เมื่อนํ้ามนต์พ่าย (นํ้า) เงิน

บรรดาของขวัญปีใหม่ที่บริษัทห้างร้าน และหน่วยงานส่งมาทุกปีนั้น เมื่อมองย้อนกลับไปดูจะเห็นภาพสะท้อนของหลาย ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งบางครั้งมีความหมายลึกซึ่งอย่างคาดไม่ถึงทีเดียว

เช่นเดียวกับที่เห็นขวดบรรจุน้ำพระพุทธมนต์ของธนาคารนครหลวงไทย ที่จัดทำขึ้นมาเป็นสิริมงคลในปี 2553 โดยฝีมือของชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าเหน้าที่บริหาร ธนาคารนครหลวงไทย ก่อนที่จะมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในธนาคารแห่งนี้ในช่วงใกล้สิ้นปี 2553

ความน่าสนใจของน้ำพระพุทธมนต์จากธนาคารนครหลวงไทยที่ว่านี้ คือการทำพิธีตามกระบวนการความเชื่ออย่างเคร่งครัด ตั้งแต่การนิมนต์พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อในทางสร้างความร่ำรวยเช่น หลวงพ่อรวย หลวงพ่อเพิ่ม หลวงพ่อพูน เมื่อเรียกรวมกันแบบผู้ที่มีจิตศรัทธาก็คือ “ รวย เพิ่ม พูน”

น้ำพระพุทธมนต์บรรจุขวด มีขวดใส่สวยงามเหมือนกับน้ำดื่มขวด PET ทั่วๆ ไป ปริมาณขนาด 500 ซีซี เพียงพอกับการดื่ม หรือนำไปใช้ได้ตามความต้องการ และดูแล้วมีความสะอาด ถูกต้องตามหลักอนามัยทุกประการ และที่สำคัญน่าเก็บไว้เป็นของที่ระลึกเป็นอย่างยิ่ง

การทำน้ำดื่มบรรจุขวดของบริษัทต่างๆ ในช่วงหลังเกิดขึ้นอย่างมากมาย ทุกบริษัททำน้ำดื่มในตราบริษัทของตัวเอง แทนที่จะซื้อหาแบรนด์ทั่วๆ ไปในท้องตลาด เพราะอย่างน้อยก็ทำให้แบรนด์ของตัวเองได้รับการตอกย้ำไปในงานแถลงข่าว และกลุ่มผู้สื่อข่าว รวมถึงใช้ไปในการแจกจ่ายให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ หรือการอบรมสัมมนาของบริษัท

ลงทุนซื้อน้ำดื่มทั้งที ก็ขอมีแบรนด์บริษํทติดไปที่ขวด ก็เป็นทางเลือกที่ลงตัว

แต่การทำน้ำมนต์บรรจุขวดแจกอย่างนี้ น่าจะมีธนาคารนครหลวงไทยแห่งนี้ที่ทำออกมาเป็นแห่งแรกของสถาบันการเงิน และได้รับความสนใจไม่น้อยเช่นกัน ส่วนใครที่จะไปตามหาน้ำพระพุทธมนต์รุ่นแรกนี้จากธนาคารหลวงไทยก็อาจจะต้องผิดหวัง เพราะคงถูกแจกจ่ายไปหมดแล้ว

อาจจะเหลืออยู่บ้างก็คงเป็นของพนักงานธนาคารที่อาจเก็บไว้เป็นของที่ระลึก เพราะชื่อของธนาคารนครหลวงไทยก็จะค่อยๆ หายไปในที่สุด

ธนาคารนครหลวงไทยแจกจ่ายน้ำมนต์เหล่านี้ในการงานแถลงข่าวของธนาคาร ท่ามกลางข่าวการซื้อกิจการธนาคารแห่งนี้อย่างจริงจังจากธนาคารธนชาต แต่โดยความรู้สึกลึกๆ ของผู้บริหารธนาคารนครหลวงไทยก็คงรับรู้ และคาดเดาได้ว่าเส้นทางเดินของธนาคารจะไปในทิศทางใด และที่สำคัญคือจะมีเจ้าของรายใหม่เข้ามาแน่นอน แต่จะเป็นใครเท่านั้นเอง

