ผ่ายุทธศาสตร์ เป๊ปซี่เทกโอเวอร์เสริมสุข

ธุรกิจน้ำดำของไทยกำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยนของยุทธศาสตร์ธุรกิจครั้งสำคัญ…

เมื่อเป๊ปซี่เปิดเกมเทกโอเวอร์บริษัทเสริมสุข Bottler ผู้บุกเบิกตลาดในไทยให้กับเป๊ปซี่มายาวนาน เพื่อรวบธุรกิจบรรจุขวดมาอยู่ในมือ หวังว่าการซื้อกิจการครั้งนี้จะเพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน ให้ทันกับการแข่งขันมากขึ้น

นับเป็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากที่เคยอยู่ในมือตระกูลบุลสุข สู่มือของบริษัทแม่ เป๊ปซี่โค อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ฟากโค้ก ซุ่มจับมือ 3 พันธมิตร ไทยน้ำทิพย์ – หาดทิพย์ – โคคา-โคลา (ประเทศไทย) ที่เคยห่างหายกันมาในช่วงหนึ่ง โค้กจะเดินเกมเหมือนอย่างที่เป๊ปซี่ทำหรือไม่
เดิมพันครั้งนี้จึงต้องจับตา

เปิดบิ๊กดีล

แม้ว่าการเข้าซื้อกิจการจากบริษัทลูกที่อยู่ในท้องถิ่นแต่ละประเทศคืน กำลังเป็นแนวทางสำคัญในการเพิ่มศักยภาพและขยายการเติบโตของบริษัทที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้จากธุรกิจรถยนต์ ที่บริษัทแม่ในต่างประเทศขอซื้อกิจการคืนจากบริษัทท้องถิ่นที่บริหารโดยเจ้าของคนไทย

แต่ในธุรกิจน้ำอัดลม ที่ความสำเร็จตลอด 50 กว่าปีที่ผ่านมาขึ้นอยู่กับการบริหารงานของเจ้าของคนไทยเป็นสำคัญ กลับกำลังเจริญรอยตามแนวทางข้างต้น

เมื่อ เป๊ปซี่โค และผู้บริหารของบริษัทย่อยของเป๊ปซี่ในประเทศไทย ร่วมทุนกันในชื่อของบริษัท สตราทีจิค เบฟเวอร์เรจเจส (ประเทศไทย) ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ฯ ทั้งหมดของบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน)

ราคาเสนอซื้อระบุไว้ที่ 29 บาทต่อหุ้น ซึ่งราคานี้เป็นราคาที่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขบางประการในการทำคำเสนอซื้อ ซึ่งราคาดังกล่าวสูงกว่าราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉลี่ยย้อนหลัง 90 วัน อยู่ 61%

ฮิว กิลเบิร์ต ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร เป๊ปซี่โค ประจำทวีปเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ที่มาปรากฏตัวในงานแถลงข่าว แทน มร.ซาด อับดุล-ลาตีฟ ซีอีโอ เป๊ปซี่ โค ประจำทวีปเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ให้เหตุผลในการเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของเสริมสุขว่า เป็นเพราะต้องการมุ่งสร้างการเติบโตระยะยาวของเสริมสุขในประเทศไทย

เป๊ปซี่ ในประเทศไทย เป็นเพียงไม่กี่แห่งทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จในฐานะผู้นำตลาดน้ำอัดลม เอาชนะคู่แข่งตลอดกาลอย่าง โคคา – โคลา และนี่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของตลาดน้ำอัดลมในประเทศไทยที่มีต่อเป๊ปซี่โค จนไม่สามารถให้เป๊ปซี่ในประเทศไทยเผชิญกับความเสี่ยง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาดและการแข่งขันได้

ปริญญา กิจจาธนพันธ์ ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด และเป็นหุ้นส่วนคนสำคัญในสตราทีจิส เบฟเวอร์เรจเจส ร่วมกับ ดร.ทรงยศ เรืองสกุลราช ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง บอกว่า การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในตลาดน้ำอัดลมเท่านั้น แต่รวมถึงตลาดเครื่องดื่มบรรจุขวดทั้งหมด

ที่ผ่านมา ปริญญา บอกว่า สภาพตลาดเครื่องดื่มบรรจุขวดเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเภทเครื่องดื่มที่มีส่วนแบ่งในตลาดอันดับ 4 5 และ 6 ลงมา ที่เริ่มมีการเติบโตให้เห็นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ตามความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้น เห็นได้ชัดจากสินค้าประเภท Functional Drink ทั้งหลาย โดยมีสินค้าใหม่เข้ามาในตลาดมากถึง 400 – 500 SKU ตลาดเปิดกว้างมากขึ้นและมีความหลากหลายไม่ต่างจากประเทศญี่ปุ่น
ขณะเดียวกัน การแข่งขันระหว่างเครื่องดื่มน้ำอัดลมเองได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากปี 2549 เป็นต้นมา ที่ บิ๊กโคล่า น้ำอัดลมไร้กาเฟอีนจากประเทศเปรู ตัดสินใจเลือกประเทศไทย เป็นฐานแห่งแรกในเอเชีย ในขณะที่โคคา – โคลา ก็ได้พยายามสานความสัมพันธ์ระหว่างสามเครือข่าย ประกอบด้วย ไทยน้ำทิพย์ หาดทิพย์ และ โคคา – โคลา (ประเทศไทย) เข้าด้วยกัน

