ถึงยุคทีวีอัจฉริยะ ใครล่ะ? จะพร้อมกว่ากูเกิล

คนอายุ 60 ปีในวันนี้ ได้เคยทึ่งกับเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อาทิ ไมโครเวฟที่อุ่นอาหารใน 3 นาที โทรศัพท์มือถือที่เล็กกว่าฝ่ามือ หรือแม้กระทั่งคอมพิวเตอร์พกพาได้อย่างไอแพด แต่รอบปีที่ 61 ที่กำลังจะถึงนี้ พวกเขาจะพบว่าของเดิมๆ ที่เขาเห็น และใช้เวลาอยู่กับมันมาหลายปีอย่าง “โทรทัศน์” ก็ถึงเวลาที่จะต้องปรับตัวตามเวลาที่หมุนไปข้างหน้าด้วย

ผู้บริโภคอาจจะรับรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะนำมาซึ่งรายการบนทีวี ที่จะไม่ได้มีแค่ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 หรือเคเบิลทีวีอีกต่อไป แต่กลับเป็นทุกๆ ข่าว คลิปวิดีโอ ภาพ ไฟล์เพลงที่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตก็สามารถหยิบมันมาแสดงบนจอทีวีแอลซีดีขนาด 52 นิ้วได้ด้วยเช่นกัน และผู้ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมสื่อขวัญใจมหาชนตลอดกาลนี้ก็คือ “กูเกิล” บริษัทอินเทอร์เน็ตที่มีอายุเพียง 1 ทศวรรษ กับการเปิดตัว “กูเกิล ทีวี (Google TV)” ณ งานประชุม Google I/O Conference เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 53 ที่ผ่านมา และวางแผนให้ใช้งานได้อย่างเป็นทางการในปลายปีนี้

สิ่งที่เป็นนัยสำคัญคือ การที่กูเกิลขึ้นเวทีเปิดตัวกูเกิล ทีวีโดยไม่ได้ฉายเดี่ยว ผิดกับการเปิดตัวทุกบริการที่ผ่านมาที่มีแค่การประกาศผ่านบล็อกก็เพียงพอแล้ว แต่ครั้งนี้กลับมาพร้อมกับพันธมิตรทั้งขาใหญ่ในวงการทีวีอย่างโซนี่ สถานีเคเบิลทีวีอย่าง Dish Network และค่ายผลิตสินค้าไอทีอีกมาก อาทิ อินเทล โลจิเทค รวมไปถึงห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ของอเมริกันอย่างเบสท์บาย อีกด้วย

บทความฉบับนี้จะมาวิเคราะห์ถึงความพร้อมของกูเกิลที่จะปฏิวัติวงการสื่อดั้งเดิม (Traditional Media) อย่างทีวี ที่อยู่คู่ชาวโลกมากกว่า 50 ปี ด้วยสารพัดสื่อใหม่ที่มีอยู่ในมือ และไขความลับของหนทางการหารายได้ก้อนโต จากผลงานชิ้นที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์นี้

กูเกิลทีวี คืออะไร?

กูเกิล ทีวี คือ แพลตฟอร์มที่ทำงานร่วมกับทีวี (ที่มีพอร์ต HDMI) และอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (เหมือนที่กูเกิลนำมาใช้กับมือถือ และเร็วๆ นี้จะเป็นเน็ตบุ๊ก และแท็บเล็ตพีซี) และจอทีวี เพื่อผสานระหว่างการเลือกชมช่องฟรีทีวีปกติ เข้ากับเนื้อหามากมายที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตได้อย่างราบรื่น ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดพร้อมให้ผู้ชมเลือกดูได้ ทุกเมื่อที่ต้องการ

เบื้องต้นคุณสามารถใช้จอทีวีโซนี่บราเวีย ที่มีคุณสมบัติเป็นอินเทอร์เน็ตทีวี เชื่อมต่อกับกล่องอุปกรณ์ผ่านพอร์ต HDMI ที่ต่อเน็ตความเร็วสูงเอาไว้ ทำให้สามารถถ่ายทอดสัญญาณวิดีโอสตรีมมิ่ง MPEG4 ความคมชัดสูง หรือแม้แต่จะเป็นแบบสามมิติก็ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำงานด้วยขุมพลังชิปอินเทล อะตอม CE4100 แต่หากคุณอยากใช้กูเกิล ทีวี กับโทรทัศน์แอลอีดียี่ห้ออื่นก็สามารถซื้ออุปกรณ์ต่อพ่วงจากโลจิเทคที่ใช้เทคโนโลยีที่ตัวเองมีก่อนแล้วอย่างฮาร์โมนี่ เพื่อควบคุมทุกอย่างบนจอทีวีด้วยมือถือไอโฟน หรือแอนดรอยด์ ที่ทำหน้าที่เป็นรีโมตอัจฉริยะ เพราะได้ลงโปรแกรมเพื่อเปลี่ยนมือถือให้รีโมตได้แค่สัมผัสนิ้วลงไป

