เมื่อผู้ใหญ่ต้องเป็นวัยรุ่นของเอชทีซี

หลังจากซัมซุงสร้างปรากฏการณ์ “Candy Effect” ให้เป็นที่ร่ำลือในวงการมือถือไปแล้ว เอชทีซีขอเดินตามด้วยการรุกตลาด “แมส” เป็นครั้งแรกด้วยรุ่น HTC Smart ที่เอชทีซีพยายามเป็นวัยรุ่นสุดๆ พลิกจากความเป็นสมาร์ทโฟนสำหรับผู้ใหญ่ Geek และแน่นอนเมื่อมาทีหลัง ก็ยิ่งต้องหากลยุทธ์การตลาดที่แตกต่าง

โจทย์ของเอชทีซีคือต้องชนกับ ”เจ้าตลาด” อย่างแคนดี้และสตาร์จากซัมซุงที่มีราคาตั้งแต่ 5 พันบาทขึ้นไป และเพิ่งล่าสุดเปิดตัวรุ่นมอนเต้ 3G ฟีเจอร์โฟนที่ความสามารถใกล้เคียงกับสมาร์ทโฟนในราคา 7,990 บาทไปไม่นาน พร้อมกับเงินหนาที่มีงบการตลาดแต่ละรุ่นหลายสิบล้านบาท รวมปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท

เอชทีซีพลิก Positioning จากพรีเมียมสมาร์ทโฟนที่เหมาะกับนักธุรกิจและวัยทำงาน ระดับราคาหมื่นขึ้นมาเป็นคอนซูเมอร์สมาร์ทโฟนที่เข้าถึงวัยรุ่นและคนทั่วไป ในราคาต่ำกว่า 7,000 บาท จึงต้องหาWay ของตัวเองเมื่อต้องแข่งกับเจ้าตลาด ด้วยการหนีกลยุทธ์ที่เจ้าตลาดใช้แล้ว สำเร็จแล้ว ที่เห็นชัดคือ ไม่ใช้พรีเซ็นเตอร์ ขณะที่ซัมซุงใช้พรีเซ็นเตอร์มาร์เก็ตติ้งที่เป็นดาราดังอย่าง แพนเค้ก และเวียร์ มาหลายรุ่น แต่เอชทีซีเลือกกลุ่มวัยรุ่นหน้าตาดีสะท้อนบุคลิกคนรุ่นใหม่ปรากฎบนสื่อโฆษณาแทน ทั้งทีวีซี และรถไฟฟ้า และสื่อ Above the lineรวม 10 ล้านบาท

ส่วนกลยุทธ์อื่นๆ คือเอชทีซี เริ่มขยายช่องทางตลาดไปยังหัวเมืองใหญ่ 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ อุดรธานี โคราช ขอนแก่น ระยอง ภูเก็ต หาดใหญ่ สุราษฎร์ โดยให้ความรู้แก่ดีลเลอร์และหน้าร้านเพื่อให้สื่อสารไปยังลูกค้าได้ พร้อมเกาะกระแสด้วยมิวสิกมาร์เก็ตติ้ง จัดแฟชั่นโชว์จากเหล่านายแบบนางแบบต่อด้วยมินิคอนเสิร์ตของ ชิน-ชินวุฒิ อินทรคูสิน ค่ายแกรมมี่

ณัฐวัชร์ วรนพกุล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เอชทีซี (ไทยแลนด์) จำกัด บอกว่า การรุกตลาดแมสในคราวนี้คาดว่าจะช่วยให้เอชทีซีมีส่วนแบ่งในกลุ่มราคา 6-7 พันบาทมากขึ้น “ปีนี้มือถือราคา 6-7 พันบาทมีแนวโน้มโตขึ้น ขณะที่ราคา 1-2 หมื่นบาทยังค่อนข้างนิ่ง” อย่างไรก็ตาม เขาไม่คาดหวังในกลุ่มแมสสูงมากนัก จึงตั้งเป้าส่วนแบ่งเพียง 1-2% ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

การปรับตัวลดราคาของเอชทีซีในครั้งนี้อาจไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะจากการจัดอันดับความนิยมสมาร์ทโฟนทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าคู่แข่งมีมากขึ้น โดยอันดับหนึ่งคือบีบี ตามด้วยไอโฟน อันดับสามคือโนเกีย และอันดับสี่คือเอชทีซี นอกจากนี้ “แอนดรอยด์” ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความสนใจและเติบโตอย่างรวดเร็ว จากที่เอชทีซีเคยเป็นผู้นำบนแพลตฟอร์มนี้ก็ต้องเริ่มแบ่ง Segment ตัวเองเพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดให้มากขึ้น โดยเริ่มจากการนำแพลตฟอร์ม BREW ที่ช่วยในการเข้าถึงโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คได้สนุก ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเปิดที่สร้างความหลากหลายให้กับการใช้งานไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ หรือโปรแกรมต่างๆ มาทดลองใช้กับตลาดแมสก่อน

ทั้งเจ้าตลาดและผู้ตามต่างแข่งกันดุเปิดตัวรุ่นต่อรุ่นชนกัน โดยทางซัมซุงก็เปิดตัวแพลตฟอร์ม BADA ที่ซัมซุงพัฒนาขึ้นเอง โดยให้นักพัฒนากว่า50 รายเข้ามาฟังสัมมนาเกี่ยวกับรายละเอียดของแพลตฟอร์มนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนแพลตฟอร์มดังกล่าวต่อไป ขณะที่เอชทีซีเน้นการพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนแพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้วอย่าง วินโดวส์ โมบาย แอนดรอยด์ หรือ BREW ให้ดีก่อน เพราะสามารถทำได้ง่ายกว่าการสร้างแพลตฟอร์มของตัวเอง

Launched 30 มีนาคม 2553 ที่สยามเซ็นเตอร์ โดยแบ่งเป็น 2 รอบ คือ ช่วงบ่ายสำหรับสื่อสายไอที และช่วงเย็นสำหรับสื่อบันเทิง
Positioning คอนซูเมอร์ สมาร์ทโฟน
Product Detail เป็นฟีเจอร์โฟนที่สามารถเชื่อมต่อโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คยอดฮิตอย่าง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ได้ง่ายบนแพลตฟอร์ม BREW ในราคาเพียง 6,750 บาท
Target วัยรุ่นอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จนถึงผู้ใหญ่อายุ 60 ปี
Market Analysis ปีนี้มือถือราคา 5-7 พันบาทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคา 1-2 หมื่นบาทเริ่มคงที่ ส่วนราคาไม่เกิน 3 พันบาทเริ่มลดลง และมักเป็นมือถือจากจีน

Brand ซัมซุง
Model แคนดี้, สตาร์
Marketing Strategy ใช้กลยุทธ์พรีเซ็นเตอร์ มาร์เก็ตติ้งสำหรับมือถือกลุ่มแมส โดยเลือกดาราดังและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมทั้งเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านการจัดกิจกรรม