ภารกิจข้ามชาติ กูเกิล-เฟซบุ๊ก โฆษณานาทีนี้ไม่ Search ก็ต้อง Like

ไทยกลายเป็นพื้นที่ที่ธุรกิจออนไลน์ข้ามชาติกำลังบุกหนักโดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิล และเฟซบุ๊กที่ขยับแรงจนวงการโฆษณาในไทยอาจสะเทือน เพราะยุทธศาสตร์ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ทำสถิติ Search หรือคลิก Like เท่านั้น แต่คือการกวาดเม็ดเงินมูลค่านับพันล้านบาทนี้ให้ได้

“กูเกิล” เปิดออฟฟิศทำเงินมากกว่าเดิม

ตั้งแต่ต้นปี 2554 กูเกิลบุกหนัก ด้วยยุทธศาสตร์ชัดเจนว่ากูเกิลต้องการโกตลาดแมสให้ได้ ตั้งแต่การโปรโมตเบราว์เซอร์ Chrome ด้วยทีวีซี เข้าถึงธุรกิจเอสเอ็มอีด้วยโปรเจกต์ ธุรกิจไทยโกอินเตอร์ ต่อยอดจากฐานที่แข็งแรงในการเป็นเจ้าตลาดเว็บไซต์ Search google.co.th ที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากระบบโฆษณา Google Adwords ซึ่งมีตัวแทนช่วยขายในฐานะ Adwords Authorized Reseller 2 รายคือ บริษัทแกรนด์แพลนเน็ท เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด แต่งต้ง 10 สิงหาคม 2552) บริษัท เว็บเนติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (แต่งต้งเมื่อ 1 มกราคม 2554)

ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 กูเกิลก็ได้เปิดออฟฟิศในไทย หลังจากเตรียมตัวมาตั้งแต่ปี 2553 เป็นการลงทุนเปิดออฟฟิศกูเกิลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยมี “อริยะ พนมยงค์” เป็นหัวหน้าฝ่ายธุรกิจ บริษัท กูเกิล ประเทศไทย จำกัด เพื่อทำความเข้าใจกับแบรนด์ต่างๆ และเอนเยนซี่ และผู้บริโภคให้เข้าใจสื่อของกูเกิลมากยิ่งขึ้น และแน่นอนคือการขายโฆษณาให้ได้มากขึ้น โดยยังมีแผนแต่งตั้งตัวแทนขายเพิ่มอีกด้วย

“อริยะ” บอกว่าเหตุผลที่กูเกิลตัดสินใจลงทุนตั้งออฟฟิศในไทย มาจาก 1.ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยเพิ่มเร็วจนขณะนี้มีถึง 25 ล้านคน 2.สมาร์ทโฟน และฟีเจอร์โฟนกำลังเติบโต ซึ่งเป็นสื่อโฆษณาที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และ3.โฆษณาในออนไลน์มีโอกาสโต เพราะจากตลาดรวมโฆษณามูลค่า 1 แสนล้านบาท ออนไลน์ยังได้ส่วนแบ่งแค่ 1% หรือแค่ประมาณ 1,000 ล้านบาทเท่านั้น

แม้คนจะนิยมใช้เฟซบุ๊ก กูเกิลอาจถูกแย่งเวลาไปในเครือข่ายสังคมออนไลน์บ้าง แต่กูเกิลก็เตรียมบุกธุรกิจนี้ด้วยโปรเจกต์กูเกิลพลัส ที่รอเพียงเวลาที่เหมาะสมในการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเท่านั้น

ในมุมของ ”อริยะ” แล้ว คู่แข่งไม่ใช่จุดที่กูเกิลต้องกังวล เพราะเม็ดเงินโฆษณาในตลาดนี้ยังมีให้เก็บเกี่ยวอีกมาก หน้าที่ของเขานับจากนี้คือต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าเพื่อใช้กูเกิลเป็นสื่อโฆษณา ที่มีอยู่ 3 ช่องทางคือผ่านระบบ Search Adwords ผ่านโทรศัพท์มือถือ (Admob) และผ่านหน้าจอเว็บไซต์ของพันธมิตร

ทั้งหมดนี้เพราะโอกาสที่กูเกิลมองคืออีก 99% ของเม็ดเงินโฆษณาทั้งหมดที่มี ซึ่งหมายถึงกูเกิลไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการแย่งเม็ดเงินในสื่อออนไลน์เท่านั้น สื่อออฟไลน์ก็เป็นอีกเป้าหมายของกูเกิลอีกด้วย