ดังกิ้น โดนัท อยากอยู่ต่อ…ต้องไปกับเทรนด์

เกาหลี+กาแฟ+โดนัท = Perfect Combination นี่คือภาพของดังกิ้น โดนัทที่พยายามปรับตัวเพื่อความอยู่รอดมาตลอด เพราะเมื่อผู้บริโภคเรียนรู้คุณโทษของอาหารหวานมากขึ้น แต่การเสพด้วยอารมณ์และเสพเพื่อความทันสมัยเท่านั้น ที่จะยังดึงผู้บริโภคให้อยู่กับโดนัทต่อไปได้

ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดโดนัท เป็นการสู้กันระหว่าง 2 แบรนด์ใหญ่คือดังกิ้น โดนัท กับ มิสเตอร์ โดนัท เท่านั้น ก่อนที่จะมีแบรนด์เล็กอื่นๆ จะทยอยตามมาในช่วงหลัง แต่ก็เป็นได้เพียง Alternative Donuts ที่ไม่ได้มีผลต่อส่วนแบ่งตลาดเท่าไรนัก เพราะอย่างน้อยทั้งสองแบรนด์เป็นโดนัทที่มีสาขาครอบคลุมมากที่สุดในเมืองไทย

แต่ปัจจุบันดังกิ้นกำลังเจอคลื่นความแรงของ Krispy Kreme ที่ถาโถมอย่างหนัก คลื่นลูกนี้จะกวาดส่วนแบ่งตลาดหรือมีผลต่อเจ้าตลาดเดิมแค่ไหน มาล้อมวงโดนัทเพื่อหาคำตอบกับ POSITIONING ได้เลย

ขอขอบคุณ Krispy Kreme

ดังกิ้น โดนัท อยู่ระหว่างเตรียมฉลองครบรอบ 30 ปีในไทยในปี 2554 ที่จะถึงนี้ เปิดสาขาแรกที่สยามสแควร์จนกลายเป็นตำนานที่วัยรุ่นยุคนั้นต้องแวะไป ขยายสาขาครบ 1,000 แห่งไปเมื่อปี 2538 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเป็นพันธมิตรแนบแน่นกับเทสโก้ โลตัส ซึ่งทำให้ดังกิ้นขยายได้ทีเดียวคราวละ 100 สาขามาแล้ว และขยายกลุ่มลูกค้าจากการเป็นสินค้าวัยรุ่นในห้างสรรพสินค้า ไปยังกลุ่มครอบครัว แม่บ้าน จนถึงปัจจุบันนี้ในยุคของ “ร้านกาแฟแรงแซงโดนัท” ดังกิ้นก็ถึงกับปรับโลโก้ใหม่ ซึ่งสะท้อนโพสิชันนิ่งใหม่ของร้าน ที่แบ่งความสำคัญระหว่าง “โดนัท” และ “กาแฟ” โดยให้น้ำหนักกันอย่างละครึ่งเลยทีเดียว

ดังกิ้นจึงต้องเพิ่มเมนูกาแฟ ซึ่งจากเดิมนั้นมีเพียงกาแฟเย็นหวานปานโดนัท เพราะเมื่อกินคู่กันกับโดนัทหวานๆ ก็จะได้รสขมกำลังดี กับซอฟต์ดริ้งค์หลากสีที่ถูกลดบทบาทลงเช่นกัน

มาถึงสถานการณ์ล่าสุด จากการเปิดตัวของ Krispy Kreme โดนัทสัญชาติเดียวกัน ที่มาแรงด้วยกระแสต่อคิวยาวไม่จบสิ้นมาร่วมเดือน ซึ่งแทนที่จะทำให้โดนัทเจ้าเก่าอย่างดังกิ้นหวั่นไหว กลับกลายเป็นความรู้สึกดีๆ ที่มีให้กันเสียอย่างนั้น

“ยิ่งเขาออกสื่อเยอะ ก็ยิ่งกระตุ้นตลาดได้เยอะ” ชูทวีป วรดิลก ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โกลเด้น โดนัท จำกัด เชื่อแบบนี้

เขากล่าวว่า กระแสการต่อคิวของแบรนด์โดนัทเจ้าใหม่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้ตลาดโดนัทเกิดความคึกคักขึ้นทันตา และเชื่อว่าจะเป็นตัวกระตุ้นตลาดโดนัทที่มีมูลค่าราว 2,500 ล้านบาทต่อปี และมีอัตราเติบโตของตลาดช่วง 2-3 ปีหลังนี้ราว 15-20% ต่อปี ให้เติบโตขึ้นได้อีก

