MOLOME แชะแล้วแชร์เวอร์ชั่นไทย

หลังจากความโด่งดังของ Instagram ใน iPhone จนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการอื่นมองหาแอพพลิเคชั่นที่ใช้ตกแต่งรูปภาพ และปรากฏว่าแอพพลิเคชั่นสไตล์แชะแล้วแชร์ที่มาแรงในเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็คือ MOLOME แอพฯแต่งภาพของบริษัทหัวลำโพง Developer คนไทยนี่เอง

เลือกเกิดถูกกาลเทศะ

ตอนนี้ MOLOME อายุยังไม่ถึง 1 ขวบ โดยเปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ในระบบซิมเบี้ยน จากแนวคิดที่ว่า อินไซท์ของคนที่ใช้สมาร์ทโฟนที่ถ้าหากติดใจแอพพลิเคชั่นไหน ก็จะมองหาแอพฯ นั้น มาใช้งานอยู่เสมอไม่ว่าจะอยู่บนแพลตฟอร์มไหน จากความเชื่อนี้ทำให้ทีมพัฒนาของหัวลำโพงเลือกลงมือเปิดตัว MOLOME ใน“ซิมเบี้ยน

”“ตรงนี้อาจจะพูดได้ว่าเราทำ Blue Ocean หาช่องว่างที่ยังเหลืออยู่ ในตลาดคนใช้ซิมเบี้ยนยังมีอยู่เยอะ แต่แนวโน้มว่าจะใช้ iOS หรือ Android นั่นแหละ”

ตอนนี้ MOLOME มีอยู่บนแพลตฟอร์ม Symbian, BlackBerry และAndroid จำนวนผู้โหลดอยู่ที่หลักแสนคน กระจายอยู่ใน บราซิล อิตาลี อินโดนีเซีย อเมริกา แคนาดา จีน และแน่นอนประเทศไทย ถือเป็นแอพฯ แต่งภาพและแชร์รูปอันดับ 1 ในซิมเบี้ยนและแบล็คเบอร์รี่ สาเหตุที่ประสบความสำเร็จ เพราะว่าหลังจากปล่อย Beta ให้โหลด เพียงแค่ 5 นาทีก็มีคนมาลองใช้ และ 1 ชั่วโมงต่อมาก็กลายเป็นบทความในบล็อกคอมมูนิตี้ที่ใหญ่ที่สุดของโนเกีย ทำให้โนเกียเชียร์ MOLOME อย่างออกหน้า เพราะเป็นแอพฯ แรกที่ทำให้โทรศัพท์โนเกียถ่ายรูปได้สนุกขึ้น จนกระทั่งหลังเปิดตัว 2 สัปดาห์ต่อมายอดดาวน์โหลดก็พุ่งขึ้นทันที

“ช่วงเวลา” กับ “สถานที่” แจ้งเกิดนี่เองที่เป็นหัวใจสำคัญที่สร้างชื่อให้ MOLOME จนต่อยอดเป็นก้าวต่อไปสู่การบุกไปที่ iOS ที่คนในวงการหลายคนต่างเฝ้า ซึ่งตอนนี้ทีมงานเปิดเผยว่าทเสร็จแล้วเพียงแต่รอเวลาเท่านั้น

“ที่ผ่านมาเราเรียนรู้ว่าการปล่อย App ผิดเวลา จะทำให้ Fail ทันที ตอนนี้ต้องยอมรับว่าเรายังสู้ Instagram ไม่ได้ ถ้าปล่อยออกไปตอนนี้ก็จะถูกวิจารณ์ในแง่ลบบน App Store แล้วเรตติ้งมันก็จะน้อยลง คนก็ไม่ให้ความสนใจ ไม่โหลด เราจึงใช้วิธีการเรียนรู้พฤติกรรมผู้ใช้งานจากแพลตฟอร์มอื่นๆ ก่อน ว่าฟีเจอร์ไหนสวย อันไหนสวยเราก็เก็บไว้ อันไหนไม่สวยเราก็ปรับปรุงตอนนี้ทำระบบไว้หมดแล้ว ไม่เกินไตรมาส 2 ปี 2555 คงลงที่ iOS”

 

ปล่อยแอพฯ ต้องมีกลยุทธ์

 จากเดิมที่หัวลำโพงต้องการวาง Position ให้กับ MOLOME ว่าเป็นแอพฯ คุณภาพตามเกณฑ์สากล ทำให้ไม่ได้สื่อสารว่าเป็นแอพฯ ของคนไทย จนกระทั่งเมื่อไปออกบูธในงาน Communic Asia 2011 ที่สิงคโปร์ คนในวงการจึงได้รู้ว่าแอพฯ นี้ เมด อิน ไทยแลนด์

