Journey of the Donut ต่างยุค ต่างกลยุทธ์

เป็นระยะเวลากว่า 32ปีแล้ว ที่โดนัท ขนมหวานจากต้นกำเนิดแถบตะวันตก ได้ทำความรู้จักและคุ้นเคยกับผู้บริโภคไทย และค่อยๆ ซึมซับจนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ในชีวิต ที่เฉพาะเพียงแค่ตลาดโดนัทอย่างเดียวมีมูลค่ามากถึง 2000 ล้านบาท

ติดตามเส้นทางและวิวัฒนการของโดนัทในประเทศไทยตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน ที่โดนัทกลายเป็นปรากฏการณ์ Talk of the town แบบที่ไม่มีใครเคยคาดคิด

ยุคแรก วางรากฐาน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2521 สองพี่น้อง สุทธิชัย และ สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ เป็นผู้บุกเบิกนำโดนัทมาสู่มือผู้บริโภคไทยในชื่อร้าน มิสเตอร์ โดนัท เป็นแบรนด์แรกที่เข้ามาในประเทศไทย นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น โดยเปิดให้บริการสาขาแรกที่สยามสแควร์ ในนามบริษัท ไทยแฟรนไชซิ่ง จำกัด

จากนั้น ในปี 2524 ดังกิ้น โดนัท ก็ได้เปิดตัวตามมาด้วยจุดขายโดนัทสัญชาติอเมริกันเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม โดยเลือกพื้นที่สยามสแควร์เปิดสาขาแรกเช่นเดียวกับมิสเตอร์ โดนัท

เพราะสยามสแควร์เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความทันสมัยที่วัยรุ่นใช้เป็นแหล่งนัดพบเพื่อน สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ในช่วงแรก

จากปากคำของบรรดาวัยรุ่นที่ใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ในพื้นที่สยามสแควร์ยุคนั้น บอกว่า ร้านโดนัทถือเป็นแหล่งนัดพบสุดเทรนด์ ไม่ต่างจาก Third Place ที่มีอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน จนภายในร้านแน่นขนัด เต็มไปด้วยเด็กวัยรุ่นกับกลุ่มเพื่อนที่นัดมาทานอาหารและเครื่องดื่ม

หลังจากประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับสาขาสยามสแควร์ ทั้งสองก็ค่อยๆ กระจายสาขาให้ครอบคลุมใน กทม. ตามมาด้วยการโฆษณาทางโทรทัศน์จากทางดังกิ้น โดนัท เพื่อสร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดโดนัทในช่วงนั้นเติบโตบนพื้นฐานการทานเพราะแฟชั่น

ยุคสอง Me Too Strategy

หลังจากที่ต่างคนต่างวางรากฐาน และขับเคี่ยวกันมาเกือบ 10 ปี ก็ปรากฏว่าดังกิ้น โดนัท ผู้มาที่หลังกลับคว้าชัยชนะไปครองด้วยส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 70% ทิ้งห่างมิสเตอร์โดนัทอยู่หลายช่วงตัว

อย่างไรก็ตาม สาขาที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน รูปแบบการจัดร้านที่ใกล้เคียง หน้าตาของโดนัทที่แทบไม่ต่างกัน แป้งก็มีเพียงสูตรพื้นฐาน 2 ชนิด คือ สูตรแป้งยีสต์ และสูตรแป้งเค้ก สะท้อนให้เห็นถึงการทำตลาดแบบ Me Too Strategy ที่การแข่งขันกันอย่างรุนแรงระหว่างสองแบรนด์ ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายต่างต้องไม่ยอมแพ้ อีกฝ่ายมีอะไร ก็ต้องมีด้วย และเป็นสาเหตุให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนระหว่างสองแบรนด์

ขณะที่ภาพรวม ตลาดโดนัทได้พัฒนากลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และชีวิต ที่ผู้บริโภครู้สึกคุ้นเคย เป็นสิ่งธรรมดา การทานเพราะแฟชั่นได้หมดไป ความตื่นเต้นในโดนัทไม่เหลืออยู่ ส่งผลให้ตลาดโดนัทในช่วงนี้ไม่ได้เติบโตมากนัก เพราะไม่มีนวัตกรรมใดที่จะก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนของตลาดโดนัทได้

จนกระทั่งในปี 2547 ที่มิสเตอร์ โดนัท ได้นำแป้งสูตรใหม่ เรียกว่า พอนเดอริง ซึ่งเป็นสินค้านวัตกรรมที่เป็นจุดเปลี่ยนให้กับมิสเตอร์ โดนัท และตลาดโดนัทในภาพรวม

หน้าตาที่แปลกจากโดนัททั่วไป แม้จะมีรูตรงกลางที่บ่งบอกถึงความเป็นโดนัท แต่ลักษณะกลับคล้ายปล้องกลม 8 ชิ้นต่อกัน และรสชาติที่แตกต่าง โดยมีความนุ่มหนึบมากกว่าโดนัททั่วไป ช่วยผลักดันยอดขายของมิสเตอร์ โดนัทให้มีอัตราการเติบโตสูงถึง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่เติบโตเพียง 10% และมียอดขายเฉลี่ย 3 ล้านชิ้นต่อเดือน

นับเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ช่วยพลิกให้มิสเตอร์ โดนัทกลับมาเป็นผู้ชนะด้วยส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 60% จากเดิมที่มีอยู่แค่เพียง 30 – 40% เท่านั้น