เฉพาะเดือนตุลาคม 2553 เดือนเดียวที่ Krispy Kreme เปิดตัว ตลาดโดนัทโตขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นผลดีที่วัดได้ชัดเจนที่สุดของการมาของผู้เล่นหน้าใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่ดังกิ้นที่ได้อานิสงส์แต่โดนัทแต่ละแบรนด์ซึ่งไปเปิดสาขาตามห้างที่กระจายอยู่ในต่างจังหวัดก็ได้อานิสงส์นี้ถ้วนหน้า เพราะกระแสของ Krispy Kreme ดังเกินกว่าจะรองรับลูกค้าได้ทั่วเพราะมีแค่สาขาเดียว ดีมานด์ที่ถูกกระตุ้นผ่านสื่อจึงเป็นผลพลอยได้ของโดนัทแบรนด์อื่นๆ ที่มีสาขามากกว่าได้ยิ้มรับลูกค้ากันเป็นแถว

“ที่ผ่านมามีแค่เรากับคู่แข่งที่สู้กันมานาน ตลาดโดนัทก็ยังโต แต่ตลาดโดนัทยังเติบโตได้อีกมาก อย่างที่อเมริกามีโดนัทเป็นร้อยๆ แบรนด์ เชื่อว่าคงจะมีแบรนด์ใหม่เข้ามาในไทยอีก แต่ใครที่จะเข้ามา ต้องทำการบ้านมาให้ดีและต้องสั่งสมชื่อเสียงระดับโลกมาพอสมควร” ชูทวีปกล่าว

ดังนั้นการตั้งรับของดังกิ้นต่อการมาของ Krispy Kreme จึงไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจเท่าที่ดังกิ้นเคยเจอมาเมื่อ 8 ปีก่อนหน้านี้

8 ปีก่อน ดังกิ้นเคยเป็นผู้นำตลาดโดนัทด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 70% แต่ปัจจุบันกลายมาเป็นผู้ตามอันดับ 2 เมื่อต้องเสียแชมป์ให้กับมิสเตอร์ โดนัท โดยเหลือส่วนแบ่งปัจจุบันอยู่ที่ 40% ขณะที่มิสเตอร์ โดนัทมีส่วนแบ่งนำอยู่ที่ 55%

สาเหตุเพราะมิสเตอร์ โดนัทที่ดำเนินงานโดย CRG ซึ่งเป็นบริษัทในเครือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ยึดจองพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ที่มีทราฟฟิกอของนักช้อปเป็นอันดับหนึ่งของห้างสรรพสินค้าไทย และแม้ดังกิ้นจะพยายามเข้าไปจับมือกับห้างสรรพสินค้าอื่นๆ อย่างเดอะมอลล์ และเทสโก้ โลตัส เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายชดเชย แต่ก็ยังทำสาขาได้น้อยกว่ามิสเตอร์โดนัทอยู่ถึง 40 สาขา ซึ่งส่งผลต่อส่วนแบ่งการตลาดดังทีเห็น

อย่างไรก็ตาม แม้ดังกิ้นจะมองว่าการมาของ Krispy Kreme คือผลดี แต่ก่อนหน้าที่คู่แข่งจะเข้ามา ราวเดือนมีนาคม ชูทวีปก็ยอมรับว่ามีการออก Local Campaign ที่ชื่อว่า “All American Donuts” ไว้ตีกันคู่แข่งรายนี้ไว้ด้วยเหมือนกัน โดยเป้าหมายของแคมเปญเพื่อตอกย้ำจุดขายของการเป็นโดนัทต้นตำรับจากอเมริกาของดังกิ้นที่อยู่กับลูกค้าไทยมานานนั่นเอง

“ไหนๆ Glazed Donut ซึ่งเป็นโดนัทเคลือบน้ำตาล ให้รสชาติของโดนัทแท้ๆ ก็เป็นรสชาติที่ขายดีที่สุดของเรา เราจึงใช้แคมเปญนี้เพื่อให้คนได้ทดลองและต่อยอดไปสู่การดื่มควบคู่กับกาแฟด้วย”

อย่างไรก็ดี แม้ดังกิ้นก็ยังคงสร้างการเติบโตให้กับตัวเองในธุรกิจหวานๆ มาได้อย่างต่อเนื่อง แต่นั่นก็ต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นมาเสริมอีกหลายด้าน

