คอนเสิร์ต Branded brand 300 ล้าน

โชว์คอนเสิร์ตจำนวน 100 รอบ 77 จังหวัดของงานมหกรรมคอนเสิร์ตคาราบาว 30 ปี คือ พระเอกของงานนี้ เพราะการแสดงได้ถูกคิดและครีเอตขึ้นมาให้อลังการสมกับที่ใช้งบลงทุนไปมากมาย เพื่อตอบโจทย์ทางการตลาดให้ชัดเจนที่สุด

การใช้แบรนด์คาราบาวมาร่วมกับแบรนด์อื่น ให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดในระยะเวลาการจัดงาน

กลยุทธ์นี้แตกต่างจากรูปแบบคอนเสิร์ตเดิมๆ ที่งานใหญ่เพียงครั้งเดียวแล้วก็จบกันไป แต่ช่วงหลังก็มีรูปแบบนี้เกิดขึ้นแต่ไม่ได้แนวทางที่ชัดเจนเท่านี้

M-150 ก็เคยซื้อการแสดงของบิ๊กแอส และบอดี้ สแลม อีซูซุ ก็ซื้อโชว์ของก๊อต จักรพรรณ์ อาบครบุรี เบียร์สิงห์ ก็พ่วงอัสนี – วสันต์ โชติกุล

การคิดงานรูปแบบของการแสดง เวที องค์ประกอบต่างๆ ผ่านการกลั่นกรองจากทีมงานเฟรชแอร์ แต่ที่เป็นหลักในการคิด และมีอะไรใหม่ๆ ออกมาก็คือ ชนินทร์ โปสาภิวัฒน์ ครีเอทีฟ กรุ๊ปเฮด ของเฟรชแอร์ ที่กลายเป็นคู่หูของวินิจอยู่ในขณะนี้

คอนเสิร์ตคาราบาว 30 ปี ถูกออกแบบไว้ 4 ส่วนประกอบด้วย
1. เวโลโดม รีเทิร์น

เป็นการสานต่อจากคอนเสิร์ตในตำนาน และเพื่อสะสางความค้างคาใจกับการเป็นคอนเสิร์ตประวัติศาสตร์ในปี 2528 ที่คาราบาวไม่สามารถเล่นจบได้เพราะเกิดเหตุแฟนเพลงตีกัน

คอนเสิร์ตเปิดตัวแคมเปญนี้ คือทำให้อดีตที่ขาดหาย กลับมาครบสมบูรณ์อีกครั้ง สถานที่เดิม เวโลโดม หัวหมาก จะเป็นที่ปิดประวัติศาสตร์หน้าเก่า กำหนดวันแสดงคือ วันที่ 19 มีนาคม 2554 เพียงรอบเดียว

2. OPOC
หรือ One Province One Concert ทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศ ที่คาราบาวเดินทางไปทุกจังหวัด ในมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ทั้ง แสง สี เสียง และโครงสร้างของเวที ที่จะเล่นกันภายในโดมขนาดมหึมา โดยจำกัดจำนวนผู้ชมไว้เพียงจังหวัดละ 5,000 คน เล่นเพียงจังหวัดละรอบเดียว คิดเป็นคนดู 500,000 คน จากคนไทย 50 ล้านคน หรือประมาณ 1% คิดง่ายๆ ว่าใน 100 คน จะมีคนได้ดู 1 คน

วินิจ เลิศรัตนชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเฟรชแอร์ เฟสติวัล จำกัด อธิบายถึงที่มาว่า แฟนเพลงคาราบาวมีทุกซอกหลืบของเมืองไทย การทำอีเวนต์เดียวในกรุงเทพฯ หรือที่ใดที่หนึ่ง ไม่ยุติธรรมสำหรับแฟนเพลงไกลๆ คนพวกนี้ก็เป็นคนไทยเหมือนกัน และมีสิทธิ์ดูคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบจริงๆ ในพื้นที่ของตัวเอง อันนี้เป็นครั้งแรกที่ไปเคาะประตูบ้านกันเลย

3. World Tour
ทัวร์คอนเสิร์ตรอบโลก เป็นการขอบคุณแฟนเพลงของคาราบาวในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งเผยแพร่งานเพลงที่มีความเป็นไทย และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคาราบาว ไปยังผู้ที่มีความสนใจในภูมิภาคต่างๆ โดยจะทำการแสดงกันใน 6 ประเทศ 3 ทวีปทั่วโลก และด้วยโปรดักชั่นในระดับเดียวกันกับวงดนตรีระดับโลก

สำหรับประเทศที่สรุปออกมาแล้วคือ อเมริกา 2 เมือง อังกฤษ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ที่น่าสนใจคืออังกฤษ ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกสนามของทีมฟุตบอลเอฟเวอร์ตัน ที่กูดิสัน พาร์ค หรือที่ O2 Arena เพราะที่แรกสปอนเซอร์ใหญ่ของทีมคือ ไทยเบฟฯ ซึ่งซื้อสปอนเซอร์ถึง 2 แพ็ก ส่วนแห่งที่สองเป็นสถานที่จัดงานคอนเสิร์ตโดยเฉพาะ แต่ลึกๆ ในใจของผู้จัดอย่างวินิจ เลือกกูดิสัน พาร์ค เพราะดูมีพลังมากกว่า

