อภินิหารร่มสร้างแบรนด์

ไม่ว่าจะร้อนหรือฝนตก ร่มกับเมืองไทยก็เป็นอะไรที่เหมาะกันมาก

แม้ว่าคนไทยจะไม่ค่อยนิยมพกร่ม แต่ตามท้องถนนหรือจุดสำคัญๆ เรามักจะพบร่มสารพัดแบรนด์เรียงรายให้เห็นเต็มไปหมด จนดูเหมือนว่ากลยุทธ์นี้จะไม่ตายและหาดูได้ทุกที่ในเมืองไทยเท่านั้นจริงๆ เสียแล้ว

ตัวอย่างจากสองธนาคารอินเตอร์ล่าสุดอย่างซิตี้แบงก์ และเอชเอสบีซี ซึ่งปล่อยร่มชุดใหม่ออกมาแล้ว เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการการเงินนึกถึงธนาคารทุกที่ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ด้วยความเป็นธนาคารต่างชาติ ทั้งสองธนาคารพยายามสร้างแบรนด์เพื่อเข้าถึงตลาดท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด ธนาคารเอชเอสบีซีนั้นถึงกับมีสโลแกนว่าเป็น Local Bank ของทุกๆ ที่ไปเปิดดำเนินงาน ก่อนหน้านี้เอชเอสบีซีเคยสร้างแบรนด์ด้วยการห่องวงช้างของสนามบินใน 23 ประเทศพร้อมๆ กัน เพื่อให้ผู้บริโภคไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนในโลกก็จะต้องได้เจอกับเอชเอสบีซีก่อนเป็นแบรนด์แรก

แต่สำหรับเมืองไทย เมื่อเอชเอสบีซีเริ่มเปิดสาขาแห่งแรกที่ทองหล่อ นอกจากตัวสาขาของธนาคารที่ตกแต่งอย่างโดดเด่นด้วยสีแดงซึ่งเป็นสีองค์กร ยังเพิ่มสีน้ำเงินขึ้นมาขับความเด่นของสีแดง เชิญดาราดังระดับนางเอกช่อง 7 อย่าง อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ มาเดินแบบเปิดงาน ก็ยังไม่ลืมสร้างแบรนด์ให้คนย่านทองหล่อรับรู้ด้วยการปักร่มแม่ค้า สีแดงขาว สัญลักษณ์ธนาคารชนิดที่ปูพรมทองหล่อด้วยแบรนด์เอชเอสบีซีให้เห็นกันทุกซอกซอย

ร่มเป็นรูปแบบเฉพาะท้องถิ่นไทยจริงๆ เพราะไม่ว่าจะเดินทางไปไหน รูปแบบโฆษณาของเอชเอสบีซีที่เห็นตามท้องถนนในเมืองนั้นๆ เต็มที่ก็แค่ห่อเสาตอม่อรถไฟฟ้าอย่างในมาเลเซีย ทำซุ้มประตูแบบที่นิยมในมาเลเซียและสิงคโปร์ หรือไม่ก็เป็นป้ายโฆษณาทั่วๆ ไป มีก็แต่เมืองไทยนี่แหละที่ร่มนอกจากให้ประโยชน์กับแม่ค้าริมถนน ยังสร้างประโยชน์ให้กับการสร้างแบรนด์ขององค์กรกันแบบเห็นชัดทุกที่จริงๆ

เพียงแค่มีเทคนิคง่ายๆ ว่า ต้องกางเรียงกันเป็นพืดยาวต่อเนื่อง ไม่ใช่กระจัดกระจาย ซึ่งนับว่าสภาพถนนไทยเอื้ออำนวยเสียด้วย เพราะมีร้านค้าริมทางที่ต้องการใช้ร่มอยู่มากมาย จุดผ่อนปรนเป็นร้อยเป็นพันแทบทุกริมถนนให้เลือกแจกร่มได้ไม่อั้น จนทำให้เกิดกระแสแข่งขันแจกร่มสร้างแบรนด์ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาธนาคารทั้งหลายแทบจะไม่มีธนาคารไหนที่ไม่เคยผลิตร่มแจกแม่ค้าเลยก็ว่าได้