โดนัทอเมริกัน พรีเซ็นเตอร์เกาหลี

คู่แข่งของร้านโดนัท ไม่ได้มีแค่โดนัท เมื่อในโลเกชั่นเดียวกันมีทั้งร้านกาแฟ ฟาสต์ฟู้ด ไม่ว่าจะเป็นแมคโดนัลด์ ฟาสต์ฟู้ดที่ปรับตัวเองมาเป็นลูกผสมระหว่างร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่ต่างๆ ก็เช่นกัน รวมถึงร้านกาแฟดังอย่างสตาร์บัคส์ ก็มีอาหารเสริมไว้บริการ ร้านโดนัทจึงต้องมีส่วนผสมใหม่เพื่อต่อกรกับคู่แข่งที่ขยายพื้นที่เข้ามาเป็นคู่แข่งทางอ้อมเหล่านี้ด้วย

ดังกิ้น โดนัท ที่เกาหลี ประสบความสำเร็จสูงที่สุดเมื่อเทียบกับดังกิ้นในทุกประเทศทั่วโลก เมื่อขยายสู่บทบาทการเป็นร้านกาแฟควบคู่กับร้านโดนัท และมีสาขาในปัจจุบันมากกว่า 700 แห่ง ชูทวีปเล่าว่า ดังกิ้นในไทยเองก็เฝ้าติดตามความสำเร็จของสตาร์บัคส์เช่นกัน และในที่สุดก็ปรับตัวที่จะเข้าชิงส่วนแบ่งพื้นที่ร้านกาแฟตามการปรับตัวของธุรกิจในต่างประเทศ โดยจำหน่ายกาแฟในราคาที่ต่ำกว่าสตาร์บัคส์ถึงกว่า 40%

โลโก้ใหม่ของดังกิ้น DD Coffee & Donuts ก็แบ่งความสำคัญเพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างชัดเจนว่า ต่อไปนี้ครึ่งหนึ่งของร้านดังกิ้น โดนัท คือร้านกาแฟ และอีกครึ่งยังคงเป็นร้านโดนัท

แต่ดูเหมือนว่า อย่างไรภาพความเป็นโดนัทก็ยังคือเพอร์เซ็ปชั่นแรกที่ลูกค้านึกถึงดังกิ้นอยู่ดี
“เราต้องทำให้เขาทดลองกาแฟเราให้ได้ ด้วยการแนะนำการดื่มกาแฟคู่กับโดนัท ซึ่งเราถือว่าเป็น Perfect Combination”

ชูทวีปเชื่อว่า แบรนด์อะแวร์เนสไม่ใช่ปัญหาสำหรับดังกิ้น แต่สิ่งที่ถือว่าท้าทายที่สุดคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้ Product Awareness ในส่วนของกาแฟเป็นที่รับรู้ของผู้บริโภคมากขึ้น

ดังกิ้นพยายามใช้กลยุทธ์เพื่อสร้างกระแสการรับรู้ว่าดังกิ้นก็เป็นร้านกาแฟด้วย โดยเน้นไปที่กลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานให้เข้ามาทดลองสร้างประสบการณ์กาแฟในบรรยากาศหวานๆ ของร้าน โดยใช้พรีเซ็นเตอร์อย่าง ลี มิน โฮ (Lee min ho) ดาราวัยรุ่นของเกาหลีมาเป็นตัวช่วยสำคัญ

“เราพยายามบอกลูกค้าว่าเรามีกาแฟที่ดี และอยากให้เขามาลองดื่มและทานคู่กับโดนัทของเรา”

ลี มิน โฮ เป็นพรีเซ็นเตอร์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในเกาหลี มีแฟนคลับที่เหนียวแน่น เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้ดังกิ้น โดนัทที่เกาหลีอยู่แล้ว ดังกิ้นไทยหยิบโฆษณาชิ้นนี้มาใช้งานเพราะเห็นว่าแฟนคลับของลี มิน โฮในไทยก็มีไม่ใช่น้อย เพราะเคยมีผลงานฮิตอย่าง F4 เวอร์ชั่นเกาหลี หรือ Boy’s over Flower ที่ออกอากาศในเมืองไทย และยังมีผลงานอื่นที่ตามออกมาอีกอย่างต่อเนื่อง