ข้ามมาที่สิงคโปร์ ที่เลือกลงน่าจะมาจากแรงงานไทยในสิงคโปร์มีไม่น้อย อยู่ใกล้ประเทศไทย และที่นี่มีสาขาของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงเปิดให้บริการ ซึ่งเจ้าของก็คือ เสถียร เศรษฐสิทธิ์ ผู้ร่วมทุนของแอ๊ด คาราบาว ในเครื่องดื่มคาราบาวแดง และเป็นหนึ่งใน Co-sponsor ด้วย

ส่วนอเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน มีคนไทยเข้าไปทำงาน และประกอบกิจการอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอเมริกา คาราบาวเคยเดินทางไปเล่นหลังจากที่ออกเทปชุด เมดอินไทยแลนด์

แฟนเพลงคาราบาวมีทุกซอกหลืบของเมืองไทย การทำอีเวนต์เดียวในกรุงเทพฯ หรือทีใดที่หนึ่ง ไม่ยุติธรรม สำหรับแฟนเพลงไกลๆ คนพวกนี้ก็เป็นคนไทยเหมือนกัน และมีสิทธิ์ดูคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบจริงๆ ในพื้นที่ของตัวเอง

4. คาราบาว เอ็กซ์โป
งานบันทึกเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ของคาราบาวในช่วง 30 ปี จัดยาวนานถึงหนึ่งสัปดาห์ ที่นอกจากเรื่องราวของคาราบาว ตลอดระยะเวลาการจัดงานจะได้ชมคอนเสิร์ตของคาราบาวในทุกวัน ที่จะมีรูปแบบแตกต่างกันไปในแต่ละวัน ไม่มีซ้ำคาราบาวเอ็กซ์โป เป็นครั้งแรกที่มีการจัดมหกรรมบันเทิงขนาดใหญ่เกี่ยวกับวงดนตรี

เอ็กซ์โปที่กรุงเทพฯ จะเป็นงานเก็บตกจากเวทีต่างๆ ที่อาจจะไม่จุใจหรือต้องการชมซ้ำอีก

เมื่อรูปแบบของงานถูกออกแบบมาลักษณะนี้ สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือ เวทีการแสดงที่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้ง 100 คอนเสิร์ต ทั้งเวที แสง เสียง ดูที่เชียงใหม่ ต้องเหมือนกับที่สงขลา ชนินทร์ โปสาภิวัฒน์ Chief Creative Office บริษัทเฟรชแอร์ เฟสติวัล จำกัด อธิบายเวทีการแสดงของงาน ได้เซตอัพขึ้นมาใหม่ ได้สั่งสร้างแอร์โดมขนาดใหญ่ พื้นที่ 4,500 ตารางเมตร ซึ่งในต่างประเทศเอาไว้ใช้แข่งขันกีฬา และเป็นการสั่งแอร์โดมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเข้ามาเป็นครั้งแรก มีความกว้างคือ 50 เมตร ความยาว 90 เมตร ความสูง 17 เมตร

โครงสร้างเป็นโดมขนาดใหญ่ ใช้การเป่าลมเข้าไปภายใน ไม่มีเสาคั่นกลาง ทำให้ไม่เป็นอุปสรรคในการแสดงคอนเสิร์ต แอร์โดมหลังนี้ใช้เวลาพองตัวประมาณ 5-6 ชั่วโมง มีขนาดเมื่อพองลมแล้วประมาณ 2 ใน 3 ของสนามฟุตบอล

ตัวเวทีสั่งทำจากต่างประเทศ ประกอบนอกสถานที่ สามารถติดตั้งได้ในเวลาอันรวดเร็ว แข็งแรง ตรงกลางเวทีเป็นจอ LED โค้งเลื่อนเปิด-ปิดได้ ตรงกลางเป็นที่วางโฮโลแกรม 3 มิติจากประเทศอังกฤษ ใช้ในการรายงานข่าวต่างประเทศ จะถูกนำมาใช้ในคอนเสิร์ตนี้ด้วย แต่อาจไม่ครบทุก 100 คอนเสิร์ต เพราะมีปัญหาเรื่องของสถานที่และการขนย้าย

เครื่องดนตรี อุปกรณ์ต่างๆ แสง เสียง เป็นอุปกรณ์ชุดล่าสุด มีการทำสัญญากับตัวแทนจำหน่ายว่าตลอดระยะเวลา 1 ปีนี้ ขณะที่คาราบาวใช้แสดงอยู่ จะไม่มีการให้ศิลปินรายอื่นใช้ในรุ่นและแบบเดียวกันมีเฉพาะงานนี้เท่านั้น

