโดยเฉพาะ โดยผสานระหว่าง Mobile Social Application และ LBS เข้าไว้ด้วยกัน

หัวใจหลักในการใช้งานก็คือ ไม่ว่าขณะนี้คุณกำลังอยู่ที่ไหน หยิบมือถือ > เข้าแอพฯ > กดปุ่ม Check-in ระบบจะทำการระบุตำแหน่งของคุณโดยอัตโนมัติ ซึ่งอาศัยข้อมูลจากพิกัดจีพีเอส หรือสถานีฐานมือถือ > พิมพ์ข้อความบางอย่างที่คุณรู้สึกต่อสถานที่นี้ลงไป > จากนั้นข้อมูลทั้งสถานที่และข้อความนี้ก็จะถูกเก็บรวมไว้ด้วยกัน เพื่อให้คนอื่นที่เป็นสมาชิกโปรแกรมนี้เข้ามาติดตามอ่านได้ทันที และเมื่อคนนับล้านใช้ฟี เจอร์นี้เช็ก-อินที่นั่นที่นี่ไปทั่วโลก ก็เป็นเหมือนการเขียนสมุดเยี่ยมไปด้วยในตัว ซึ่งสมุดดิจิตอลนี้สามารถใส่ข้อมูลทั้งทิป และสิ่งที่ควรทำในแต่ละสถานที่ได้ด้วย ในที่สุดก็จะทำให้เรารู้ว่า ณ ตำแหน่งไหน? มีอะไรดีๆ ซ่อนอยู่ รวมถึงรู้ด้วยว่าเพื่อนซี้ของเราคนไหน? ขณะนี้ไปอยู่ที่ไหน? และเธอทานหรือทำกิจกรรมอะไรที่เด็ดๆ บ้าง

นอกจากนี้ Foursquare ยังให้สิทธิ์กับทุกคนเพิ่มตำแหน่ง/ค้นหา สถานที่ตัวเองในทุกตารางนิ้วของโลกใบนี้ และฟี เจอร์หลักอีกอย่างที่ทำให้สมาชิกเข้ามาใช้บริการของ Foursquare อย่างต่อเนื่องก็คือ ระบบการให้รางวัลตามลำดับความถี่ในการเช็ก-อิน กล่าวคือ เมื่อคุณเช็ก-อินที่สถานที่เดิมซ้ำๆ บ่อยๆ ระบบก็ให้ป้ายติดหน้าอก (Badges) กับคุณว่าคุณเป็นระดับซูเปอร์สตาร์ หรือผู้ว่าของสถานที่นี้ไปโดยปริยาย ยิ่งได้รับมากตำแหน่งเท่าไหร่ ความเท่ก็จะติดตัวคุณไปเป็นทวีคูณ

ล่าสุด Foursquare ยังฮอตได้อีก โดยจับมือกับพันธมิตรทั้งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Metro และโทรทัศน์ Bravoเพื่อให้ดาราหรือคอลัมน์นิสต์ตัวจริงมาเป็นสมาชิกของที่นี่ ตลอดจนใส่ข้อมูลที่มาจากความรู้สึกของตัวเองจริงๆ เช่น รีวิวร้านอาหาร ทิปการทานอาหารจานแปลกๆ เพื่อให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือกับสมาชิก Foursquare

ฉะนั้น โอกาสที่ร้านกาแฟเล็กๆ ริมถนนอโศกจะหันมาทำระบบ Digital CRM แบบอินเทรนด์ได้ง่ายๆ โดยการยกเลิกระบบสะสมแต้มที่เป็นกระดาษซีร็อกส์ให้กับลูกค้าในละแวกนั้น และเปลี่ยนมาเป็นการสมัครเป็นสมาชิกที่ Foursquare และเลือกส่งข้อความพิเศษให้กับลูกค้าที่เข้ามาเช็ก-อินที่ร้านคุณเกิน 10 ครั้งขึ้นไป นอกจากตำแหน่งร้านของคุณจะเป็นที่รู้จักกับคนทั้งโลกแล้ว ลูกค้าประจำก็ต้องติดใจจนกลับมาออร์เดอร์คาปูชิโน่แก้วโปรดทุกๆ วันอย่างแน่นอน (อ่านวิธีการเสนอคูปองจากร้านค้าตนเองบน Foursquare ได้ฟรีที่นี่ http://foursquare.com/businesses/)