อีกเหตุผลก็เพื่อใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นแรงดึงดูดกลุ่มลูกค้าซึ่งเด็กแต่มีลอยัลตี้ต่ำ เพราะปัจจุบันกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ของดังกิ้น โดนัทส่วนใหญ่เป็นคนทำงานวัยผู้ใหญ่ที่มีความผูกพันกันมานาน มีลอยัลตี้สูง ส่วนกลุ่มวัยรุ่นและเด็กนักเรียนนักศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพยังเป็นกลุ่มที่บริษัทไม่สามารถสร้างลอยัลตี้ได้ดีเท่ากลุ่มแรก เพราะเป็นกลุ่มที่ชอบทดลองของใหม่อยู่เสมอและมีตัวเลือกในตลาดหลากหลายที่ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้มีโอกาสผ่านมาแล้วผ่านไปเพราะเปลี่ยนใจง่าย

ดังนั้น ชูทวีปเล่าว่า สิ่งที่ดังกิ้นต้องทำอย่างต่อเนื่องก็คือการออกสินค้าใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งต้องเน้นทั้งรูปแบบที่สวยงามเพื่อดึงดูดและรสชาติที่ถูกปาก ทำให้ปัจจุบันดังกิ้นเป็นโดนัทที่มีสินค้าให้เลือกหลากหลายถึง 40 แบบ และเพิ่มมูลค่าด้วยลูกเล่นสินค้าที่แตกต่างจากเดิม

“โดนัทปกติชิ้นละ 22 บาท ตอนนี้เราเพิ่มมูลค่าด้วยการออกโดนัทพรีเมียมชิ้นละ 26 บาท เริ่มที่สาขาสยามพารากอนและมาบุญครอง ผลปรากฏว่าโดนัทพรีเมียมหน้าผลไม้ที่มีมากกว่า 8 แบบ ได้รับการตอบรับดีมาก เฉพาะที่สยามพารากอนมีขายในกลุ่มนี้สูงถึง 30% ของสินค้าทั้งหมดที่มี”

นี่คือเหตุผลที่ชูทวีปบอกว่า ในแผนธุรกิจของดังกิ้น จึงต้องมีการออกสินค้าใหม่ทุกไตรมาส รวมทั้งมีโปรโมชั่นเป็นระยะๆ

ส่วนความสำเร็จที่วัดได้เป็นรูปธรรมของดังกิ้น คือ ยอดขายกาแฟที่พยายามผลัดกันมาตั้งแต่ปี 2552 เพิ่มขึ้น 500% ซึ่งชูทวีปเปิดเผยว่า บริษัทหวังว่าภายใน 3-4 ปีข้างหน้า ยอดขายกาแฟจะเพิ่มขึ้นเป็น 40% ของรายได้รวมของบริษัท ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่อเมริกา ซึ่งปัจจุบันมียอดขาย 80% มาจากกาแฟ และที่เกาหลีก็ทำรายได้จากกาแฟมากกว่า 50%

แต่เป้าหมายของดังกิ้นในไทย ถือว่า Aggressive มาก เพราะถ้าพิจารณาจากคู่แข่งในหมวดกาแฟที่มีอยู่รอบตัว ก็ยังไม่ชัดเจนว่าภาพหวานๆ ของดังกิ้น โดนัทจะจูงใจคอกาแฟได้แรงแค่ไหน ขณะเดียวกันการรักษาความหวานเข้มของโดนัทก็ยังเป็นงานท้าทายประจำที่ดังกิ้นต้องรักษาพื้นที่ตัวเองไว้อย่างระมัดระวัง

แค่รสชาติ ความหลากหลาย พรีเซ็นเตอร์ตัวช่วย เท่านี้ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับผู้บริโภคไทย ถ้าจะให้ธุรกิจอยู่รอดดังกิ้นต้องจับเทรนด์และพฤติกรรมผู้บริโภคให้อยู่หมัด

เรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคไทยที่แตกต่างจากต้นตำรับอเมริกันอย่างสิ้นเชิง เป็นสิ่งที่ ชูทวีปบอกว่าต้องศึกษาอย่างละเอียด

“คนอเมริกันส่วนใหญ่ดื่มกาแฟแก้วใหญ่วันละหลายแก้ว ดื่มได้ทั้งวัน และมีโดนัทเป็นอาหารทานคู่กับกาแฟ แต่คนไทยไม่มีพฤติกรรมแบบนั้น คอกาแฟไทยส่วนใหญ่ดื่มกาแฟคู่กับเบเกอรี่ อย่างบราวนี่และครัวซองต์ ซึ่งดังกิ้นก็ตอบโจทย์โดยมีสินค้าเหล่านี้ให้เลือกทานในร้าน ขณะเดียวกันก็มีการแจกโดนัทเป็นสินค้าตัวให้ลองชิมฟรีสำหรับลูกค้าที่ซื้อกาแฟ”

