ช่อง 3 – ค่ายละครร่วมสร้าง จัดหล่อทุกมุม เติมออร่า “พระเอก”

ในช่องทางที่เข้าถึงแมสและทำให้ถูกรักได้เร็วสำหรับ ”ดารา” แล้ว “ฟรีทีวี” และ “ละคร” คือทางเลือกที่ใช่มากที่สุด และความดังของ ”ณเดชน์ คูกิมิยะ” ก็พิสูจน์สูตรนี้หลังจากอยู่บนแคตวอล์ก และพรีเซ็นเตอร์มาระยะหนึ่ง จนเมื่อ ”ช่อง 3” รับเป็นดาราในสังกัด และ ”กล้องก็รักเด็กคนนี้” ออร่าก็สาดแรงขึ้น

 

ช่อง 3 เน้น กล้องรัก ดูดีทุกมุม 

“สมรักษ์ ณรงค์วิชัย” ผู้จัดการฝ่ายผลิตรายการ ของช่อง 3 เล่าย้อนหลังให้ฟังว่า เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว “เอ ศุภชัย” พา ”ณเดชน์” มาแนะนำตัว และแม้ในตอนแรกที่เห็นหน้าตาและบุคลิกว่าโดดเด่น แต่สำหรับช่อง 3 แล้ว ทุกคนจะต้องผ่านการทดสอบที่สำคัญคือ ”มุมกล้อง” ที่เป็นภาพเคลื่อนไหวที่นักแสดงคนนั้นต้องออกมาดูดี ”ทุกมุม” เพราะเมื่อแสดงในละครแล้วจะต้องดูดีทุกมุม บางคนหน้าตาดี เมื่อผ่านกล้องแล้วอาจไม่ใช่

เรามีศัพท์เรียกกันว่าเมื่อมีการทดสอบหน้ากล้องแล้ว นักแสดงคนนั้นดูดี ก็จะบอกกันว่า ”กล้องรักเด็กคนนี้” และที่สำคัญคือบททดสอบด้านวุฒิภาวะทางอารมณ์และความอดทน ที่ไม่เพียง ”สมรักษ์” ทดสอบเท่านั้น ยังเป็นในรูปแบบของคณะทำงานด้วย

เมื่อตกลงรับแล้ว ก็ต้องเวิร์คช็อปด้านการแสดงอย่างน้อย 3 เดือนกับทีมงานของช่อง 3 เพื่อเรียนรู้เทคนิคการแสดง หากมีบทละครที่เหมาะกับบุคลิกลักษณะก็จะได้เล่นทันที

และแน่นอน “ณเดชน์” ผ่านมาทุกด่าน จนได้รับการปั้นในการแสดงละครเรื่องแรก คือเรื่อง ”เงารักลวงใจ” ที่ ”สมรักษ์” บอกว่าส่งไปให้ค่ายเมเกอร์วาย ”ยศสินี ณ นคร” เป็นผู้จัด ช่วยปั้น จากนั้นก็เข้าสู่โปรเจกต์การเปิดตัวดารารุ่นใหม่ของช่อง 3 ในโปรเจกต์ 4 หัวใจแห่งขุนเขา ในเรื่องดวงใจอัคนี และดังเปรี้ยงเมื่อรับบทสายชลใน “เกมร้าย เกมรัก”

ความดังของ ”ณเดชน์” ถือว่าติดสปีดในการเป็นนักแสดง เพราะเพียงแค่เรื่องที่ 2 ก็สามารถเป็นบทนำ เป็นพระเอกที่ถูกทอล์กได้ หากเทียบกับดาราบางคนที่อาจใช้เวลา 4-5 ปีกว่าจะอยู่ในความสนใจของผู้ชม 

แม้ว่าจะดังแล้ว และกวาดงานพรีเซ็นเตอร์ สามารถหารายได้จากช่องทางอื่นๆ จำนวนมาก ซึ่งหากเทียบรายได้จากการเล่นละครกับงานอื่น อย่างการโชว์ตัว ออกงานอีเวนต์แล้ว รายได้ละครถือว่าเล็กน้อย แถมไม่คุ้มค่าเหนื่อย เพราะทั้งต้องเดินทางไกล และใช้เวลาตลอดทั้งวัน ในช่วงไปกองถ่ายเฉลี่ยเรื่องหนึ่งนานประมาณ 4-5 เดือน

แต่ดารากับละคร ไม่อาจตัดขาด หรือดาราไม่อาจหยิ่งกับทางช่องหรือผู้จัดละครได้ ซึ่ง ”สมรักษ์” บอกว่า เพราะละครทีวีคือช่องทางที่สร้างฐานผู้ชมได้ดีที่สุด “นี่คือฐานของพวกเขา”

 

ครอบครัวละครขยาย ลงตัว “เอ” ปั้นเด็กล็อตใหญ่

ความลงตัวของการส่งเด็กใหม่มาเสนอช่อง ของ ”เอ ศุภชัย” คือการถูกที่ถูกจังหวะ เมื่อช่อง 3 ต้องการสร้างครอบครัวละคร และต้องการตัวเลือกมากที่สุดเพื่อเล่นละครของช่องที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนละครของช่อง 3 เพิ่มจำนวนเรื่องมากขึ้นเท่าตัว จากที่เคยมีปีละประมาณ 20-25 เรื่อง ปัจจุบันเพิ่มเป็นเกือบ 50 เรื่อง โดยรวมละครทุกช่วงเวลา 

