“Sweet Hound” เรื่องหวานๆ ของ พรศิริ โรจน์เมธา

ยืนหยัดมากว่า 30 ปีของ Greyhound Original แบรนด์แฟชั่นจากการรังสรรค์ของภาณุ อิงคะวัต มาสู่ Greyhound Café ในปีที่ 13 ซึ่งมีหุ้นส่วนคนสำคัญและเป็นผู้บริหารที่พกพาประสบการณ์ในวงการโฆษณามากว่า 20 ปีอย่าง “พรศิริ โรจน์เมธา” โดยเป็นเวลานานกว่า 5 ปีแล้วที่เธอลาออกจากผู้บริหารสูงสุดของลีโอ เบอร์เนทท์ ประเทศไทยมาบริหาร Greyhound Cafe ธุรกิจร่วมทุนนี้อย่างเต็มตัว

ความท้าทายบทใหม่ได้เปิดฉากขึ้นภายใต้ชื่อ “Sweet Hound” ธุรกิจใหม่ของ Greyhound ที่เตรียมตัวมาร่วมปี ก่อนจะได้ฤกษ์เปิดตัวเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2553 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ติดกับ Greyhound Café สาขา เจ อะเวนิว ทองหล่อ ด้วยร้านขนาดเล็กกะทัดรัด 20 ตารางเมตร

“Greyhound เป็น Umbrella Brand ที่แข็งแกร่ง มี Food Reputation เป็นที่ยอมรับ และเราอยากให้ Sweet Houd เป็น Top 3 ของร้านขนมหวานที่วัยรุ่นนึกถึง แต่กว่าจะเปิดได้ก็ใช้เวลาศึกษาวิจัยผู้บริโภคนานมาก เพราะสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จหรือไม่ คือ รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร มีพฤติกรรมอย่างไร และรู้ว่าเขาต้องการอะไร”

โดย Sweet Hound ต้องการจับกลุ่มวัยรุ่น นิสิต นักศึกษา และFrist Jobbers ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เด็กกว่า Greyhound Cafe มีความเท่ ชอบแฟชั่น เหมือนกัน แต่ที่แตกต่างคือ เด็กลง ขี้เล่น และมีความเป็นผู้หญิงมากขึ้น ซึ่งสะท้อนผ่านโลโก้สีชมพู ลาย Polka Dot และชุดพนักงานที่ดูวัยรุ่น ทันสมัยมากขึ้น ขณะที่ร้านเป็นกระจกบานใหญ่ 3 ด้าน สอดรับกับเทรนด์ To be seen ได้เป็นอย่างดี

“Simple with a Twist” คอนเซ็ปต์อันเป็นแกนไอเดียของ Greyhound Cafe ที่ถูกส่งต่อมายัง Sweet Hound อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง โดยมีทีมงานรุ่นใหม่อย่าง อังสนา พวงมะลิต และ กริณ กิตติอำพน ร่วมบุกเบิก

“วาฟเฟิล” คือเมนูเด่นของที่นี่ ที่เป็นเมนูที่คนไทยคุ้นเคย มีความใกล้ชิด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นในแบบออริจินัล เช่น ยูซีซี และเอแอนด์ดับบลิว และไม่มีใครโปรโมตหรือทำอย่างจริงจัง แต่ Sweet Hound จะนำมา Twist ใส่ลูกเล่นผ่านการดีไซน์และองค์ประกอบต่างๆ ที่เป็น Value Added ให้วาฟเฟิลน่าสนใจและสนุกมากขึ้น ดังนั้นวาฟเฟิลของที่นี่จึงถูกแต่งองค์ทรงเครื่องราวนางแบบบนรันเวย์ของแฟชั่นวีค และมีราคาตั้งแต่ 90-300 กว่าบาท

“ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของ Share of Mouth ของผู้บริโภค เพราะโดยเฉลี่ยแล้ว 1 ใน 5 ของลูกค้า Greyhound Cafe จะสั่งเมนูของหวาน และการแยกแบรนด์ออกมาจะทำให้มี Positioning ชัดเจนมากขึ้น เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น และเด็กสมัยนี้แยกกะเพราะของคาว ของหวานได้ (หัวเราะ)”

“เราอยากให้คนปลื้มกับแบรนด์ในเครือฮาวน์ด ฮาวน์ด ของเรา” พรศิริบอกอย่างอารมณ์ดี

พรศิริบอกถึงเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันว่าจะนิยม Hang Out กับเพื่อนฝูงที่ร้านขนมหวานแทนผับบาร์ และพวกเขาจะใช้เวลาในร้านขนมหวานมากกว่าในร้านอาหาร เนื่องจากเป็นกิจกรรมสังสรรค์มีการแบ่งปันและพูดคุยกันมากกว่า ดังนั้น Sweet Hound จึงวาง Positioning เป็น “Dessert Bar”