และหลังจากที่ห้องนั่งเล่นคุณมีอุปกรณ์เอวีทั้งหมดนี้พร้อมแล้ว ก็สามารถชมรายการจากทั้งทางฟรีทีวี และเนื้อหาต่างๆ ที่อยู่บนไซเบอร์สเปซได้ฟรี! แบบไม่มีรายเดือน เพราะกูเกิลไม่คิดค่าบริการรับชมเนื้อหาเหมือนเคเบิลทีวีทั่วไป

เมื่อกูเกิลมาทำทีวี มีอะไรใหม่?

ความฉกาจของกูเกิลรู้กันไปทั่วทั้งยุทธจักรเว็บไซต์และมือถือ และเมื่อมาถึงจอทีวี สิ่งมหัศจรรย์หลายๆ ก็เกิดขึ้นได้

ทีวีมีช่องค้นหา : เราชินกับช่องค้นหาใหญ่ๆ ในกูเกิล.คอม พอมาถึงกูเกิล ทีวี เราก็ยังสามารถพิมพ์คำค้นหาใดๆ ก็ได้ ซึ่งผลการค้นหาก็จะดึงมาจากสารพัดแหล่ง ตั้งแต่เว็บไซต์ให้บริการดูรายการทีวี อาทิ Netflix, CNBC หรือแม้กระทั่งคลิปวิดีโอนับล้านๆ คลิปในยูทูบ (ที่กินตลาด 40% ของเว็บวิดีโอทั้งหมดในโลกใบนี้) ก็พร้อมเสิร์ฟที่หน้าจอทันทีด้วย

เล่นเน็ต-เกมบนทีวีได้ : เพราะกูเกิลทีวีใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 2.1 ดังนั้นแอพพลิเคชั่นในแอนดรอยด์ มาร์เก็ตที่คาดว่าจะสูงถึง 250,000 แอพฯ ภายในปีหน้า ก็สามารถหยิบมาเล่นบนจอทีวีได้ทั้งสิ้น ไม่เพียงเท่านี้ในกูเกิล ทีวียังมีการติดตั้งเบราว์เซอร์ กูเกิล โครม โปรแกรมเปิดเว็บที่ได้ชื่อว่าเร็วที่สุดในโลก ทำให้คุณสามารถหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตจากหน้าจอทีวีได้ทันที เช่น ระหว่างดูสารคดีสัตว์ คุณสามารถเข้าสารานุกรมเสรีออนไลน์อย่างวิกิพีเดีย เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสายพันธุ์ และพฤติกรรมเฉพาะของมันได้ทันที

นอกจากนี้แล้วของโปรดของเด็กๆ และวัยทำงานก็คือ การเล่นเกมบนเว็บก็สามารถย้ายมาสนุกบนจอภาพของทีวีที่คมชัด และใหญ่ขึ้นได้ เพราะกูเกิล ทีวีรองรับการโปรแกรมแฟลช 10.1 นั่นก็หมายความว่า คุณสามารถขายเพื่อน ปลูกผัก หรือเล่นสารพัดเกมบนเฟซบุ๊กได้บนจอทีวี

