Studio “Canon” ภูมิใจเสนอ…

“ค่ายหนังใหญ่ๆ ในบ้านเรา หลายเจ้าบอกว่า ดูก่อน รอแป๊บหนึ่ง อยากลองเทสต์ แต่ต่างประเทศใช้กล้อง Digital SLR ถ่ายหนังมานานแล้ว ถ่ายเอารถชนกันเลย”

วรินทร์ ตันติพงศ์พานิช ผู้อำนวยการอาวุโสและผู้จัดการทั่วไป ส่วนงานคอนซูมเมอร์อิมเมจจิ้ง แอนด์ อินฟอร์เมชั่น บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด เล่าถึงอาการลังเลใจของกลุ่มเป้าหมายใหม่ของกล้อง DSLR ซึ่งมีผลต่อการชะลอการทำตลาดของแคนนอนในการนำ DSLR รุกเข้าสู่กลุ่มดังกล่าวมาเป็นปี ก่อนจะตัดสินใจนำกล้อง DSLR ลุยเข้าธุรกิจภาพเคลื่อนไหวอย่างจริงจังตั้งแต่ปลายปี 2553 นี้

กระแสการถ่ายภาพยนตร์และมิวสิกวิดีโอด้วยกล้อง DSLR กลายเป็นตลาดที่แคนนอนกำลังได้ปลื้ม เพราะทำให้ตลาดของกล้อง DSLR ขยายฐานกว้างขึ้น และเป็นฐานผู้ใช้ที่ต้องการกล้องคุณภาพซึ่งใช้แทนกล้องถ่ายภาพยนตร์ที่มีมูลค่าสูงกว่า ส่งผลให้สถานะการเป็นผู้นำในตลาดกล้องของแคนนอนเมื่อคิดเป็นมูลค่ายืนอยู่ในตำแหน่งที่หนึ่งอย่างมั่นคงยิ่งขึ้น และไม่แคร์ที่จะปล่อยให้คู่แข่งหันไปสนุกสนานกับการเปิดเซ็กเมนต์มิรเรอร์เลส (Mirrorless) เซ็กเมนต์ใหม่ในตลาดกล้องที่มาแรงมาไม่แพ้กันของปีนี้

จริงจังแค่ไหน ดูได้จากทิศทางการทำตลาดกล้องของแคนนอนนับจากนี้ ซึ่ง วรินทร์ เล่าว่า แคนนอนตั้งเป้าที่จะทำคอนเซ็ปต์สโตร์ให้ได้ถึง 10 ภายในปีนี้ จากที่มีอยู่แล้วเดิมที่ภูเก็ต ชลบุรี กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และขอนแก่น เพื่อหวังให้คอนเซ็ปต์สโตร์ทำหน้าที่เป็นแหล่งให้ลูกค้าศึกษาข้อมูลเทคโนโลยีที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์อย่างลึกซึ้ง

“ที่ชั้น 10 ของสำนักงานแคนนอนก็เป็นคอนเซ็ปต์สโตร์แห่งหนึ่ง เราเพิ่งรื้อทำใหม่ คอนเซ็ปต์จะเหมือนสตูดิโอถ่ายภาพยนตร์ มีสินค้า มีฉากให้มาลองสัมผัสกับเทคโนโลยี เราไม่ได้เซ็ตให้เป็นแค่โชว์รูม แต่จะเป็นสถานที่ที่เล่าเรื่องราวของเทคโนโลยีต่างๆ ตั้งแต่กล้องคอมแพค วิดีโอ DSLR อิงค์เจ็ท และเลเซอร์พรินเตอร์ ซึ่งการนำเสนอเทคโนโลยีเหล่านี้จะสะท้อนแนวทางในการนำเสนอผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดของแคนนอนต่อจากนี้”

พร้อมกับการปรับแนวทางตลาดกล้องครั้งใหญ่ แคนนอนเปลี่ยนแนวที่จะเลิกใช้พรีเซ็นเตอร์ โดยให้เห็นผลว่า

“พรีเซ็นเตอร์ใช้ได้แค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่สุดท้ายเราต้องกลับมาถึงเรื่องราวของเราเอง นั่นคือเรื่องของเทคโนโลยี”

เทคโนโลยีที่จะเน้นในผลิตภัณฑ์อิมเมจจิ้งทั้งหมด จะประกอบด้วย 3 ชิ้นส่วนหลักที่ถือเป็นหัวใจสำคัญด้านภาพ ได้แก่ 1-เลนส์ 2-DIGIC หรือชิปประมวลผลภาพ และ3-ระบบเซ็นเซอร์ CMOS แบบที่ใช้ในกล้องระดับซิงเกิลเลนส์ของแคนนอน และปัจจุบันพัฒนาให้มาอยู่ในกล้องระดับคอมแพคและกล้องวิดีโอด้วย

“สามตัวนี้เป็นคอร์เทคโนโลยีในกลุ่มสินค้าด้านกล้อง อุปกรณ์ที่พูดถึงทุกตัวนี้คือสิ่งที่แคนนอนผลิตเอง 100% เป็นเทคโนโลยีที่เราสั่งสมประสบการณ์มายาวนาน นอกจากคอนเซ็ปต์สโตร์ ใน TVC พรินต์แอด ก็จะเห็นองค์ประกอบเหล่านี้ที่เราจะใช้เป็นตัวหลักในการสื่อสารกับลูกค้านับจากนี้ไป” วรินทร์กล่าว

ส่วนความคาดหวังจากลูกค้านั้น แคนนอนเชื่อว่า จากกล้องถ่ายภาพยนตร์ราคา 3-4 แสน ใช้งานก็ยุ่งยากกว่า แถมจะต้องจัดไฟเพิ่มอีก การเลือกใช้กล้อง DSLR ในระดับ 3-4 หมื่น หรือเต็มที่ไม่เกินแสน ก็เริ่มต้นใช้ถ่ายหนังได้แล้ว ถือเป็นโอกาสทางการตลาดที่ไม่ควรพลาดที่จะทุ่มเท

บทเด่นของสตูดิโอ จึงว่ากันด้วยเรื่องเทคโนโลยีเพียวๆ ตามที่กำหนดไว้ ส่วนนางเอกบอกได้เลยว่า สตูดิโอแคนนอนแห่งนี้ งดใช้แล้ว

ตัวเลขตลาดกล้อง
แคนอนครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในแง่มูลค่ารวม 62%
ตลาดกล้องปี 2553 มียอดขายรวมประมาณ 1.2 ล้านตัว
แบ่งเป็นกล้อง DSLR 7,500 ตัว