เทรนด์กล้อง-มือถือ-ทีวี ปี 2010 แบบไหนจะมา รุ่นไหนกำลังเอาต์

ถ้าอยากรู้ว่ากล้องแบบไหนกำลังมาแรง มือถือรุ่นไหนกำลังเอาต์จากตลาด ผลสำรวจจาก GFK บริษัทวิจัยตลาดค้าปลีกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ไอที และโทรคมนาคม ล่าสุดของเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีคำตอบ

แอลซีดีสดใส-บลูเรย์ดาวรุ่ง

คนยุคใหม่ที่ต้องการสนุกกับชีวิต แบบ Work Hard Play hard ทำให้ความบันเทิงในบ้านคือสิ่งจำเป็น ส่งผลให้ตลาดรวมของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งประกอบด้วย Audio หรือเครื่องเสียงในบ้าน เครื่องเล่นเพลงพกพา และในรถยนต์ และ Visual หรืออุปกรณ์แสดงภาพ ซึ่งมีทีวี ดีวีดี เครื่องอัดวิดีโอ ในปี 2010 มีมูลค่าถึง 42,900 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10% จากปีที่แล้ว

ตลาด Visual Product ยังคงเติบโต โดยทีวีสีจอแบนเป็นตัวขับเคลื่อนซึ่งมีมูลค่าตลาด 85% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด โดยเครื่องเล่นดีวีดี Blu-ray เป็นของเล่นเพื่อความบันเทิงในบ้านที่น่าจับตา ขณะที่ตลาด Audio มีแนวโน้มมูลค่าตลาดลดลง เพราะคนเริ่มมองหาความคุ้มค่าในการหาความบันเทิง และเลือกทีวีมากกว่า ขณะเดียวกันกลุ่มเอ็มพี 3 -4 ยังถูกแย่งตลาดจากมิวสิกโฟน

กลุ่มทีวี มีไฮไลต์คือผู้บริโภคยังคงมีแนวโน้มโละทีวีแบบเก่า (CRT-TV) มาเป็นทีวีจอแบน ทั้งแอลซีดี แอลอีดี และพลาสม่า ที่มีราคาลดลงเรื่อยๆ และดีไซน์สวยขึ้น ตลาดยังคงเป็นผู้ผลิตสร้างดีมานด์ให้ผู้บริโภค ด้วยการผลิตทีวีให้เข้าถึงทุกเซ็กเมนต์ โดยแอลซีดียังครองตลาดส่วนใหญ่อยู่ 36% แต่แอลอีดีก็มีแนวโน้มเติบโตดี ทั้งที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นแม้จะมีส่วนแบ่งอยู่ประมาณ 2% ก็ตาม

ส่วนพลาสม่ายังได้เปรียบเรื่องราคา ถูกกว่าแอลซีดี จึงเป็นทางเลือกสำหรับกลุ่มที่มีกำลังซื้อน้อยกว่า โดยคาดว่าตลาดแอลซีดีจะมีถึง 1.2 ล้านเครื่อง แอลอีดี 80,000 เครื่อง พลาสม่า 170,000 เครื่อง

แอลซีดี 40 นิ้วเบียด 32 นิ้ว

ขนาดทีวีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในไตรมาส 2 ปี 2010 คือแอลซีดีขนาด 30-33 นิ้ว ส่วนที่น้อยที่สุดคือขนาดน้อยกว่าหรือ 20 นิ้ว แต่จอที่ใหญ่ขึ้นทั้งแอลซีดีและพลาสม่า ขนาดมากกว่า 40 นิ้ว เติบโตเพราะมหกรรมฟุตบอลโลกที่ผ่านมา และจากแคมเปญลดราคาจากซื้อ 1 แถม 1 และร่วมโปรโมชั่นผ่อนกับเครดิตการ์ดจะทำให้จอขนาด 40 นิ้วมียอดขายมากขึ้น

ในด้านราคาที่ลดลง เกิดขึ้นเพราะผู้บริโภคเน้นความต้องการโดยเลือกขนาดจอ แต่ผู้ผลิตพยายามทำตลาดทีวีเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้แอลซีดีและพลาสม่า ขนาด 40-42 นิ้ว ในไตรมาส 2 ปี 2010 ราคาลดลงจากไตรมาส 3 ปีที่แล้ว ประมาณ 20% อยู่ที่ 27,135 บาท และ 20,801 บาท จอขนาด 50 นิ้ว ลดลง 25%

