Mobile Payment บนถนนที่สวนทาง

บิล เกตส์ ผู้เข้าใจโลกแห่งเทคโนโลยีกว่าใครในโลก กล่าวอย่างเฉียบคมว่า “สิ่งสำคัญของธนาคาร คือระบบการทำธุรกรรมของธนาคารหาใช่ตัวธนาคารไม่!” 

คำกล่าวนี้จะดูมีน้ำหนักยิ่งขึ้น เมื่อคุณได้อ่านข้อเท็จจริงหลายประการของความเป็นไปในสารบบของการจ่ายเงินด้วยมือถือ (Mobile Payment) ที่กำลังกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตสมัยใหม่ในยุคที่สมาร์ทโฟนครองโลก และเป็นโลกใบเดิมที่เล็กลงไปอีกเพราะทุกคนพร้อมใจกันย้ายสำมะโนครัวมาอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันนามว่า “เฟซบุ๊ก” ที่ซึ่งรูปแบบการจ่ายเงินใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะนับวันเราจะยิ่งใช้เวลาอยู่ในนี้มากยิ่งขึ้น ใช้เงินสดน้อยลง แต่กลับจ่ายเงินซื้อของออนไลน์บ่อยยิ่งขึ้น ผ่านทั้งบนเว็บและโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ที่ติดตัวคุณตลอด 24/7 นั่นเอง

 

ความเป็นไปของ Mobile Payment ทั่วโลก

ทวีปแอฟริกา คือที่สุดของกรณีศึกษาของ Mobile Payment เพราะกว่า 80% ของประชากรในทวีฟแอฟริกาหรือประมาณ 800 ล้านคนไม่รู้จักธนาคาร เพราะที่นั่นไม่มีธนาคารสาขาสารพัดสีให้เห็นดาษดื่น ไม่มีตู้เอทีเอ็ม พวกเขาเลยไม่เคยสัมผัสกับสมุดบัญชีของธนาคาร การทำธุรกรรมทางการเงินหลักเลยหันไปพึ่งพากับระบบ M-PESA ระบบชำระ/โอนเงินผ่านระบบ SMS ของมือถือ โดยของทุกอย่างรอบตัวสามารถจ่ายด้วยมือถือ เริ่มตั้งแต่การซื้อขนมปังฝรั่งเศสหนึ่งก้อน ไปจนถึงการโอนเงินกลับบ้าน

ดังนั้นการที่เราเข้าใจว่าระบบ Mobile Payment จะต้องมาพร้อมกับการเติบโตของสมาร์ทโฟนอาจจะถูกแต่ถูกไม่หมด เพราะต่างพื้นที่ก็มีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับท้องถิ่นของตัวเอง โดยที่ผ่านมาเทคโนโลยีที่นำมาปรับใช้กับ Mobile Payment ก็มีตั้งแต่ SMS, WAP, QRCode, Application, เครื่องอ่านบัตรเครดิตที่เสียบเข้ากับมือถือ, RFID และล่าสุดที่กำลังจะกลายเป็นมาตรฐานกลางคือ เทคโนโลยี NFC ซึ่งจะเป็นชิปเล็กๆ ที่ฝังในมือถือที่เมื่อแตะกับเครื่องอ่าน ก็สามารถส่งผ่านข้อมูลได้ในเวลาที่น้อยกว่า 1 วินาที จึงทำให้การจ่ายเงินด้วยมือถือรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

สำหรับในเอเชีย ที่ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง เหล่าเมืองหลวงที่วุ่นวาย และคนมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ จึงรับเอาเทคโนโลยีการจ่ายเงินค่าสาธารณูปโภคประจำวันด้วยมือถือ NFC ไปใช้อย่างดาษดื่น ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าซื้อของในร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น โดยรูปแบบการจ่ายเงินดังกล่าวถือเป็นการจ่ายเงินจำนวนน้อยๆ (Micro Payment) เป็นหลัก เพราะมันสะดวกและรวดเร็วกว่าการจ่ายเงินแบบใดๆ ทั้งหมด ทั้งร่นเวลาการต่อคิว และนับเงินทอนออกไปเสียสิ้น