และยังส่งผลให้มูลค่าตลาดโดนัทเติบโตเกินกว่า 1,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรก

ยุคสาม Different Brand, Unique Character

จากที่เคยมีเพียงแค่ 2 แบรนด์ขับเคี่ยวกันมาตลอดเกือบ 30 ปี ตลาดโดนัทก็ได้ต้อนรับน้องใหม่ไฟแรงในปี 2548 ชื่อแบรนด์ Daddy Dough แบรนด์ไทยแบรนด์เดียวในตลาด ก่อนตามมาด้วย Bapple แบรนด์โดนัทจากมาเลเซีย ที่ช่วยเพิ่มสีสันให้กับตลาดโดนัท

พร้อมกับการนำกระแส Boutique Donut มาให้คนไทยได้รู้จักเป็นครั้งแรก

ภาพลักษณ์ขนมที่ดูสวยงาม น่ารับประทาน รสชาติที่แตกต่าง ไม่ได้มีแค่รสชาติแบบเดิมๆ อย่างเช่น ช็อกโกแลต สตรอเบอร์รี่ แต่ได้สร้างสรรค์รสชาติแปลกใหม่ อย่างเช่น ทีรามิสุ คาปูชิโน่ ทุเรียน และชีส ล้วนล่อใจให้เกิดการทดลอง และชื่นชอบในความต่างแบบพรีเมียม ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มบนกว่าที่มิสเตอร์ฯ และดังกิ้นครอบครอง

นอกจากนี้ ก็ยังมีแบรนด์ดารา Do Dee Dough ของติ๊ก ชิโร่ ที่ตัดสินใจขอร่วมสร้างความคึกคักในตลาดโดนัท หลังจากทำการสำรวจแล้วพบว่า ตลาดโดนัทในไทยเติบโตสูงสุดในเอเชีย และสร้างความแตกต่าง โดยออกแบบโดนัทเป็นรูปตัวอักษร D ซึ่งสามารถยืนระยะมาได้มากกว่าหนึ่งปีแล้ว

และล่าสุดกับ Krispy Kreme ที่ถึงแม้มาทีหลังแต่ก็ดังเพียงชั่วข้ามคืน ด้วยกลยุทธ์ Word of Mouth ที่ทำให้คนแห่มาเข้าคิว และต้องใช้เวลารอไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงกว่าจะได้โดนัทหนึ่งโหลมาครอบครอง โดยภาพรวมตลาดโดนัทล่าสุดตอนนี้มีมูลค่า 2,000 ล้านบาท

สุชีพ ธรรมาชีพเจริญ จากมิสเตอร์ โดนัท บอกว่า จำนวนผู้เล่นที่เพิ่มเข้ามานี้จะช่วยให้กลยุทธ์ Me Too Marketing หมดไป ทุกแบรนด์ต้องสร้างตัวตนให้ชัดเจนขึ้น และมี Positioning ที่แตกต่างกันมากขึ้น เพื่อสร้างรากฐานกลุ่มแฟนประจำของแต่ละแบรนด์

มิสเตอร์ โดนัท จะเน้นบุกตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น โดยมีนวัตกรรมเป็นตัวนำ ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงยึดโดนัทเป็นสินค้าหลัก และเครื่องดื่มเป็นส่วนเสริม

ดังกิ้น โดนัท ได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ตามนโยบายของบริษัทแม่ ที่หันไปให้ความสำคัญกับเมนูเครื่องดื่มกาแฟเพิ่มมากขึ้น และพยายามผลักดันรูปแบบการกินโดนัทควบคู่กับการดื่มกาแฟ โดยนำ Best Practice จากเกาหลีมาปรับใช้หลังประสบความสำเร็จมหาศาลที่นั่น

โด ดี โด เน้นตลาดล่าง โดยราคาเริ่มต้นที่ชิ้นละ 5 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดในตลาดโดนัท พร้อมกับใช้ลูกเล่นเป็นโดนัทตัวอักษรรูปต่างๆ

แดดดี้ โด ยังคงยึดภาพลักษณ์เดิมที่วางไว้ในตอนแรก คือพรีเมียมโดนัท ที่มีกลุ่มแฟนค่อนข้างเหนียวแน่น ถึงแม้จะไม่มาก แต่ก็เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงแบรนด์ให้เติบโตได้ในอนาคต

Bapple ความแปลกของรสชาติอย่างเช่น ทุเรียน และชีส ที่กลายเป็น Signature Products ของ Bapple ทำให้ Bapple ได้รับการจดจำในกลุ่มผู้บริโภค แต่หลักของแบรนด์คือ การยึดแนวทางเพื่อสุขภาพ ที่ผู้ผลิตอ้างว่าเป็นสูตรโดนัทที่ให้แคลอรี่น้อยกว่าโดนัทชนิดอื่น

Krispy Kreme แบรนด์ใหม่ล่าสุดในประเทศไทย ที่มีกลุ่มแฟนเหนียวแน่นตั้งแต่อยู่ต่างประเทศ ด้วยเอกลักษณ์หน้าที่ยากต่อการเลียนแบบ อย่างเช่น Graham Krunch หรือ New York Cheesecake เป็นต้น ได้กรุยทางสร้างความโดดเด่นให้แบรนด์ได้อย่างไม่ยากเย็น

ส่วนแบ่งตลาดโดนัท 2553
มิสเตอร์ โดนัท 62%
ดังกิ้น โดนัท 30%
อื่นๆ 8%
ที่มา : มิสเตอร์ โดนัท