สำหรับกลุ่มเครื่องดีวีดีมีแนวโน้มยอดขายลดลง เพราะมีการนำเข้าในราคาถูกลง ขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่เริ่มเน้นเครื่องเล่น Blu-ray ที่กำลงเติบโต เพราะผู้ผลิตเริ่มปรับราคาลงมา และแถมกับทีวี จากไตรมาส 3 ปี 2009 ราคาเคยอยู่ที่ 15,894 บาท มาไตรมาส 2 ปี 2010 ราคาหล่นมาที่ 8,654 บาท

กล้องเปลี่ยนเลนส์มาแรง

ชีวิตพกกล้องมีให้เห็นตั้งแต่ไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นไปจนถึงผู้บริหารองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกระแสอวดรูป และคอมเมนต์ทางออนไลน์ ผ่านโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค GFK คาดว่าตลาดกล้องดิจิตอลจำนวนจะเติบโต 13% ในปี 2010 ส่วนมูลค่าอยู่ที่ 6% แต่ที่น่าจับตา คือยุคนี้ต้องเล่นกล้อง DSLR ที่คาดว่าจะโตถึง 28% คาดว่าจะทำยอดขายได้ถึง 73,000 ตัวเพราะแบรนด์ใหญ่ๆ ทำตลาดมากขึ้น เพราะไม่ใช่แค่มือโปรลงมาเล่นเท่านั้น แต่คนทั่วไปก็สนใจ โดยการแข่งขันของผู้ผลิตเริ่มเล่นในเรื่องของสีเพื่อดึงกลุ่มเป้าหมาย ที่เห็นชัดเช่น เพนแท็กซ์ k-x

ต้องจับตากล้อง MirrorLessซึ่งเป็นกล้องคอมแพคที่เปลี่ยนเลนส์ได้ก็มาแรง ที่เริ่มจากโอลิมปัส พานาโซนิค และตามด้วย ซัมซุง ริโค โซนี่ แคนอน และนิคอน จะตามมาในปี 2011 ซึ่งคาดว่าในปีหน้าตลาดนี้จะมียอดขายประมาณ 12,000 ตัว

สตนลีย์ คี ผู้อำนวยการเชิงพาณิชย์ระดับภูมิภาค GFK Asia บอกว่า กล้องคอมแพคที่เปลี่ยนเลนส์ได้กำลังมีอนาคตสดใส ส่วนDSLRที่มีอยู่ในตลาดตอนนี้แม้ว่าราคาเริ่มลดลงและยอดขายเติบโต แต่ยังติดปัญหาเรื่องของการใช้งานที่ค่อนข้างยาก เมื่อคอมแพคที่เปลี่ยนเลนส์ได้สามารถซูมได้มากขึ้น มีความสามารถมากขึ้น จึงเป็นส่วนสำคัญในตลาดกล้องต่อไป

“ในอีก12เดือนข้างหน้านี้จะเห็นตลาดเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง และจะมาแทนกล้องคอมแพคธรรมดาเช่นเดียวกับมือถือแบบธรมมดาจะลดลงและสามร์ทโฟนมาแทนมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาตลาดและราคาที่ไม่แพงมากและเราคิดว่าน่าจะทำตลาดได้ดี”

กราฟิกในพาวเวอร์พอยท์แผ่นที่ 15 4 Figure 14: (Total Market Demand of Digital Still Camera.) ส่วนแบ่งตลาดประเภทกล้องดิจิตอล

10 ไม่พอต้อง 14 ล้านพิกเซล

สำหรับแนวโน้มคุณสมบัติความละเอียดภาพ กำลังมุ่งไปที่ 12 MP (ล้านพิกเซล) ด้วยส่วนแบ่ง 57% แทนที่ส่วนใหญ่ที่ 10 MP แต่ที่ต้องจับตาคือ 14 MP ที่คาดว่าในปี 2011 จะเป็นขนาดที่ลูกค้ากล้องส่วนใหญ่ต้องการ สำหรับราคากล้องที่ผู้บริโภคนิยมซื้อคือต่ำกว่า 5,000 บาท มีถึง 56% ของตลาด ส่วนการแข่งขันแบรนด์ใหญ่ๆ จะเน้นไปที่ตลาดกลาง โดยรักษาระดับราคาไว้ที่ 5,000-10,000 บาท ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 29%

GFK สรุปว่าราคาเป็นปัจจัยสำคัญในตลาดกล้องดิจิตอล ที่ถูกลงจนสามารถขับเคลื่อนการเติบโตจากกลุ่มแมสที่แม้จะเริ่มอิ่มตัว แต่ตลาดรวมยังเติบโตเพราะแบรนด์ต่างๆ พยายามเพิ่มเทคโนโลยี ฟีเจอร์และความต่างจากคู่แข่งให้มากที่สุด ส่วนการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคอยู่บันพื้นฐานจาก 3 ปัจจัยอันดับแรกราคา แบรนด์ และฟีเจอร์

