Internet Banking โอกาสที่ยังมีอุปสรรค

ถึงแม้ว่าแบงก์ในไทยจะมี Internet Banking ให้บริการมานานเกือบ 10 ปี แต่ก็ยังถือว่าเป็นตลาดที่ยังมีช่องว่างอยู่มาก 

ในปี 2011 คนไทยใช้บริการธนาคารทางออนไลน์ 150 ล้านรายการต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่า 350,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 50-60% ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารรายใหญ่อย่างไทยพาณิชย์มีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 50% และภายในปี 2015 มีเป้าหมายว่าจะสร้างฐานลูกค้าถึง 2.5 ล้านราย 

ส่วนกสิกรไทยเบอร์หนึ่งของการใช้จ่ายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ ก็มีเป้าหมายที่การขยายบริการไปสู่ Mobile Banking 

สิ่งที่ทั้งสองธนาคารทั้งสองมองเหมือนกัน คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องเดินทางตลอดเวลา ขณะเดียวกันอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ก็มีราคาถูกลง ผู้บริโภคจึงเป็นเจ้าของดีไวซ์เหล่านี้ได้ง่าย เทคโนโลยี 3G ก็เข้ามามีบทบาทในไลฟ์สไตล์ของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันผู้บริโภคที่ใช้ Internet Banking ยังคงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ 80% และอีก 20% ใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ 

กลุ่มเป้าหมายหลักของ Internet Banking มีอายุระหว่าง 25-45 ปี มีการศึกษาและมีกำลังซื้อสูง ดังนั้นนอกเหนือจากบริการฝาก-ถอน-โอน เช็กยอด เติมเงิน จ่ายบิล ซึ่งเดี๋ยวนี้กลายเป็นบริการเบสิค ไปแล้ว ลูกค้ากลุ่มนี้ยังมีแนวโน้มซื้อกองทุนฯ ทางออนไลน์ ซึ่งสินค้าประเภทกองทุนฯ เป็นบริการที่ระดมทุน และมีโอกาสได้ค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายมากกว่าบริการขั้นพื้นฐาน  

ปัญหาใหญ่ของการใช้งาน Internet Banking ในประเทศไทย คือเรื่องของความเชื่อมั่น นับตั้งแต่ปี 2007-2010 มีกรณีที่แบงก์ถูกไวรัสแฮกข้อมูลทางการเงิน เพื่อนำไปกระทำทุจริต มีไม่ถึง 10 ราย นอกจากนี้ยังมีเคสที่ลูกค้าถูกมิจฉาชีพหลอกให้เข้าไปทำธุรกรรมผ่านเว็บไซต์ปลอมที่ลอกเลียนให้หมือนเว็บไซต์จริงของธนาคาร แต่เมื่อเป็นข่าวก็กระทบกับความเชื่อมั่นเชิงจิตวิทยากับลูกค้า อุปสรรคแบบนี้เป็นโจทย์ที่ธนาคารต้องแก้ไขทำความเข้าใจกับผู้บริโภคต่อไป