“การเปิดร้านอาหาร ร้านขนมหวาน ใครๆ ก็เปิดได้ เด็กสมัยนี้มีตังค์ คิดไรไม่ออกก็จบ เลอ กอร์ ดองเบลอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่จะประสบความสำเร็จและอยู่ได้นานหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องขบคิดให้ดี จากผลวิจัยบอกว่า Greyhound เป็นแบรนด์ที่มี Timeless แต่เราก็ต้องมีไดนามิกให้ผู้บริโภคเซอร์ไพร์สตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา”

“ปัจจุบันเราจะเห็น Global Lifestyle ถูกส่งผ่านมายังคนไทยเร็วมาก การเกิดขึ้นของเซ็นทรัลเวิลด์กับสยามพารากอนทำให้มีธุรกิจร้านอาหารและร้านขนมหวานใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ด้วยจุดเด่นที่แตกต่างกัน ถือว่าเป็น Food & Dessert Explosion ที่ชัดเจนมาก”

ขณะที่ในอนาคตอันใกล้ Greyhound Cafe กำลังจะไปเปิดสาขาในสิงคโปร์และฮ่องกงในรูปแบบของแฟรนไชส์

“กำลังศึกษาหนักมาก คนที่ติดต่อมาก็เป็นลูกค้าประจำของเรา แต่การเปิดร้านอาหารในต่างประเทศเป็นเรื่องใหญ่ ไม่เหมือนแฟชั่น เพราะมีเรื่องของแหล่งวัตถุดิบ และรายละเอียดอื่นๆ เยอะมาก”

ส่วนการขยายสาขาในประเทศไทยยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยในปีนี้จะเปิดใหม่อีกเพียง 1 สาขา ที่คริสตัล พาร์ค และจะเป็นการก้าวออกจากเขตใจกลางกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก แต่เธอมั่นใจว่าด้วยศักยภาพของทำเลที่เป็นหมู่บ้านคนรวยและมีสไตล์จะทำให้ Greyhound Cafe ได้รับการตอบรับที่ดี

“ต้องการให้ Greyhound เป็น Boutique Chain เราไม่ต้องการมี 100 สาขา หรือเดินไปที่ไหนก็เจอ แต่จะเลือกเฉพาะ Strategic Location ที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนเท่านั้น”

เช่นเดียวกับ Sweet Hound ที่กำลังเตรียมเปิดสาขาใหม่ที่สยามพารากอน ภายในปีนี้ เช่นเดียวกัน

“อนาคตอยากให้ Sweet Hound อยู่ได้ด้วยตัวเอง อาจตั้งเป็น Kiosk หรือร้าน Stand Alone”

พรศิริทิ้งท้ายถึงหลักการบริหารงานว่า เธอให้ความสำคัญกับทีมงานในการนำเสนอไอเดียอย่างมีระเบียบแบบแผน และเชื่อมั่นในการทำงานเป็นทีมที่ต้องประกอบไปด้วยทั้ง Passion และความสามารถ

Profile

Name : พรศิริ โรจน์เมธา
Education :
Career Highlight s :
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกรย์ฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด
ประธานกลุ่มเจ้าหน้าที่บริหาร ลีโอ เบอร์เนทท์ ประเทศไทย (Group-CEO)
กรรมการผู้จัดการ ลีโอ เบอร์เนทท์ ประเทศไทย
ผู้หญิงคนแรกที่เป็นนายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย วาระ 2541-2543
Status : สมรสแล้ว
Most Admired Brand Apple : “ชื่นชมในการสู้ชีวิตและการมี Passion ในการทำธุรกิจและสร้างแบรนด์ ที่สำคัญคือ สตีฟ จอบส์ ทำงานกับพาร์ตเนอร์ที่ดีมาโดยตลอด เหมือนเรากับคุณภาณุที่ Love&Hate กันตลอดมา (หัวเราะ) มีฮอร์โมนตรงกันที่สุด”
Lifestyle : : อ่านหนังสือ ทำอาหาร ตีกอลฟ์กับสามีสัปดาห์ละครั้งในกรุงเทพฯ หากมีวันหยุดยาวจะไปพักผ่อนและตีกอล์ฟที่เขาใหญ่ และทำอาหารที่บ้านพักตากอากาศส่วนตัวที่นั่น โดยมีสุนัขตัวโปรดติดสอยห้อยตามไปด้วย
Book : : Tipping Point : how little things can make a big difference โดยMalcolm Gladwell
Role Model : ลีโอ เบอร์เนทท์ ผู้ก่อตั้งลีโอ เบอร์เนทท์ ที่มีมาตรฐานในการทำงานที่สูงและมีการวัดผลที่ชัดเจน และได้นำหลักของ Multinational Company มาปรับใช้กับ SMEs ให้ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานโดยเฉพาะคำกล่าวที่ว่า “เอื้อมมือให้สูงเข้าไว้ แม้ไม่ถึงดวงดาว แต่มือนั้นก็จะไม่เปื้อนโคลน”