ปฏิบัติการส่งอาวุธ Chrome

บราวเซอร์ตัว e บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่หลายคนคลิกเพื่อเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตอย่างเคยชินมานานกว่า 10 ปี กำลังถูกชิงพื้นที่จาก Chrome ซึ่งเป็นอาวุธล่าสุดของกูเกิลในการปูฐานให้รายได้จากโฆษณาเพิ่มพูน และด้วยปฏิบัติการรุกของกูเกิลในประเทศไทย ยิ่งชัดเจนว่าจะไม่ปล่อยให้ชาวเน็ตพลาด Chrome ไปได้ง่ายๆ

ประเทศไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศกับอินโดนีเซีย ที่กูเกิลเลือกเปิดตัว Chrome ก่อนประเทศอื่นภูมิภาคนี้ เพราะมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นถึง 50%ต่อปี ซึ่ง “พรทิพย์ กองชุน” หัวหน้าฝ่ายการตลาดประจำประเทศไทย ประจำภูมิภาคเอเชีย-ตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่า นอกจากเน้นจุดขายด้วยเทคนิค ที่เร็ว และปลอดภัยแล้ว ยังเล่าเรื่องผ่านธีมงานศิลปะ 8 ธีม เพื่อให้ระหว่างคลิกไปหาเว็บต่างๆ ผ่าน Chrome มีสีสันมากยิ่งขึ้น โดยกูเกิลเน้นเลือกงานที่มีเอกลักษณ์ สะท้อนความเป็นไทย ที่คนไทยชื่นชอบ และโปรโมตให้ต่างชาติรู้จัก เช่น ภาพยันตร์ 5 แถวของ อ.หนู กันภัย ภาพวาดของ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญคือหาพันธมิตร ส่วนแรกซึ่งถือเป็น Shortcut อย่างดีที่กูเกิลหวังทำให้ Chrome เติบโตอย่างก้าวกระโดด คือการจับมือกับพันธมิตร 2 รายคือ ทรูออนไลน์ ที่จะติดตั้ง Chrome บนพีซีในร้านทรูไลฟ์ ทรูคอฟฟี่ 500 เครื่อง และแนะนำให้ลูกค้าที่สมัครใช้งานไฮสปีดอินเทอร์เน็ตกับทรูใช้บราวเซอร์ตัวนี้ และโปรโมตผ่านเว็บทรูแก่ลูกค้าทรูกว่า 1 ล้านคน นอกจากนี้ยังจับมือกับเอสไอเอส ตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์ที่มีเครือข่าย 3,000 ร้านค้า ติดตั้ง Chrome บนพีซีใหม่ให้ลูกค้า รวมไปถึงจะให้ความรู้เกี่ยวกับบราวเซอร์ผ่านโรงเรียนต่างๆ อีกด้วย

พันธมิตรอีกส่วนหนึ่งคือคอนเทนต์ส่วนขยายหรือ Extension คือโปรแกรมขนาดเล็กที่จะปรากฏอยู่บนหน้าเว็บเพจที่เปิดอยู่ ซึ่งเป็นระบบเปิด ให้เจ้าของเว็บคอนเทนต์ต่างๆ สามารถใช้ฟังก์ชันนี้เพื่อให้เว็บนั้นมีโอกาสถูกคลิกดูมากขึ้น มีพันธมิตรแล้วขณะนี้เช่นตลาดดอทคอม เคแบงก์

“พรทิพย์” บอกว่า การรุกครั้งนี้ของกูเกิลไม่มีผลต่อการหารายได้จากโฆษณาโดยตรง แต่มีผลทางอ้อม ถ้าบราวเซอร์ช่วยให้คนใช้อินเทอร์เน็ตสะดวกและเร็วขึ้น โอกาสการใช้ค้นหาก็มากขึ้น นอกจากนี้ในแทบอเนกประสงค์คีย์ URL ที่สามารถให้ผลเท่ากับค้นหาอีกด้วย และที่สำคัญในอนาคต Cloud Computing ที่แอพพลิเคชั่นต่างๆ สามารถทำงานผ่านบราวเซอร์ได้ โอกาสของ Chrome ก็มากขึ้น

ผลของปฏิบัติการ Chrome ขณะนี้ยังไม่ได้กวาดผู้ใช้งานไปได้มากนัก แต่อย่างน้อยก็ทำให้เจ้าตลาดอย่าง IE ของไมโครซอฟท์ ต้องขยับตั้งแต่ปี 2550 จนพัฒนาเวอร์ชั่น 8 สมบูรณ์แบบ พิสูจน์ให้เห็นว่าความเคยชินในโลกอินเทอร์เน็ตไม่มีอยู่จริง และแต่ละคลิกบนจอ ต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ส่วนแบ่งตลาดบราวเซอร์
บราวเซอร์ ก.ค.2553 ก.ย.2552
Microsoft IE 60.74% 65.71%
Firefox 22.91% 23.75%
Chrome 7.16% 3.17%
Safari 5.09% 4.24%
Opera 2.45% 2.19%