มือถือไทยทะลุ 10.9 ล้านเครื่อง 3 พันบาท ตลาดใหญ่สุด

GFK คาดว่าปี 2010 โทรศัพท์มือถือจะมียอดขาย 10.9 ล้านเครื่อง หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2009 7% เป็นสมาร์ทโฟน 760,000 เครื่อง และปี 2011 จะสูงถึง 12 ล้านเครื่อง เป็นสมาร์ทโฟน 920,000 เครื่อง
แม้แบรนด์ใหญ่ก็ยังคงครองตลาด แต่แบรนด์ในประเทศ หรือเฮาส์แบรนด์ในไทย จะได้ส่วนแบ่งมากขึ้น เพราะราคาถูก และบริหารช่องทางจำหน่ายได้ดีในต่างจังหวัด

แนวโน้มที่เห็นชัดคือ โนเกีย ซัมซุง แอลจี โซนี่ อิริคสัน ต่างเปิดตัวรุ่นใหม่ โดยเน้นไปที่กลุ่มล่างถึงกลาง ด้วยกลยุทธ์ราคา และฟีเจอร์เพียบ ขณะที่เฮาส์แบรนด์ อย่าง ไอ-โมบาย เวลคอม และจีเนท ต่างแข่งตลาดล่าง ด้วยฟีเจอร์มากมาย ที่ต้องมีคือสองซิม ดูทีวี วิทยุ กล้อง ทัชสกรีน ด้วยราคาอยู่ที่ 3,000-4,000 บาท

กลุ่มของฟีเจอร์ทีวีนั้น 3 ไตรมาสที่ผ่านมามีส่วนแบ่ง 15% ผู้เล่นหลักๆ คือไอ-โมบาย จีเนท เวลคอม ในปีนี้ผู้เล่นระดับบิ๊กอย่างซัมซุง ก็โดดลงมาด้วยซัมซุงสตาร์ทีวี และวันทีวี

สำหรับราคาที่ลูกค้านิยมมากที่สุดคือต่ำกว่า 3,000 บาท ที่ 3 ไตรมาสที่ผ่านมาได้ส่วนแบ่ง 60% ของตลาด โมเดลที่ได้รับความนิยมในระดับนี้คือ โนเกีย 1202 1661 ซัมซุง E250 แอลจี KP 105 ส่วนราคาสูงกว่า 1 หมื่นบาท มีแค่ 8% ในตลาด ส่วนสมาร์ทโฟนที่นิยมคือต่ำกว่า 5,000 บาท มีโนเกีย 5233 ที่เป็นที่นิยม

แนวโน้มที่สำคัญคือการแข่งขันจะรุนแรงขึ้น เมื่อ 3G เป็นจริง มีการติดตั้งเครือข่ายสำเร็จ GFK มองว่าจะยิ่งทำให้การดูทีวีผ่านมือถือยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะเครือข่ายมือถือส่งสัญญาณเร็วขึ้น ไม่ใช่แค่ดูทีวี ยังดูวิดีโอ เอชดีได้อีกด้วย

ในกลุ่มสมาร์ทโฟนนั้น เทรนด์ของคนถือสมาร์ทโฟนคือใช้ต่ออินเทอร์เน็ต เป็นคอมพิวเตอร์ส่วนตัว จากความสามารถของระบบปฏิบัติ ทำให้เจ้าของสมาร์ทโฟนใช้ในเรื่องงานและแสดงความเป็นตัวของตัวเองผ่านสมาร์ทโฟน ผลวิจัยของ GFK ระบุว่าซิมเบียนของโนเกียครองส่วนแบ่งมากสุดคือ 6% บีบี 1% เท่ากับวินโดวส์โมบายล์ แอนดรอยด์ และไอโฟน

อนาคต อีเมลบนโมบายล์ ส่งข้อความ และโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สมาร์ทโฟนเป็นที่ต้องการต่อเนื่อง โดยผู้ที่จะสำเร็จในธุรกิจนี้คือสามารถเชื่อมต่อโปรดักต์ และบริการได้ โดยทั้งตัวเครื่อง ตัวธุรกิจใหม่ๆ จากความสามารถของสมาร์ทโฟน โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค คือแม่เหล็กสำคัญที่จะถึงกลุ่มเป้าหมายได้