จุดเด่นของแอพฯ MOLOME คือการแต่งภาพพร้อมกับการแชร์ และเหมือนเล่นเกมไปในตัว เพราะเมื่อเริ่มใช้งานจะมีฟีเจอร์บางตัวล็อกอยู่ จนกระทั่งถ่ายภาพ แชร์ หรือร่วมกิจกรรมที่แอพฯ กำหนดจึงจะปลอดล็อกฟีเจอร์ต่อไปได้ เช่น ถ่ายรูปครบตามจำนวน ถ่ายรูปในเทศกาล คล้ายการล่า Badge ใน Foursquare ซึ่งฟีเจอร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตอนนี้ของ MOLOME คือ “พาโล่” (ผวนและตัดคำมาจาก โพลารอยด์)

ความโดดเด่นอีกด้านอยู่ที่กลยุทธ์การ Cross Platform และ Speed to Deliver Product ซึ่งทีมงาน MOLOME บ้าพลังจนเรียกได้ว่าเป็นแอพฯ ที่มีอยู่เกือบครบระบบปฏิบัติการ ต่อไปก็รอไฮไลต์ที่จะขึ้นไปอยู่ใน iOS เท่านั้น ซึ่งทีมงานเชื่อว่าการทำแบบนี้จะทำให้ผู้เล่นสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะระบบไหนก็ต้องโหลด MOLOME และถ้าเล่นจนติดจากระบบหนึ่งก็จะเล่นต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่า MOLOME จะอยู่ที่ไหน

ส่วนอุปสรรคของการพัฒนา MOLOME ก็คือทีมงานซึ่งเป็นชุดเดียวกับทีมงานบริษัท หัวลำโพง ต้องแบ่งเวลาสว่ นใหญ่ไปที่การทำงานประจำ นั้นคือพัฒนาแอพฯ องค์กร, เว็บไซต์ หรืองานรับจ้างผลิต ซึ่งเป็นงานที่ตอนนี้สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกให้มากกว่า เพราะไม่มีระบบ Joint Venture ระดมทุนแบบนักพัฒนาในต่างประเทศ ทั้งหมดต้องใช้ทุนตัวเองทั้งนั้น ไตรมาส 3 ของปี 2555 MOLOME คาดหวังว่าจะมีเงินจากแอพฯ นี้เข้ามาบ้าง ด้วยโมเดลการหารายได้จากโฆษณาเพราะอยากให้ผู้ใช้งานใช้แอพฯ นี้ได้ฟรี แต่ตอนนี้กำลังศึกษาวิธีเพื่อทำให้โฆษณาที่เข้ามาไม่น่าเบื่อหรือกวนผู้ใช้จนเกินไป

คนชาติไหนถ่ายยังไง

เพราะว่า MOLOME เป็นเจ้าของแอพฯ ถ่ายภาพของตัวเอง เราเลยให้พวกเขามอนิเตอร์พฤติกรรมการถ่ายภาพของคนแต่ละชาติให้ฟัง และได้ข้อสรุปดังนี้

“คนยุโรปชอบถ่ายรูปวิว ไลฟ์สไตล์ น่ารักๆ คนอินเดียชอบถ่ายรูปตัวเอง ส่วนคนไต้หวัน คนเอเชียอื่นๆ ก็ถ่ายรูปตัวเองเยอะ คนไทยถ่ายรูปอาหาร 50% เป็นอาหาร เพราะอากาศกับแสงในกรุงเทพฯ มี Pollution เยอะ ถ่ายยังไงแสงก็หมอง ไม่แน่นะ คนยุโรปอาจจะถ่ายรูปอาหารเยอะขึ้นก็ได้ เพราะเวลาคนไทยถ่ายรูปอาหาร เดี๋ยวนี้มีฝรั่งมาคอมเมนต์เยอะขึ้น” แล้วเจ้าของแอพฯ ถ่ายรูปล่ะ ถ่ายอะไรกันมั้ง…คำตอบนี้ มาพร้อมเสียงหัวเราะ “อาหารเหมือนกันครับ” ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกัน ยกเว้น เอกสิทธิ์ ดีไซเนอร์ของทีมที่ชอบถ่ายรูป Texture สวยๆ ของวัสดุรอบตัว

MOLOME มาจากคำเต็มๆ ว่า MObile folLOw ME แน่นอนว่าความหมายในอีกทางคือกล้องโลโม่ สัญลักษณ์ที่กลายเป็นคาแร็กเตอร์หรือเจ้านกฮูก MOLO ซึ่งดวงตาคล้ายเลนส์กล้อง ทีมออกแบบตั้งใจให้เป็นมาสคอตของแอพฯ ที่คนยิ้มได้เสมอเมื่อเห็น จึงใส่คาแรกเตอร์เปิ่น ซุ่มซ่าม เฟอะฟะ แบ๊วๆ จากเดิมแค่ตั้งใจใช้เป็นตัวสื่อสารแอพ แต่ตอนนี้มีคนสนใจของพรีเมียร์จากคาแร็กเตอร์นี้มากขึ้นทุกที จนทีมงานแอบคิดถึงวิธีทำเงินจากเจ้า MOLO ซะแล้ว