กลยุทธ์นี้ทำขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์ “กาแฟคู่กับโดนัท” ให้กับลูกค้า และนอกจากความหลากหลายและมีสินค้าให้เลือกเต็มชั้น ความสดใหม่ของโดนัทก็ละเลยไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องเล่าที่ว่าร้านโดนัทจะทิ้งโดนัทที่ขายไม่หมดทุกวันจึงยังคงมีให้เห็น

“โดนัทที่ขายไม่หมดมีราว 10% ทุกวัน ถึงจะเป็นตัวเลขที่สูง แต่ก็ต้องคิดก่อนว่าการที่โดนัทไม่พอขายเป็นเรื่องใหญ่กว่า”

Design Matter

ถึงจะขายอาหาร แต่ไม่ใช่แค่รสชาติที่ต้องใส่ใจ เพราะรายละเอียดของธุรกิจยังรวมถึงเรื่องของดีไซน์ตั้งแต่ตัวสินค้า ตัวร้าน หรือแม้แต่กล่องที่ลูกค้าจะถือติดตัวออกไป

หลังจากได้ลี มิน โฮ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ดังกิ้นดีไซน์กล่องโดนัทรูปลี มิน โฮ เป็นของพรีเมียมให้แฟนคลับซื้อสะสม รวมทั้งนำป้ายรูปลี มิน โฮถือกล่องของขวัญมาดิสเพลย์ไว้หน้าสาขาแต่ละแห่ง

การดีไซน์กล่องก็เพื่อตอบสนอง Consumer Insight ที่ต้องการซื้อโดนัทเป็นของฝาก ซึ่งตอนนี้หลายคนคงเห็นแล้วว่ากล่องกับแบรนด์ซัพพอร์ตกันอย่างไรจากกรณีที่ใครก็ตามถือกล่อง Krispy Kreme ผ่านไปไหนช่วงนี้ก็มีแต่คนเหลียวมอง จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

ชูทวีปบอกว่า สำหรับโดนัทกล่องขนาด 6 ชิ้น ขายดีที่สุด โดยมีส่วนแบ่งจากการขายถึง 50% อีกครึ่งจะทานที่ร้าน และถ้าเป็นสาขาแบบ Kiosk จะมียอดซื้อแบบกล่อง 6 ชิ้น เป็นหลัก ด้วยสัดส่วนสูงถึง 80-90% ส่วนยอดขายของสาขาที่อยู่ตามระบบขนส่งมวลชนต่างๆ และจะขายดีเป็นพิเศษในช่วงเทศกาล วันหยุดยาว ซึ่งจะมียอดขายเพิ่มจากวันธรรมดาถึง 2 เท่า ขณะที่สาขาในไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างเทสโก้ โลตัสก็มีสัดส่วนลูกค้าที่ซื้อแบบกล่องสูงมากเกือบ 100%

“ปกติคนไทยไม่ซื้อโดนัทชิ้นเดียว เนื่องจากไม่จำเป็นต้องทานให้หมดในขณะนั้นเลย สามารถนำกลับไปทานที่บ้านต่อได้ ทานกับครอบครัว ทานกับเพื่อน โดนัทก็เหมือนส้มตำ ทานคนเดียวไม่อร่อย ไม่เหมือนทานกันหลายคน”

เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า คนไทยนิยมซื้อโดนัทเป็นของฝาก และนิยมทานในรูปแบบของ Sharing มากกว่าจะทานคนเดียว

สำหรับดีไซน์ของตัวสาขา ที่ถือว่าโดดเด่นที่สุดก็คือสาขาสยามพารากอน ซึ่งเป็น Flagship Store พื้นที่ขนาด 35 ตารางเมตร ขนาด 20 ที่นั่ง ลงทุนด้วยงบราว 4-6 ล้านบาท ออกแบบโดยดีไซเนอร์คนไทย เน้นความทันสมัยอ่อนวัยมากขึ้น เพื่อฉีกภาพลักษณ์เดิมที่เน้นสีหวานมาเป็นดีไซน์ภายใต้นิยามใหม่ว่า “ดังกิ้น โกลด์” ใช้โทนสีดำ เทา และทองเห็นหลัก โซฟา เก้าอี้หนัง และภาพไลฟ์สไตล์บนผนังลายอิฐสีเทา ให้บรรยากาศอบอุ่นของร้านกาแฟ และทำให้ผู้บริโภคสัมผัสกับ Brand Experience ได้เต็มที่ บรรยากาศจึงโน้มเอียงไปทางร้านกาแฟมากขึ้น จากนั้นตามมาด้วยการปรับสาขาขนาดใหญ่อื่นๆ ให้มีบรรยากาศเป็นร้านกาแฟมากขึ้น เช่น สาขาซีคอนสแควร์ เดอะมอลล์ บางกะปิ เดอะมอลล์ ท่าพระ เป็นต้น ตามๆ กันมา

