“วันนี้คุณ WhatsApp แล้วหรือยัง”

“คุณมี WhatsApp แล้วหรือยัง” เชื่อว่าหลายๆ คนที่ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน คงต้องเจอคำถามจากเพื่อนๆ เหมือนเมื่อครั้งหนึ่งเคยมีคนถามว่า “มีพินหรือยัง” หรือถ้าย้อนอดีตไปกว่านั้นก็ต้องมี “ออนเอ็มหรือเปล่า”

และนี่เองที่ทำให้แอพพลิเคชั่น หรือบริการเหล่านี้ประสบความสำเร็จถล่มทลาย ไม่ต้องเสียเงินโฆษณา เพราะเมื่อทำแล้วโดนใจผู้ใช้ บอกกันปากต่อปาก ก็สามารถดังได้ชั่วข้ามคืน ยิ่งสังคมในยุค Social Network ด้วยแล้ว พลังการบอกต่อก็ยิ่งรวดเร็ว

WhatsApp ก็เช่นกัน บริการที่พัฒนาออกมาไม่ต่างจากบีบี จะแชตระหว่างบุคคล หรือจะแชตเป็นกลุ่มก็ทำได้ แต่ที่ WhatsAppทำได้มากกว่า คือการทำให้สมาร์ทโฟน “แชต” ข้ามแพลตฟอร์มกันได้ ไม่ว่าจะเป็น BlackBerry ไอโฟน แอนดรอยด์ รวมถึงโนเกีย ไม่ถูกจำกัดเหมือนกับเครื่อง BlackBerry ที่ต้องมีหมายเลข pin เพื่อแชตระหว่างBlackBerry ด้วยกัน

เมื่อกำแพงที่เคยถูกปิดกั้นทลายลง การใช้งานก็ง่าย ไม่ยุ่งยาก เพราะระบบจัดการให้เสร็จสรรพ แถมไม่ต้องเสียค่าบริการ เลยทำให้ WhatsApp กลายเป็นแอพฯ ที่ถูกบอกต่อ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย กลายเป็นแอพฯ ประจำเครื่องสมาร์ทโฟนที่ไว้สำหรับ ”แชต” ไปแล้ว

ที่สำคัญ WhatsApp กำลังถูกจับตามองว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญให้กับตลาดสมาร์ทโฟนในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะBlackBerry ที่ได้ชื่อว่าเจ้าตลาดแชตกระจายผ่านBBM จนสำเร็จแบบถล่มทลายมาแล้ว จะรับมือกับสถานการณ์ครั้งนี้ได้อย่างไร ส่วนโอเปอเรเตอร์มองว่า นี่คือโอกาสของธุรกิจดาต้า หรือวิกฤติของรายได้ Voice เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

บทความอีกเรื่อง เกมสุดฮิต “Angry Bird” เกมนกยั๊วะที่เล่นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ก็มีเบื้องหลังวิธีคิดที่ทำให้เกมนี้ประสบความสำเร็จไว้อย่างน่าสนใจ

จุดเด่นอย่างหนึ่งของเกมนกยั้วะนี้ คือ ความเรียบง่าย ใครๆ ก็เล่นได้ ไม่ซับซ้อนเหมือนเกมออนไลน์ จะเล่นเมื่อไหร่ก็ได้ ก็เลยไปโดนใจผู้บริโภคยุคนี้ ที่การใช้ชีวิตยุ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆ เวลาก็จำกัด จึงต้องการความง่าย ไม่ซับซ้อน

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนชัดเจนถึงที่มาของความสำเร็จทั้ง WhatsApp และ Angry Bird คือ การรู้ใจบริโภคยุคนี้ว่าต้องการอะไร รู้ว่าอะไรคือจุดเด่น จุดด้อย รู้จังหวะและโอกาสอย่างเหมาะสม

ทั้ง WhatsApp และ Angry Bird จึงเป็นกรณีศึกษาที่นักการตลาด และผู้ที่สนใจต้องติดตาม ถ้าอยากรู้จักมากกว่านี้ ติดตามได้ใน POSITIONING ฉบับนี้