นอกจากนี้ ในบทบาทหลักของ Mobile Payment ที่แยกเป็นการใช้ชำระค่าสินค้าบริการกับร้านค้า หรือโอนเงินระหว่างผู้ใช้ด้วยกันแล้ว เราสามารถจำแนกผู้เล่นหลักในตลาด Mobile Payment ได้ออกเป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

 

1.ธนาคารออกบริการ Mobile Banking เพื่อเป็นช่องทางการทำธุรกรรมตลอด 24 ชั่วโมงต่อยอดจากเว็บไซต์ 

2.ค่ายมือถือรวมตัวกันเองเพื่อสรรหา-สร้างมาตรฐานการจ่ายเงินด้วยมือถือของตัวเอง เช่น ISIS ของอเมริกา และ Ericsson Money ในยุโรป

3.ค่ายบัตรเครดิต ที่ต่างตั้งบริษัทลูกเพื่อดูแลสัดส่วนธุรกิจจากเครื่องมือดิจิตอลโดยเฉพาะ เช่น อเมริกันเอ็กซ์เพรส เปิดบริษัท Payfone ส่วนมาสเตอร์การ์ดออกบริการ Pay Pass

4.บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจอินเทอร์เน็ตและระบบจ่ายเงินออนไลน์ซึ่งเปิดบริการทำระบบจ่ายเงินของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Google Wallet, PayPal, Apple เป็นต้น

5.ผู้เล่นหน้าใหม่ที่มาพร้อมกับนวัตกรรมการจ่ายเงินใหม่ๆ เช่น สแควร์ (Square) เครื่องรูดบัตรเครดิตด้วยมือถือ ที่ไม่มีค่าธรรมเนียมเปิดบัญชี แต่คิดเงินจากการใช้รูดบัตรอัตราเดียวไม่ว่าเงินจำนวนเท่าไหร่เข้าใจง่าย หรือธนาคาร 2.0 ที่มีสาขาเฉพาะบนเว็บไซต์อย่าง banksimple.com

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงผู้เล่นรายเก่าๆ อย่าง ผู้ทำระบบชำระเงิน ณ จุดขาย (POS), ห้าง-ร้านค้าสะดวกซื้อที่มีสาขามากที่สุดในโลกอย่าง วอลมาร์ท, ทาร์เก็ต, 7-11 และแฟรนไชส์ร้านอาหาร-เครื่องดื่มที่มีสาขาทั่วโลกอย่าง แมคโดนัลด์ และสตาร์บัคส์ ต่างก็หันมาปรับตัวทำระบบ Mobile Payment ของตัวเองกันทั้งสิ้น 

 

ข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมาจะนำมาสู่ 3 ประเด็นสำคัญสุดท้ายที่เราจะมาวิเคราะห์กันนั่นคือ 

– ทำไมจู่ๆ  Mobile Payment ธุรกิจน้องใหม่ถึงพร้อมที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วและมีผู้เล่นมากมายแทบจะทันทีที่เปิดตลาด!?

– ธนาคารจะปรับตัวอย่างไร? เมื่อใครๆ ก็หันมา “ทำตัวเป็นคนกลาง” ในระบบธุรกรรมทางการเงินกันมากมาย?

– เมื่อโลกยุคใหม่คนนิยมใช้เงินล่องหนแล้ว ทุกคนในอุตสาหกรรมเตรียมรับมือกับด้านมืดที่กำลังจะตามมาแล้วหรือยัง?

 