ปริญญา เผยว่า โอกาสในการเติบโตของเครื่องดื่มบรรจุขวดมาถึงแล้ว แต่เป๊ปซี่จะทำอย่างไรให้จับเทรนด์ได้ทัน และออกสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เพราะพอร์ตสินค้าที่เป๊ปซี่ถืออยู่ในมือมีอีกเป็นจำนวนมาก และครอบคลุมในหลายตลาดเครื่องดื่มบรรจุขวด

รวมทั้งการตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลม โดยเฉพาะความแข็งแกร่งของบิ๊ก โคล่า ในตลาดต่างจังหวัด จนเกิดสภาพป่าล้อมเมืองอย่างเช่นปัจจุบัน

ทั้งหมดเป็นเหตุผลที่ทำให้เป๊ปซี่ โคตัดสินใจมุ่งสร้างการเติบโตในระยะยาวให้กับเสริมสุขในประเทศไทย ด้วยการเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของเสริมสุข ซึ่งจะทำให้บุคลากรระหว่างเป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง กับเสริมสุข ทำงานเป็นทีมเดียวกันมากขึ้น และจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการทำงานเพื่อให้ทันกับเทรนด์ตลาดที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วแล้ว

แต่หลังจากนั้นคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

สัดส่วนผู้ถือหุ้น เสริมสุข
เป๊ปซี่โค 41.56 % (ถือผ่าน เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง 24.94 % เซเว่น-อัพ เนเธอร์แลนด์ 16.6 %)
ตระกูลโอสถานุเคราะห์ 15 %
ตระกูลบุลสุข 7 %
ผู้ถือหุ้นรายย่อย 36.46 %

ทำไมเป๊ปซี่ต้องไล่ซื้อ Bottler
การเข้าเทกโอเวอร์เสริมสุขแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือใหม่สำหรับ PepsiCo แต่อย่างใด
ก่อนที่จะประกาศเจตนาว่าจะซื้อหุ้นจากเสริมสุข เป๊ปซี่ โคได้มีการปรับเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจในอเมริกาเหนือ ด้วยการซื้อกิจการผู้ผลิต 2 กิจการ คือ เป๊ปซี่ บอทเทิลลิง กรุ๊ป และเป๊ปซี่ อเมริกา ด้วยเงินกว่า 7,800 ล้านดอลลาร์ จนสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดไปตามๆ กัน เพราะเป็นการเปลี่ยนลักษณะการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มน้ำอัดลมในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยนอกจากเป๊ปซี่แล้ว โคคา-โคลา ก็ได้ประกาศซื้อกิจการของบริษัทที่รับช่วงการบรรจุขวดน้ำอัดลมชื่อโคคา-โคลา เอนเตอร์ไพรส์ ซึ่งเป็น Bottler รายใหญ่ที่สุด ดูแลพื้นที่อเมริกาเหนือด้วยเช่นเดียวกัน

โดยนักวิเคราะห์มองว่า ที่มาของการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจทั้งของเป๊ปซี่ และโคคา-โคลา เกิดจากความต้องการที่จะลดต้นทุนการผลิตลงไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องขยับราคาขาย ในภาวะที่วัสดุหรือวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตน้ำอัดลมขยับราคาสูงขึ้นตามลำดับ แต่ผู้บริโภคไม่อยู่ในสภาวะที่จะจ่ายเงินมากขึ้นได้ ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ที่เป๊ปซี่มองการเข้ามามีบทบาทในตลาดที่ตัวเองประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างเมืองไทย ในลักษณะเดียวกัน

นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ ยังเป็นหัวใจสำคัญในการทะลุทะลวงตลาดเพื่อจับกลุ่มผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมในการดื่มแตกต่างกัน หรือแม้แต่ผู้บริโภคคนเดียวกัน ที่เลือกดื่มบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างในวาระและโอกาสต่างๆ กันไป

ความหลากหลายของบรรจุภัณฑ์จึงเป็น Key Point อย่างหนึ่ง ดังนั้น Bottler จึงต้องไล่กวดเทรนด์นี้อย่างไม่ลดละ ทั้งสีสัน รูปทรง ขนาด และวัตถุดิบที่ใช้ แต่บางครั้งก็ไม่อาจสนองตอบความต้องการของเจ้าของแบรนด์ได้มากพอ
นอกจากประโยชน์ในธุรกิจน้ำดำแล้ว ยังส่งผลต่อการแตกขยายไปยังน้ำดื่มประเภทอื่นๆ ของเป๊ปซี่ และโค้ก มีโอกาสสัมฤทธิผลได้ดียิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมา Bottler ของทั้ง PepsiCo และ Coca-Cola Co ล้วนแล้วแต่มีผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของตนเองจำหน่าย เหมือนกับที่เสริมสุขมีน้ำดื่มคริสตัล คลับโซดา และไทยน้ำทิพย์มีน้ำดื่มน้ำทิพย์
เมื่อกิจการของ Bottler ตกไปอยู่ในมือของ PepsiCo และ Coca-Colac แล้ว ย่อมต้องยกเลิกการจัดจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ และหันมาทำโฟกัสตลาดให้กับแบรนด์น้ำดื่มที่ส่งตรงมาจากบริษัทแม่