กลยุทธ์การใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดียสำหรับการเมือง

กลยุทธ์การใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดียสำหรับการเมือง
• กำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Choose the right targets) แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกพรรคจะมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใช้โซเชี่ยลมีเดีย กำหนดทั้งผู้ชาย ผู้หญิง อายุ แบ่งเป็นหลายๆ กลุ่ม

• กำหนดวัตถุประสงค์ในการทำแคมเปญ เพื่อที่กำหนดแนวทางการสื่อสารพูดคุย การเลือกเครื่องมือที่เหมาะสม

• กำหนด Message หลักๆ ที่ต้องการจะพูด (Define communication messages) เช่นนโยบายหลักของพรรค ตามมาด้วย Personalized Messages ที่ตรงและเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายที่มีหลายๆ กลุ่ม

• วางแผนสื่อ (Media Planning) ที่จะใช้ ว่ากลุ่มเป้าหมายของพรรคนั้น เขาใช้สื่อออนไลน์ตัวไหนอยู่ และพรรคก็จะต้องเตรียมข้อความที่ต้องการลงในสื่อนั้นๆ เช่น Google AdWords หรือ Facebook Ads ในการเพิ่มทราฟฟิคให้กับแฟนเพจหรือเว็บไซต์พรรคการเมือง

• การสร้าง Theme เป็นสิ่งที่ช่วยร้อยเรียงทุกเรื่องเข้าด้วยกัน เหมือนตัวอย่างของ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ใช้ Theme ว่า “Change” ในการร้อยเรียงนโยบายทุกเรื่องเข้าด้วยกัน ช่วยให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเชื่อมโยง (Associate) นโยบายเข้าหากันได้ง่ายขึ้น

• เลือกเครื่องมือที่เหมาะสม เพราะเครื่องมือแต่ละชนิด ก็เหมาะกับงานไม่เหมือนกัน เช่น Facebook Page อาจจะเข้ามาช่วยในแง่ของการสร้าง Engagement หรือ Twitter อาจจะเข้ามาช่วยในเรื่องของการ Broadcast กิจกรรมความเคลื่อนไหวในแต่ละวัน

ที่สำคัญเครื่องมือแต่ละชนิด จะต้องเชื่อมโยงเข้าหากัน เช่น เว็บไซต์ จะต้องมีให้กรอกอีเมลหรือ SMS เพื่อรับข่าวสารการปราศรัยของหัวหน้าพรรคแต่ละพรรค

• บัญญัติ Guideline สำหรับการใช้งานโซเชี่ยลมีเดีย ว่าผู้สมัครแต่ละคนของพรรค ควรจะใช้งาน Twitter, Facebook อย่างไร ควรทวีตยังไง อะไรที่ควรทวีต อะไรที่ไม่ควรทวีต หรือมีแนวทางในการตอบคำถามต่างๆ เรื่องไหนควรตอบแบบไหน ตอบอะไรถึงจะชัดเจน เคลียร์

• เล่นเอง ตอบเอง เพื่อเป็นการสื่อการกับประชาชนว่า ข้อเสนอ ข้อเรียกร้อง ความคิดเห็นของประชาชน ถึงหูหรือรับรู้โดยนักการเมืองผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ มีอำนาจ หรือสามารถส่งเรื่องต่อไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องได้ ช่วยสร้างความมั่นใจ (Confidence) ความเชื่อใจ (Trust) และยังเสริมสร้างความผูกพัน (Engagement) ระหว่างตัวนักการเมืองกับประชาชนอีกด้วย

และแม้ว่าจะใช้ทีมงานหลายคนเข้ามาคอยตอบ แต่การสื่อสารออกไปว่านักการเมืองได้รับรู้และเข้ามาอ่านอยู่ตลอดเวลา อาจจะตอบบ้าง (และบอกไปว่าอันนี้ตอบด้วยตัวเอง) ก็จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ ความเชื่อใจ และความผูกพันอีกพอสมควร

• กระตุ้นให้เกิดการสนทนา ระหว่างพรรคการเมือง ผู้สมัคร และประชาชนอยู่เสมอ เช่น ให้ประชาชนส่งคำถามที่อยากรู้ พรรคก็สามารถจัดให้คนที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ในพรรคมาช่วยตอบ ผ่านเครื่องมือต่างๆ ที่พรรคเลือกใช้

• สร้างประเด็นที่สื่อหลักนำไปพูดถึงในแต่ละวันที่รันแคมเปญ เพื่อกระตุ้นให้แฟนๆ เข้ามามีส่วนร่วม มาสร้างบทสนทนาต่อยอด และพรรคก็ถือโอกาสสร้าง Engagement เพิ่มจากการมีส่วนร่วมครั้งนี้ เช่น หัวหน้าพรรคอาจจะให้สัมภาษณ์พูดถึงนโยบายข้อหนึ่งของพรรค แน่นอนว่าประชาชนก็เสพข่าวจากสื่อกระแสหลัก ช่วยดึงให้คนที่ได้รับรู้และสนใจ เข้าไปทำความเข้าใจเพิ่มเติม พูดคุยกับคนอื่นๆ เกี่ยวกับนโยบายนี้ และถ้ามีคนไม่เห็นด้วยมากๆ ก็อาจจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ชี้แจงที่มาที่ไป หลักการคิด กับคนกลุ่มนี้