สูตรลับปากกาควอนตั้ม : ส่วนผสมจาก 3 ประเทศ

ไทยเคยเป็นผู้ผลิตและส่งออกแบรนด์ปากกาลูกลื่นไปยังยุโรปและอเมริกามากติดอันดับท็อปของโลก แต่ก็ต้องเสียแชมป์ไปประมาณ 5 ปีที่ผ่านมานี้เอง เมื่อฐานการผลิตส่วนใหญ่ย้ายไปจีนเพราะทำต้นทุนได้ต่ำกว่า ภายใต้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาใกล้เคียงกัน 

แต่แค่ 2 ปี จีนก็ต้องเสียแชมป์ให้กับอินเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดที่มีผู้บริโภคปากกาไม่แพ้จีนด้วยประชากรที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อินเดียเอาชนะจีนและดึงฐานการผลิตปากกาสำหรับตลาดอเมริกาและยุโรปมาจากจีนด้วยการวิจัยและพัฒนาน้ำหมึกไฮบริดขึ้นมา 

น้ำหมึกไฮบริดที่ว่าคือสิ่งที่ปากกาควอนตั้มของ DHAS ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ดีกับผู้ผลิตปากกาในอินเดียใช้อยู่ มีชื่อเรียกว่า GeloPlus+ ที่แปะอยู่บนปากกาควอนตั้ม เป็นสูตรน้ำหมึกที่นำหมึกปากกาลูกลื่นมาผสมกับน้ำหมึกแบบเจล ทำให้เกิดความต่อเนื่องของน้ำหมึกที่สม่ำเสมอไม่ขาดตอน เพราะลักษณะของหมึกเจลทำให้เกิดความลื่นช่วยลดความหนืดของหมึกลูกลื่นและทำให้เนื้อหมึกจับตัวกันสม่ำเสมอแต่ลื่นไหลเพราะไม่มีช่องว่างให้อากาศเข้าไปแทรกตัวอยู่ในน้ำหมึก ผสมด้วยเคล็ดลับสำคัญอีกอย่างนั่นคือโมเลกุลของน้ำหมึกจะต้องมีขนาดที่สัมพันธ์กับหัวลูกบอลที่อยู่ตรงหัวของปากกาแต่ละขนาดด้วย

เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นปากกาขนาด 0.3 0.5 0.7 หรือ 1.0 มิลลิเมตร จะต้องมีสูตรเฉพาะของแต่ละขนาดที่ต่างกันออกไป และสูตรที่ว่านี้คือสิทธิบัตรที่ผู้ผลิตในอินเดียเป็นผู้ครอบครองและกลายเป็นหัวใจสำคัญที่ทำอินเดียรักษาฐานการผลิตปากกาคุณภาพไว้ในประเทศได้สำเร็จ ไม่เพียงเท่านั้นการคิดค้นน้ำหมึกไฮบริดนี้ได้ยังทำให้อินเดียกลายเป็นผู้ผลิตน้ำหมึกที่ทรงอิทธิพลในตลาดโลกแทนที่ผู้ผลิตจากเยอรมนีที่เป็นประเทศที่เคยครองตำแหน่งนี้มาก่อน 

การผสมสูตระหว่างหมึกปากกาสองแบบ เป็นการคิดกำจัดจุดอ่อนและทำให้เหลือแต่ข้อดีของหมึกแต่ละประเภทไว้ในปากกาแต่ละด้าม ปากกาเจลจะให้สีสด แต่เดิมน้ำหมึกแห้งช้า ก็ได้คุณสมบัติแห้งเร็วของหมึกลูกลื่นมาผสม และทำให้สีของลูกลื่นที่ไม่สดเท่าหมึกเจลถูกกำจัดออกไป

ทั้งหมดนี้คือสูตรที่ DHAS ซื้อลิขสิทธิ์มาใช้สำหรับหมึก GeloPlus ในปากกาควอนตั้มนั่นเอง 