ส่วนการแสดงในต่างประเทศเงื่อนไขแรกที่ทางผู้จัดในแต่ละประเทศที่ติดต่อมา จะต้องขนย้ายอุปกรณ์ของเราไป และเป็นไปตามมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับที่วงต่างประเทศมาเล่นในบ้านเรา ถ้าขนส่งไปไม่ได้ก็ต้องตามสเป็กที่กำหนดไปให้ และในการทัวร์ต่างประเทศ คาราบาวจะมีการแต่งเพลงบางตอนเป็นภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในงานคอนเสิร์ตด้วย

การเดินสาย 77 จังหวัดเริ่มต้นในวันที่ 1 เมษายน ประเดิมด้วยจังหวัดบ้านเกิดของแอ๊ด คาราบาว คือ สุพรรณบุรี ปิดท้ายทัวร์ต่างจังหวัดที่ปราจีนบุรีในวันที่ 10 ธันวาคม เฉลี่ยแล้วคาราบาวจะขึ้นแสดงเดือนละประมาณ 11-12 ครั้ง

มาถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับงานนี้ เริ่มต้นที่สปอนเซอร์จะมีการออกสินค้ารุ่นพิเศษเพื่องานนี้โดยเฉพาะ เช่น โซดาตราช้าง ออกบูล เมจิก สำหรับงานนี้โดยเฉพาะ แอร์เอเชียก็เอารูปคาราบาวไปสกรีนบนตัวเครื่องบินลำใหม่ เพื่อใช้เป็นเครื่องบินสำหรับเดินทางในการทัวร์คอนเสิร์ตครั้งนี้

ส่วนสินค้าอื่นๆ ทางเฟรชแอร์ก็มีการออกแบบสินค้าตัวอย่างไปให้ลูกค้าเลือกเพื่อเป็นแนวทาง แต่จะเลือกใช้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าต้องการหรือไม่ หรือการจัดกิจกรรมให้กับสปอนเซอร์ที่ร้องขอมา

เช่นเดียวกับคอลเลกชั่นเสื้อยืด หมวก ก็มีการออกแบบไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ออกมาครบทุกแบบ พร้อมๆ กันนั้นสินค้าก๊อบปี้ก็เริ่มออกมาในตลาดบ้างแล้ว ซึ่งชนินทร์บอกว่าเห็นบ้างแล้ว โดยเฉพาะโลโก้ 30 ปี คาราบาวบนสินค้าต่างๆ แต่ยังไม่มากนัก

กว่าจะมาเป็นคอนเสิร์ตคาราบาว 30 ปี
รถคาราวานบรรทุกอุปกรณ์ 30 คัน
ระยะทางเดินทางทั้งหมดใน 100 คอนเสิร์ต 15,000 กิโลเมตร
น้ำหนักของอุปกรณ์แสดง 160 ตัน
จำนวนคนทำงานทั้งโครงการ 1,000 คน
อาหาร ข้าวกล่อง 900,000 กล่อง
น้ำดื่ม 1,200,000 ขวด
ที่พัก 100,000 ห้อง
Timeline
ตุลาคม 2553 วินิจ เลิศรัตนชัย และบริษัทเฟรชแอร์ เฟสติวัล คิดโครงการ มหกรรมคอนเสิร์ตคาราบาว 30 ปี โดยใช้วงคาราบาวเป็น Product
พฤศจิกายน 2553 เฟรชแอร์ เฟสติวัล เซ็นสัญญากับวอร์เนอร์มิวสิค และคาราบาว เพื่อร่วมกันจัดมหกกรรมคอนเสิร์ตด้วยรูปแบบ 100 คอนเสิร์ต 77 จังหวัด เวิลด์ทัวร์ และจัดงานเอ็กซ์โป
กุมภาพันธ์ 2554 แถลงข่าวเปิดโครงการพร้อมเปิดตัวสปอนเซอร์ 8 ราย จำนวน 9 สินค้า ร่วมสนับสนุนการจัดงานด้วยงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท
มีนาคม 2554 คอนเสิร์ตเวโลโดมรีเทิร์นเป็นการเริ่มต้นมหกรรมคอนเสิร์ต และสานต่อประวัติศาสตร์ คอนเสิร์ตคนไทยทำเองเมื่อ 15 ปีก่อน ที่คาราบาวเล่นไม่จบคอนเสิร์ต
เมษายน 2554 เปิดทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศที่จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นแห่งแรก เนื่องจากเป็นบ้านเกิดของแอ๊ดคาราบาว จากนั้นเล่นตามแผนที่วางไว้จนครบ
ธันวาคม 2554 ปิดการเดินสายคอนเสิร์ตทั่วประเทศ 76 จังหวัดที่ปราจีนบุรี เริ่มออก World Tour 6 ประเทศ 3 ทวีป และปิดท้ายงาน คาราบาวเอ็กซ์โป 7 วัน 7 คืน ที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์