Near Me & Google Buzz รู้ว่าอะไรดีๆ อยู่ใกล้ๆ ตัวเรา

เรารู้กันอยู่แล้วว่ากูเกิลเป็นบริษัทเดียวที่มีรายได้จากโฆษณาออนไลน์อย่างแท้จริง และมากที่สุดในโลก ฉะนั้นการยกระดับให้ข้อมูลทั้งหมดที่กูเกิลมี ถูกเสิร์ฟให้คุณอย่างถูกที่ ถูกเวลา ก็เป็นการบ้านข้อแรกของกูเกิล ตอนนี้หากคุณเข้าเว็บบนมือถือ โดยพิมพ์คำว่า google.com/m ใต้ช่องค้นหาก็จะพบกับคำว่า Near Me now เมื่อคลิก ก็จะพบกับข้อมูล ร้านค้า ร้านอาหาร ตู้เอทีเอ็ม สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ๆ จุดที่เรายืนอยู่ (อาศัยข้อมูลพิกัดจากจีพีเอส) โดยที่เรามิต้องแม้แต่จะพิมพ์ข้อมูลค้นหาใดๆ ลงไป

นอกจากนี้แล้วล่าสุด กูเกิล ยังยกระดับให้เว็บเมลจาก Gmail ให้มีฟีเจอร์ของความเป็นเว็บไซต์ประเภทเครือข่ายทางสังคมแบบออนไลน์ (Social Network Site) ด้วยการเปิดบริการกูเกิลบัซ (Google Buzz) ที่ให้คนโพสข้อความต่างๆ และให้เพื่อนมาติดตามข่าวจากเราได้ เหมือนๆ กับที่ชาวเน็ตปฏิบัติกันอยู่ในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์

แต่จุดที่เกี่ยวข้องกับ LBA ก็คือ การใช้งานกูเกิลบัซบนมือถือ ทุกครั้งที่คนโพสข้อความจะมีการใส่พิกัดตำแหน่งที่ตัวเองอยู่ลงไปทันที และเมื่อเราคลิกดูที่ชื่อพิกัดสถานที่ ก็สามารถทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ ในกรณีที่เป็นร้านอาหาร ก็จะมีประวัติร้าน ภาพ วิดีโอ ที่เกี่ยวข้อง เบอร์โทรศัพท์ร้าน รวมถึงรีวิวจากผู้ใช้บัซคนอื่นๆ ที่โพสความเห็นเอาไว้ เมื่อคุณพบว่ายิ่งได้รับทราบข้อมูลมากเท่าไหร่ ยิ่งจะต้องไปลองให้ได้ ก็เพียงแตะที่ปุ่มแผนที่เพื่อดูสภาพจราจร คำนวณเส้นทาง และเดินทางไปได้ในที่สุด

กูเกิลบัซบนมือถือ นับเป็นจิ๊กซอว์ตัวที่สำคัญที่นำประโยชน์จากสารพัดบริการที่กูเกิลมีอยู่ มาผสานเข้าหากันและแสดงศักยภาพได้อย่างน่าทึ่ง อันได้แก่ ประวัติส่วนตัว (Google Profile), อีเมล (Gmail), บริการดูแผนที่ (Google Maps) พร้อมดูสภาพการจราจร ซึ่งข้อมูลในแผนที่กูเกิลประเทศไทยอยู่ในระดับแอดวานซ์ที่สุดในเอเชียแล้ว และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การปักหมุดลงโฆษณาร้านค้าของร้านค้ารายย่อยๆ บนแผนที่กูเกิลนั่นเอง (Google Local Business Center)

ถึงตอนนี้ เมื่อเจ้าของธุรกิจรายเล็กๆ มองเห็นโอกาสและอยากจะดังไปทั่วโลก การเข้าประมูลเพื่อลงโฆษณากับกูเกิลในตอนนี้ก็ถือเป็นการลงทุนที่มองเห็นผลรำไร ดูวิดีโอสาธิตการใช้งาน กูเกิลบัซ บนมือถือ ที่นี่ http://j.mp/google-buzz-mobile

สำหรับผู้บริโภคที่มองว่าระบบ LBA อาจจะเป็นการเพิ่มปุ่มรับรู้โฆษณาของตัวเองมากเกินจำเป็น ก็จะต้องรู้ว่าจะปิดระบบระบุพิกัดที่ฟี เจอร์ไหน? เพราะมิฉะนั้นทุกอย่างที่คุณใช้งานบนมือถือ มันก็จะระบุตำแหน่งของคุณได้ทั้งหมด เช่น ทวีตข้อความใหม่ (geo-location) โพสรูปภาพ (geo-tagging) หรือแม้กระทั่งการเปิดเล่นแอปฯทั่วๆ ไปบนมือถือ หรือกล่าวโดยสรุปก็คือ ต้องติดตามและใช้ เทคโนโลยีให้เป็นนั่นเอง