ตอบคำถามประเด็นแรกที่ว่า ทำไมทันทีที่เปิดตลาด Mobile Payment ทะเลจึงกลายเป็นสีเลือดโดยพลัน นั่นก็เพราะว่าใครๆ ก็อยากเล่นกับเงิน! เพราะเล็งเห็นแล้วว่า เมื่อเงินสด (Cash) > ถูกแปรเปลี่ยน (Transaction) > เป็นข้อมูลดิจิตอล (Payment) มันคือการเข้าถึงฐานข้อมูลอันมหาศาลของผู้บริโภครายบุคคล (เพราะทุกคนมีมือถือของตัวเอง) และเมื่อถึงยุคสมาร์ทโฟนที่มือถือเข้าถึงเน็ตตลอดเวลา มีจีพีเอสและกล้องถ่ายรูปครบครัน ก็จะยิ่งทำให้บริษัทเหล่านี้รู้ลึกตั้งแต่ใครซื้อ ซื้ออะไร ที่ไหน ซื้อเท่าไหร่ ใช้คูปองอะไรลด ฯลฯ ฉะนั้นเมื่อใครพร้อมก่อนก็ทำก่อน เพื่อเป็นต้นทางที่จะได้ฐานข้อมูลเหล่านี้ไปครอบครอง ดังนั้นเพื่อให้รู้จักตัวลูกค้าให้มากยิ่งขึ้นหลายค่ายจึงหวังไกลกว่า Mobile Payment แต่ต้องการให้เกิดเป็น Mobile Wallet หรือการเข้าถึงระบบนิเวศของไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายด้วยมือถือเพียงเครื่องเดียว โดยใช้มันแทนกระเป๋าสตางค์หนังใบโต โดยเก็บทั้งบัตรประชาชน บัตรส่วนลด คูปอง กุญแจ เงินสด บิลที่ต้องจ่าย และใบเสร็จ ทุกอย่างที่ว่าจะแปรรูปเป็นไฟล์ดิจิตอลและเก็บอยู่ในมือถือเล็กๆ เครื่องเดียว!

เมื่อคนกลางจากหลายอุตสาหกรรมที่ลงมาเดิมพันในตลาดนี้ แน่นอนว่าเจ้าตลาดเก่าอย่าง “ธนาคาร” ต้องสะเทือน เพราะไฟลท์บังคับให้ปรับตัวของธนาคารครั้งนี้ แตกต่างกับการปรับตัวของสื่อ ที่เปลี่ยนจากกระดาษมาสู่โลกดิจิตอล นั่นก็เพราะว่าไม่ว่าโลกจะไฮเทคไปอีกสักแค่ไหน แต่สื่อก็ยังจะคงอยู่ต่อไป เพราะสิ่งที่พวกเขาผลิต ขาย และสร้างรายได้ให้กับพวกเขาได้คือ “เนื้อหา (Content)” ผิดกับธนาคาร ที่ผู้ “ทำระบบ (Platform)” อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินเท่านั้น ถึงกระนั้นในศตวรรษหน้าธนาคารก็ยังไม่หายไปแต่จะลดบทบาทในแถวหน้าลงอย่างแน่นอน ดังนั้นสิ่งที่ธนาคารใหญ่ๆ ได้เริ่มทำแล้วก็คือ การหาพันธมิตรในธุรกิจดิจิตอล หาบริการใหม่ๆ เพื่อได้โอกาสจากค่าธรรมเนียมน้อยๆ แต่บ่อยๆ เช่น การแลกเปลี่ยนเงินเสมือนจริงที่ใช้กันบนเว็บมาเป็นเงินจริงอย่างถูกกฎหมาย เป็นต้น

สุดท้ายที่ไม่ใช่เป็นการฟันธงว่า “เงินสดจะหายไปจากโลกหรือไม่?” แต่จะเป็นการพูดเรื่องปัญหาก่อนหน้านั้น ซึ่งต้องป้องกันและหาทางแก้ไขก่อนสิ่งใดก็คือ เมื่อเทรนด์ใหม่ คนนิยมที่จะไม่ใช้ “เงินสด” ที่จับต้องได้ เพื่อซื้อของที่จับต้องไม่ได้ อย่าง แอพฯ เพลง หนัง กันมากขึ้น เรา (ธนาคาร, ตัวกลาง, ผู้บริโภค) จะหาใคร? มาสร้างมาตรฐานกลางเรื่องเทคโนโลยีและค่าธรรมเนียมสำหรับการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ และในกรณีที่เกิดปัญหาอย่างการแฮคข้อมูลและเงินในบัญชีไป กฎหมายอาญาเก่าๆ นำมาประยุกต์ใช้ได้ใช่หรือไม่?

ผู้เขียนเชื่อว่าผู้บริโภคสมัยใหม่ส่วนใหญ่พร้อมที่จะอัพเกรดชีวิตให้สะดวกและสบายยิ่งขึ้นกับ Mobile Payment เพียงขอให้ใครก็ได้มาสร้างความมั่นใจว่ามันปลอดภัยและจะไม่มีวันสูญเงินไปโดยไม่รู้ตัว! ซึ่งถือเป็นความต้องการที่สั้นและชัดเจน แต่ฮีโร่คนนั้นจะเป็นใครกันล่ะ?