ทางฝั่งซิตี้แบงก์ ก็ใช้หลักการเดียวกัน แต่ล่าสุดด้วยการใช้สิทธิพิเศษในแนวถนัด ซึ่งไม่ใช่ธนาคารเท่านั้นที่จัดให้ลูกค้าได้ แต่ลูกค้าของธนาคารก็มอบสิทธิพิเศษคืนกลับให้ได้ด้วย โดยค่ายเดอะมอลล์ ซึ่งเป็นพันธมิตรออกบัตรร่วมกับซิตี้แบงก์ ให้สิทธิ์ซิตี้แบงก์ กางร่มหน้าห้างให้กับลูกค้าที่รอใช้บริการแท็กซี่ ไม่ว่าจะวันฝนตกหรือแดดออก

กลยุทธ์ง่ายๆ เท่านี้ซิตี้แบงก์ ก็ได้พื้นที่หน้าห้างซึ่งมีสายตาผ่านไปมาวันหนึ่งนับหลายแสนคู่ที่จะปะทะกับแบรนด์ ขนาดแค่ช่วงเวลาปกติที่คนต่อแถวรอแท็กซี่โดยไม่มีร่ม ใครเดินผ่านไปมาก็สะดุดตาอยู่แล้ว มีร่มติดแบรนด์มากางให้แบบนี้จะไม่ยิ่งดึงดูดความสนใจได้อย่างไร

แบรนด์ดิ้งง่ายๆ ด้วยร่ม คงจะเป็นอภินิหารที่แสดงออกอย่างได้ผลของการสร้างแบรนด์ที่ยังคงใช้ในไทยต่อไปอีกนานแสนนาน

แบรนดิ้งแบบนี้ Thailand Only
การสร้างแบรนด์ในไทย นอกจากร่ม ยังมีรูปแบบอื่นๆ เช่น การ Wrap รถเข็น ที่ได้รับความนิยมมากคือรถเข็นที่เป็นร้านน้ำของแบรนด์กาแฟและแบรนด์นมข้น ที่ช่วยเปลี่ยนรูปแบบรถเข็นให้ดูทันสมัยและสดใสขึ้น ส่วนหนึ่งได้ไอเดียมาจากรถขายไอศกรีมที่วิ่งไปทุกตรอกซอกซอย ต่อมาก็มีการพัฒนาไปในส่วนของอุปกรณ์อื่นๆ ที่แม่ค้าต้องใช้งานเป็นหลัก เช่น ผ้ากันเปื้อน ตัวนี้นิยมมากในกลุ่มเครื่องปรุงรสอาหาร ตามมาด้วยถุงพลาสติกใส่เครื่องดื่ม ซึ่งทำกันเป็นเพียงระยะสั้น เหตุผลเพราะต้นทุนสูง ถ้าไม่ให้ฟรี แม่ค้าพ่อค้าก็ไม่ลงทุนซื้อถุงติดแบรนด์ และมีข้อเสียที่การสร้างแบรนด์ทำได้ในระยะสั้นมากและมองไม่ชัด สุดท้ายถ้าถุงที่ถือกลายเป็นขยะอยู่ไม่ถูกที่ถูกทางก็มีผลลบต่อแบรนด์ได้ด้วย ถุงพลาสติกถ้าไม่ใช่ของห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่ต้องการแสดงความนิยมจึงไม่ได้รับความนิยม

แต่ที่แน่นอนและอยู่นานที่สุด คือ ร่มแม่ค้า เพราะเป็นทรัพย์สินที่แม่ค้าจะดูแลเพราะเป็นอุปกรณ์จำเป็นในการค้าขายที่ต้องใช้อยู่ทุกวัน เพียงเท่านี้ร่มติดแบรนด์จึงมีคนช่วยดูแลให้คงอยู่คู่ถนนไปตลอด