จริงหรือที่ดิจิตอลฆ่าแบรนด์หรู???

เพลง “Gucci,Gucci” ของ Kreyshawn  แรพเปอร์สาว ที่มีเนื้อเพลงง่ายๆแต่แสบสันอย่าง “Gucci, Gucci, Louis, Louis, Fendi, Fendi, Prada…the basic bitches wear that shit so I don’t even bother.” มียอดวิวทะลุ 17 ล้านวิวทาง Youtube เป็นตัวอย่างของแบรนด์หรูถูกย่ำยีแบบขำๆ บนโลกติดไฮสปีด  แต่เมื่อมีได้ย่อมมีเสียเป็นธรรมดา เพราะจากที่เคยหวาดกลัวกับพลังแมสแห่งโลกออนไลน์จะถาโถมเข้าใส่จนตั้งตัวไม่ติด กลับกล้ากระโจนเข้ามาอย่างจริงจังและพร้อมที่จะแลกหากจะเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือติชมอย่างผู้บริโภค เช่นเดียวกับแบรนด์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ พึงกระทำ  ผลที่ได้มาคือ Brand Engagement ที่เพิ่มสูงขึ้น ตามมาด้วยยอดขายจากช่องทางออนไลน์

อันที่จริงแล้วก่อนหน้านี 2-3 ปี แบรนด์หรูหลายแบรนด์ก็หวาดกลัวกับโลกดิจิตอลกันมากเพราะโลกดิจิตอลเป็นเรื่องของการเข้าถึงง่ายเป็นโลกของแมสอย่างแท้จริง แต่โลกของแบรนด์หรูแล้วคือยากนักที่คนทั่วไปจะเข้าถึงได้ แมสถูกกันให้ออกห่าง ผู้มีกำลังทรัพย์เท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์ครอบครอง

ต้องขอบคุณวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ทำให้เกิดการลดราคาทั้งในห้างสรรพสินค้าและเวบไซต์ที่ออกแบบมาเพื่อจำหน่ายแบรนด์เนมปักป้ายเซลล์โดยเฉพาะ และนั่นทำให้แบรนด์เลอเลิศทั้งหลายเริ่มหันมามองช่องทางนี้ อาทิ Versace,Armani,Vera Wang ที่แม้จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ก็มีการแบ่งปันงบมาพัฒนาช่องทางนี้เพิ่มขึ้น ทั้งยังมีผลวิจัยของ Unity Marketing รายงานว่า กว่า 80% ของผู้มีรายได้เกินกว่า 250,000 เหรียญสหรัฐฯต่อปี เป็นผู้ใช้งานSocial Media และ 50% ใช้ Social Media เพื่อศึกษาเกี่ยวกับแบรนด์และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ 

ที่สำคัญเสื้อผ้าหาใช่เคเตกอรี่ที่สร้างรายได้หลักให้กับแบรนด์หรูเหล่านี้ เพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากกระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ น้ำหอมและเครื่องสำอาง นั่นจึงเป็นที่มาว่าเหตุใดแบรนด์ที่เคยชูคออยู่บนหอคอยงาช้าง จึงหันมาตักตวงรายได้จากการขายสินค้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มฉายแววว่าจะมีกำลังซื้อมหาศาลในอนาคต   

จะมีอะไรเหมาะเจาะไปกว่าการขายน้ำยาทาเล็บราคา 23 เหรียญสหรัฐฯ ทางออนไลน์??? 

ปัจจุบันทั้ง Hermes จนถึง Chanel ต่างพาเหรดลง facebook,twitter และ Social Media อื่นๆ ด้วยกันทั้งสิ้น แถมจัดหนักเปิด Blog และถ่ายทอดแฟชั่นโชว์แบบ Live Stream แถมมี App ทางสมาร์ทโฟน อีกต่างหาก (LV มี amble ในApp Store)แถมมุ่งมั่นกับ E-Commerce และ Mobile Commerce อย่างไม่ลดละอีกด้วย 

ขณะที่แบรนด์แฮนเมดอย่าง Bottega Venetta ที่ขายกระเป๋าสุดแพงใบละ 3,800 เหรียญสหรัฐฯ ก็ออกอากาศสารคดีเบื้องหลังงานระดับเทพผ่านเวบไซต์ของตัวเองและ Fan page ทาง Facebook  ด้วย หรือค่าย LVMH ก็มีนิตยสารออนไลน์ Nowness ที่กลายเป็นหนึ่งในคัมภีร์สำคัญของโลกแฟชั่นไปแล้ว

ดูเหมือนว่าตอนนี้ดิจิตอลจะช่วยแผ่แสนยานุภาพของแบรนด์หรูให้กว้างไกลและกล้าแกร่งขึ้นมากกว่า

ที่มา : ข้อมูลบางส่วนจาก adweek