นอกจากมีน้ำพระพุทธมนต์แล้ว ธนาคารนครหลวงไทยยังมีวัตถุมงคลที่เป็นเหรียญพระเครื่องอีกรุ่นหนึ่ง โดยใช้โอกาสธนาคารครบ 69 ปี ในเดือนพฤษภาคม 2553 แจกเหรียญหลวงปู่ครูบาเจ้าดวงดี วัดท่าจำปี อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ที่ธนาคารได้จัดสร้างขึ้นในปี 2551 เพื่อความเป็นสิริมงคล ความเจริญรุ่งเรืองในการดำเนินชีวิตและธุรกิจ

ผู้ที่ได้รับแจกต้องเป็นลูกค้าบัญชีเงินฝากประจำ หรือตั๋วแลกเงินที่ฝากเพิ่ม และเปิดบัญชีใหม่ระยะเวลา 6 เดือนขึ้นไป วงเงินขั้นต่ำ 1 แสนบาท จำนวนจำกัดเพียง 9,999 ราย หมดแล้ว หมดเลย

สองสิ่งยึดเหนี่ยวตามความเชื่อก็ถูกนำมาใช้กับธนาคารแห่งนี้ ดูแล้วเป็นเรื่องที่น่ารัก และน่าสนใจไม่น้อย เพราะข่าวการเข้าซื้อธนาคารจากกลุ่มทุนต่างๆ เริ่มแรงขึ้นทุกวัน และท่าทีจะจบลงก่อนกลางปี 2553

ในที่สุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ธนาคารธนชาตก็เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารนครหลวงไทยได้ในที่สุดด้วยการใช้เงินกว่า 60,000 ล้านบาทซื้อหุ้นไป 90% จากองทุนฟื้นฟูฯ และผู้ถือหุ้นรายย่อย พร้อมกับค่อยๆ เปลี่ยนสาขาของธนาคารหนครหลวงไทยให้กลายเป็นสาขาของธนาคารธนชาต และยืนยันว่าลูกค้าของธนาคารจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเจ้าของใหม่แต่อย่างใด

ธนาคารนครหลวงไทยเดินทางมาถึง 69 ปี และปิดฉากลงท่ามกลางความหวังที่ซ่อนอยู่ลึกที่สุดของผู้บริหาร และเจ้าของเดิมว่าจะมีธนาคารนครหลวงไทยต่อไป

ความหวังกับความจริง มักเดินสวนทางกันอยู่เสมอ เพราะสุดท้ายธนาคารนครหลวงไทยก็เดินมาถึงจุดที่ยากจะเปลี่ยนแปลงได้ แม้ว่าช่วงสุดท้ายจะมีความพยายามในหลายรูปแบบ และความเชื่อด้านศาสตร์ความเชื่อก็ถูกนำมาใช้ เพื่อสร้างความมั่นใจและจุดความหวังว่าสิ่งที่คิดอาจมีปาฎิหาริย์เกิดขึ้นได้

น้ำพระพุทธมนต์ กับเหรียญศักดิ์สิทธิ์ ไม่สามารถช่วยให้ธนาคารนครหลวงไทยคงอยู่ในสภาพเดิมได้ต่อไป

Profile

กิจการธนาคารพาณิชย์ในประเทศเริ่มในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นักธุรกิจชาวตะวันตกเข้ามาเปิดกิจการสาขาธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ คือ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ของอังกฤษในปี พ.ศ.2431ธนาคารชาร์เตอร์ดของอังกฤษในปี พ.ศ. 2437และธนาคารแห่งอินโดจีนของฝรั่งเศสในปี พ.ศ.2439ทางด้านของไทยเองได้มีการจัดตั้งกิจการประกอบธุรกิจในลักษณะธนาคารพาณิชย์โดยให้ชื่อว่า บุคคลัภย์ (Book Club) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทแบ๊งค์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด (The Siam Commercial Bank Ltd.) ในปี พ.ศ. 2449 และเปลี่ยนเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ในปี พ.ศ. 2482