ใช้มือถือแทนรีโมต : คำถามที่ต้องรีบคลายสงสัยประการต่อมาก็คือ ทีวีแบบเดิมๆ นั้นไม่มีทั้งเมาส์และรีโมต จะสนุกเหมือนกับเล่นคอมฯ ได้อย่างไร? คำตอบก็คือ เราสามารถเปิดไว-ไฟของมือถือให้เชื่อมต่อการทำงานกับเครื่องรับสัญญาณทีวีของกูเกิลทีวี เพื่อเปลี่ยนช่องโดยการจิ้มบนจอสัมผัสของมือถือแทนเมาส์ ได้ทันที (ดูวิดีโอสาธิตการใช้ มือถือแอนดรอยด์ และไอโฟน เพื่อเปลี่ยนช่องทีวี ของกูเกิล ทีวี ด้วยเทคโนโลยีฮาร์โมนี่ของโลจิเทคได้ที่นี่ http://j.mp/9YHGBU) นอกจากนี้ยังใช้ความสามารถของบริการ Google Voice Search บนมือถือเพื่อค้นหารายการทีวีด้วยเสียง (ซึ่งปัจจุบันรองรับภาษายอดนิยม อย่าง ภาษาสเปน เยอรมัน จีนกลาง ญี่ปุ่น ฯลฯ ด้วย)

แปลซับไตเติลได้ : กูเกิล แปลภาษา บริการยอดฮิตที่ทำให้แปลภาษากว่า 50 ภาษาทั่วโลก (รวมถึงไทยด้วย) ก็ถูกนำมาเป็นฟีเจอร์ไฮไลต์ของกูเกิล ทีวีด้วย สามารถแปลซับไตเติลหนังได้ในภาษาถิ่นของแต่ละประเทศ เพื่ออรรถถการรับชมภาพยนตร์ได้อย่างเต็มที่

หมัดเด็ดอยู่ตรงที่ทุกอย่างที่เล่ามานี้ สามารถทำงานไปพร้อมๆ กันได้ทันที ในกูเกิล ทีวี!

ถึงตอนนี้ผู้คนในแวดวงสื่อทั้งเก่าและใหม่ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับเทคโนโลยีนี้ โดยเบื้องต้นนักออกแบบเว็บไซต์ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องออกแบบหน้าตาเว็บของตนให้เหมาะกับการนั่งดูบนโซฟาที่ห่างจากจอหลายฟุต พร้อมปุ่มที่ใหญ่พอจะเลือกรายการได้อย่างแม่นยำ หรือหากจะออกแบบมาเป็นแอพพลิเคชั่นบนแอนดรอยด์ก็จำเป็นต้องเตรียมศึกษาตัว API และ SDK เพื่อออกแบบแอพฯให้เชื่อมต่อการทำงานได้อย่างราบรื่น

โฆษณาบนกูเกิล ทีวี

ก่อนหน้านี้ระบบกูเกิล แอดเวิร์ด-แอดเซนส์ ซึ่งเป็นการแสดงเนื้อหาโฆษณาด้วยตัวอักษรที่สัมพันธ์กับเนื้อหาหน้าเว็บเพจนั้นๆ ซึ่งประสบความสำเร็จจนกลายเป็นรายได้หลักของกูเกิล และทำให้เอเยนซี่โฆษณาที่ปรับตัวไม่ทันโลกดิจิตอลสูญเสียรายได้ค่านายหน้าไปให้กับกูเกิลไม่มากก็น้อย

พอมาถึงหน้าจอทีวี กูเกิลก็ยังคงเลือกใช้ระบบโฆษณาด้วยตัวเองของ “กูเกิล แอดเวิร์ด” ด้วยเช่นกัน วิธีการเลือกลงก็คล้ายกับการลงโฆษณาบนเว็บ แต่เปลี่ยนเป็นการเลือกกลุ่มเป้าหมาย วัน เวลา ที่จะลง และราคาที่ตนต้องการประมูล ทุกอย่างสั่งได้ตามต้องการ และเปลี่ยนจากการพิมพ์เนื้อหา และใส่ลิงค์เว็บของตัวเอง กลายมาเป็นการอัพโหลดคลิปวิดีโอโฆษณาสินค้าของตน หรือถ้าใครไม่มี ก็ยังสามารถใช้ก็มีเครื่องมือสร้างโฆษณาทีวีด้วยตัวเองได้จากโดยการเลือกธีม ใส่รูป คลิปวิดีโอ และข้อความ เป็นอันเสร็จ จากนั้นก็เพียงเข้ามาดูสถิติการเปิดชมโฆษณาแบบละเอียดยิบและประเมินผลเป็นขั้นตอนสุดท้าย

แต่ข่าวร้ายสำหรับผู้ชมก็ยังมีอยู่นั่นก็คือ โฆษณาบนกูเกิล ทีวี ไม่สามารถกดข้ามได้เหมือนบนเว็บ เพราะมันสตรีมมาแบบเรียลไทม์…