ความสำเร็จของอินเดียในการคิดค้นน้ำหมึกและยึดการเป็นฐานการผลิตปากกาคุณภาพ เป็นส่วนสำคัญในการก่อเกิดแบรนด์ควอนตั้มเมื่อ 5 ปีก่อนด้วย บวกกับประสบการณ์ที่ DHAS ได้รับบทเรียนจากที่เคยเป็นตัวแทนจำหน่ายปากกา Rotring แล้วต้องเสียสิทธิ์การเป็นตัวแทนจำหน่ายไปเนื่องจาก Rotring ถูกเทกโอเวอร์จนปัจจุบันเลิกผลิตปากกาเหลือเพียงแค่ดินสอเท่านั้น

โดย DHAS คิดว่า หากควอนตั้มมีจุดเด่นที่แตกต่างจากปากกาอื่นด้วยเทคโนโลยีที่เหนือกว่าก็ย่อมจะสร้างแบรนด์ปากกาที่เป็นที่ยอมรับในตลาดได้ไม่แพ้กัน ปากกาที่มีคุณสมบัติเขียนลื่นจึงเกิดขึ้นด้วยความเชื่อนี้ภายใต้การจับมือเป็นพันธมิตรที่ดีกับผู้ผลิตน้ำหมึกในอินเดีย

แม้กระทั่งชื่อควอนตั้ม ก็คิดและตั้งขึ้นเพื่อสะท้อนปากกาที่มีจุดเด่นจากการใช้น้ำหมึกที่แตกต่างจากปากกาทั่วไป ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  

ขณะที่การดีไซน์จะเป็นหน้าที่ของทีมงาน DHAS จากไทย ที่จะสำรวจตลาดเพื่อนำความชอบของลูกค้ามาออกแบบดีไซน์เพื่อผลิตสินค้าใหม่ประมาณ 30 รุ่นหรือแบบต่อปี ส่งไปทำแม่พิมพ์ (Mold) ที่เกาหลีใต้ซึ่งถือว่ามีฝีมือในการทำแม่พิมพ์ปากกาเป็นที่หนึ่งของโลก แม้กระทั่งญี่ปุ่นซึ่งผลิตปากกาแนวน่ารักขายดีไซน์ก็ต้องส่งมาทำที่เกาหลีใต้เช่นกัน ก่อนจะส่งไปประกอบในโรงงานที่อินเดีย ทำการตรวจเช็คสินค้าแล้วส่งมาที่คลังสินค้าของ DHAS ในไทยและทำการตรวจเช็กอีกครั้งก่อนออกสู่ตลาด

ไม่เพียงเท่านั้น ปากกาในสต็อกจะถูกสุ่มตรวจคุณภาพทุกๆ 3 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าอุณหภูมิที่ร้อนอบอ้าวและความชื้นสัมพัทธ์ที่มีอยู่มากในเมืองไทยจะไม่ทำให้คุณภาพของน้ำหมึกมีปัญหาต่อการใช้งาน และทุกๆ 2 ปี ก่อนน้ำหมึกปากกาทั่วไปจะหมดอายุประมาณ 2 ปีครึ่ง การผลิตจะถูกเบรกเพื่อเคลียร์สต๊อกสินค้าคงค้างออกสู่ตลาดเพื่อรักษาชื่อเสียงและคุณภาพของแบรนด์

กระบวนการทั้งหมดนี้ ทำขึ้นก็เพื่อให้มั่นใจว่า การจะก้าวสู่การเป็นแบรนด์ปากกาในใจผู้บริโภคให้ได้นั้น จะต้องควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐาน 100% และไม่ทำให้เสน่ห์ของการใช้ปากกาหายไปเพราะอาการสะดุดของเส้นหมึกของปากกาที่วางโพสิชันนิ่งของตัวเองไว้ว่า จะเป็นปากกาที่เขียนลื่นที่สุดในตลาดนั่นเอง