“ดังกิ้น โกลด์” นับเป็นสาขารูปแบบใหม่ของดังกิ้นโดนัทแห่งแรกของโลก ที่ซีอีโอจากบริษัทแม่บินมาดูด้วยตัวเองและถึงกับเอ่ยว่าขอนำไปใช้ในประเทศอื่นๆ ด้วย

“ซีอีโอพอใจมาก ตอนนี้ได้ข่าวว่าที่สเปนอยากได้ดีไซน์นี้ไปใช้เหมือนกัน” ชูทวีปกล่าว
ดังกิ้น โดนัท ประเทศไทย ซึ่งจัดเป็นลูกรักของบริษัทแม่อยู่แล้ว เลยได้คะแนนมากขึ้น และล่าสุดเมื่อต้นปี 2553 ที่ผ่านมา ก็เพิ่งได้รับรางวัล “Franchisee Award for International Partner of the Year” จากดังกิ้น แบรนด์ส (Dunkin’ Brands) บริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกา เอาชนะแฟรนไชซี 8,000 รายใน 31 ประเทศทั่วโลกได้

ชูทวีปบอกปิดท้ายว่า ตลาดโดนัทอยู่ในเมืองไทยมานานและจะยังอยู่ต่อไป เพราะโดนัทคือความหลากหลาย มีลูกเล่นต่างๆ มากมาย และเป็นสีสันที่ทำให้ตลาดนี้ไม่น่าเบื่อ และมั่นใจว่าธุรกิจขนาด 1,000 ล้านบาทของดังกิ้น โดนัทจะยังคงมีอนาคตที่สดใส

Timeline
2524 เปิดสาขาแรกที่สยามสแควร์ ปัจจุบันถูกเผาและพื้นที่ซึ่งเป็นทรัพย์สินของจุฬาฯ เตรียมพัฒนาเป็นโครงการ Mixed Use นั่นหมายความว่า ดังกิ้น โดนัทจะปิดตำนานในพื้นที่ดังกล่าวโดยสิ้นเชิง แต่อาจมีพื้นที่อี่นในโครงการใหม่นี้
2 เดือนถัดมาเปิดสาขาที่ 2 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง และออกอากาศ TVC เป็นครั้งแรก
2538 ดังกิ้น โดนัทเปิดสาขาที่ 1,000 ในประเทศไทย
2550 ปรับโลโก้แบรนด์ จากเดิมสีน้ำตาล เป็นสีชมพูและสีเหลือง ดูสดใสมากขึ้น
2552 ปักหมุดธุรกิจกาแฟอย่างจริงจังในประเทศไทย เปิดรูปแบบร้านดีไซน์ใหม่ที่สาขาสยามพารากอน ชั้น G เพื่อยกระดับแบรนด์ให้ดูพรีเมียมมากขึ้น
2553 แคมเปญ All American Donuts ใช้ลี มิน โฮ เป็นพรีเซ็นเตอร์ และออกอากาศ TVC เพื่อแนะนำกาแฟ
2554 เตรียมจำหน่ายสินค้าเมอร์ชันไดซิ่ง และลุยทำกิจกรรมกับกลุ่มนักเรียน นักศึกษาทั้งในร้านและที่โรงเรียน
    สถิติของดังกิ้น โดนัท

  • 200 สาขาทั่วประเทศ
  • สัดส่วนสาขาในกรุงเทพฯ : ต่างจังหวัด 50:50
  • 3 อันดับรสชาติขายดีตามลำดับ คือ Glazed Donut, โมจิ ริง และมันช์กิ้นส์ (โดนัทก้อนกลมเล็ก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของดังกิ้น โดนัท)
    • สัดส่วนกลุ่มเป้าหมาย

    • วัยทำงานอายุ 20 กว่าปีขึ้นไป 60%
    • นักเรียน นักศึกษา 30%
    • เด็ก 10%
  • ผู้บริโภคคนไทยมีความถี่ในการทานโดนัทเฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้ง
  • มีผู้บริโภคดังกิ้นโดนัท 3 ล้านคนต่อวันทั่วโลก