“สมรักษ์” บอกว่านอกจากค่ายของเอ ศุภชัยแล้ว ยังมีดาราที่ช่อง 3 เลือกมาเอง หรือที่ถูกส่งมาจากโมเดลลิ่งต่างๆ และไม่ได้หมายถึงทุกคนผ่านการคัดเลือก โดยเฉลี่ยเด็กที่ถูกส่งมาคัดมีประมาณ 50% ที่ถูกเลือก เฉลี่ยปีหนึ่งจะมีดาราใหม่รวมกว่า 20 คน 

สำหรับค่ายเอ ศุภชัย ที่อยู่ในสังกัดช่อง 3 นั้น นอกจาก ”ณเดชน์” แล้ว ยังมีหมาก ปริญ, เคน ภูภูมิ, มาริโอ เมาเร่อ, กุ๊บกิ๊บ สุมณทิพย์, มินท์ ณัฐวรา และยังมีรุ่นใหญ่อย่าง ป๋อ ณัฐวุฒิ

 

จุดเปลี่ยนผู้ชมพร้อมรับสิ่งใหม่

นอกจากนี้ ”สมรักษ์” ยังบอกว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงของวงการละครทำให้โอกาสของนักแสดงหน้าใหม่มีมากขึ้น และทำให้ละครต้องพัฒนามากขึ้น มาจากเครื่องมือพัฒนา ทำให้จินตนาการและความฝันทำได้มากขึ้น 

ที่สำคัญยังมาจากไลฟ์สไตล์ผู้ชมเปลี่ยน โดยมีวิธีการเข้าถึงข้อมูล ด้วยอุปกรณ์ใหม่ๆ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ง่ายและเร็วขึ้น มีการศึกษา ทำให้ละครมีวิธีการเล่าเรื่องใหม่ได้ ผู้ชมเข้าใจในสารที่เราต้องการส่งง่ายและเร็วขึ้น เป็นผลให้ผู้ผลิตละครต้องคิดให้ทัน ปรับตัวให้ได้ อย่างการนำเสนอละครในปัจจุบันความยืดเยื้อน้อยลง และการเล่าเรื่องซับซ้อนเพียงไม่กี่ฉากผู้ชมก็เข้าใจได้โดยเร็ว อย่างที่จะเห็นว่าปัจจุบันละครแต่ละเรื่องจะเดินเรื่องเร็ว กระชับ ทำให้ละครแต่ละเรื่องใช้เวลาออนแอร์ไม่นาน เฉลี่ยไม่เกิน 2 เดือน 

นอกจากนี้ต้องมีเหตุผลนำเสนอให้ผู้ชมเข้าใจตัวละครมากขึ้น เช่นกรณีของนางร้าย ที่ในอดีตบทบาทคือการกรี๊ด ตวาดเสียงดัง ที่ผู้ชมรับรู้เพียงว่านี่ตัวร้าย ที่มีกิริยาแบบนี้ แต่ปัจจุบันตัวละครถูกอธิบายถึงเหตุผลที่มาของพฤติกรรมนี้มากขึ้น เพื่อให้มีเหตุมีผลมากขึ้น ซึ่งในทางสังคมคือการบอกได้ว่าคนมีพฤติกรรมอย่างไรย่อมมีที่มา ที่ในที่สุดคือการเข้าตัวตนผู้บริโภคที่อาจโดนใจในแบบเข้าถึง Insight เขา

ต้องตระหนักคนดูละคร ก็อยากดูแล้ว มีอะไรที่เป็นประโยชน์ด้วย อย่างเช่นการได้ความรู้ในมุมต่างๆ อย่างแนบเนียน แต่ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานคือต้องสนุก มีความบันเทิง และมีจุดทำให้เกิดทอล์กออฟเดอะทาวน์ 

ความต้องการใหม่ๆ ของผู้ชม ยังสอดคล้องกับช่วงเวลาที่ในวงการผู้จัดละครเริ่มมีรุ่นลูกของผู้จัดเติบโตขึ้น มีผู้จัดรุ่นใหม่ๆ เข้ามา หลังจากที่ได้เรียนรู้การทำงานของผู้จัดรุ่นใหญ่มาตั้งแต่เด็ก ทำให้ถูกรสนิยมของผู้ชมคนรุ่นใหม่ได้ไม่ยาก

นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ละครไทยมีรสชาติใหม่ๆ มีความชัดเจนมากขึ้นในการนำเสนอ ซึ่งกลิ่นอายใหม่ๆ นี้ได้เปิดโอกาสให้นักแสดงหน้าใหม่เกิด หากพวกเขาเหล่านี้ต่อยอดได้จากหน้าตา บุคลิก และโอกาสที่ทางช่องมอบให้ เส้นทางไปถึงดวงดาวก็ไม่ไกลเกินเอื้อม