เสี่ยใหญ่สวมแพนถือมาม่า ราเมง

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ในวัย 74 ปี ยังคงปรากฏตัวให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอย่างอารมณ์ดีเป็นประจำทุกปี ประหนึ่งเป็นธรรมเนียม ในงานแสดงสินค้าของสหพัฒน์ ล่าสุดเสี่ยบุณยสิทธิ์มี “มาม่า ราเมง” สินค้าใหม่ที่เขาหยิบยกมาเป็นไฮไลต์พร้อมนำเสนอให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ เช่นเดียวกับรองเท้าแพน หนึ่งในไม่กี่แบรนด์ที่สหพัฒน์ปั้นขึ้นมาเองกับมือและยืนหยัดมาได้จนถึงทุกวันนี้

เป็น 2 แบรนด์ที่มีความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสหพัฒน์ กรณีของมาม่า หมายถึงก้าวสำคัญของสหพัฒน์ที่จะทำงานใกล้ชิดกับพันธมิตรมากขึ้น ด้วยการเปิดโอกาสให้ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์เข้ามามีบทบาทในการทำตลาดร่วมกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก และมาม่า ราเมง คือ ผลิตผลของ Marketing Committee บทพิสูจน์ฝีมือเลือดใหม่ของมาม่ารวมถึงการรีแบรนด์มาม่าที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ (อ่าน Insight)

ขณะที่กรณีของแพน หมายถึงการบริหารจัดการภายในเพื่อรับมือกับปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนแปลง เพราะการมุ่งเน้น OEM เพียงอย่างเดียวไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมทั้งในปัจจุบันและอนาคต

นอกเหนือจากบุณยสิทธิ์ซึ่งเปรียบเสมือนผู้กุมบังเหียนธุรกิจทั้งหมดของเครือสหพัฒน์แล้ว ยังมีน้องชายฝาแฝด 2 คน เป็นผู้บริหารในธุรกิจหลัก คือ บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) และ บุญเกียรติ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บุญชัย ยังนั่งประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) แทน ณรงค์ โชควัฒนา พี่ชายของเขา เมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ณรงค์บริหารบริษัท บางกอกรับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ต่อไป ดูเหมือนว่าสปอตไลต์ได้สาดส่องมาที่บุญชัย ที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในเครือสหพัฒน์

2 ปีที่แล้ว แพนเอเซียฟุตแวร์เริ่มระส่ำระสายหนัก เมื่อ ไนกี้ ลูกค้าหลักที่รับออเดอร์โดยตรงจากสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี 2526 และทำรายได้ให้ 80-90% ย้ายฐานการผลิตไปจีนและเวียดนาม แต่ไม่สามารถหาออเดอร์ใหม่ได้ทัน ขาดทุนยับ 1,000 ล้านบาท แต่หลังเปลี่ยนโครงสร้างบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตของบริษัทย่อยจึงเริ่มมีกำไรเมื่อพฤษภาคม 2554

นอกจากนี้ได้มีการรวมบริษัทย่อยกว่า 20 บริษัท ให้เหลือเพียง 10 บริษัท เพื่อให้การบริหารงานและการผลิตไม่สะเปะสะปะ ขณะที่บริษัทใหญ่อย่างแพนเอเซียฟุตแวร์ และบางกอกรับเบอร์ จะแยกกันบริหารเพราะหากบริษัทใดมีผลการดำเนินงานที่สะดุดก็จะได้ไม่เป็นอุปสรรคกับอีกบริษัท โดยบุญชัยคาดว่าจะทำให้มีรายได้เพิ่มจาก 2,000 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาท เนื่องจากมีลูกค้าใหม่จากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น

“จากนี้ไปจะสร้างแบรนด์ให้เป็นสากลมากขึ้น ออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายครอบคลุม จากที่ผ่านมาคนจะรู้จักแพนในแง่ของรองเท้านักฟุตบอลเป็นหลักด้วยสัดส่วนสูงถึง 50% จึงเพิ่มไลน์รองเท้ากีฬาประเภทอื่นๆ แคชชวล รองเท้าหนัง รองเท้าสำหรับกีฬาทางน้ำ และแฟชั่นมากขึ้น”

ทั้งนี้เครือสหพัฒน์ถือเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของคนไทย มีธุรกิจในเครือมากกว่า 200 บริษัท มียอดขายต่อปีกว่า 1.6 แสนล้านบาท

ปั้นศรีราชาเทียบชั้นโกเบ
ครั้งนี้บุณยสิทธิ์เล็งธุรกิจเชิงท่องเที่ยวและวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยมีช้อปปิ้งมอลล์ โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นร่วมอยู่ในพื้นที่โครงการ ส่งเสริมให้คนไทยท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมถึงการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย ถือเป็นธุรกิจใหม่ล่าสุดของสหพัฒน์ และเป็นครั้งแรกที่ก้าวเข้าสู่ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ

นอกจากจะเป็นธุรกิจมูลค่าสูงประมาณ 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมภาคบริการรวมของโลก และไทยเองก็มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนด้วย สหพัฒน์มีที่ดินในมือกว่า 600ไร่ ของ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เตรียมสร้างเป็น Japanese Town โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินในการลงทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 เฟส และทยอยเปิดให้บริการเป็นโซนๆ กำหนดแล้วเสร็จทั้งโครงการภายใน 10 ปี ขณะนี้อยู่ในระหว่างเจรจากับผู้ร่วมทุน

ทั้งนี้ บุณยสิทธิ์ซึ่งทำธุรกิจกับคู่ค้าญี่ปุ่นมาเนิ่นนาน เล็งเห็นศักยภาพในการเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ของศรีราชา เช่นเดียวกับ โกเบ โยฮามา สิงคโปร์ และฮ่องกง

ศรีราชามีชาวญี่ปุ่นอาศัยและทำงานอยู่ราว 4,000 คน (จากทั้งหมดที่อยู่ในไทยราว 30,000-40,000 คน)