เปิดปูมศึก ม.เอกชน

การแข่งขันอย่างเข้มข้นของมหาวิทยาลัยเอกชนในยุคนี้ สะท้อนออกมาผ่านตัวเลขงบซื้อสื่อโฆษณาที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ในอดีตที่ผ่านมา งบโฆษณาสูงสุดที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งใช้อยู่ประมาณ 20-25ล้านต่อปี กระทั่งในช่วง 4ปีที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 30-35ล้านบาท ล่าสุดพุ่งไปเป็น 40-45 ล้านบาท  

สาเหตุ มาจากนโยบายเปิดเสรีการศึกษาทำให้มีคู่แข่งจากมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศหลายแห่งมาเปิดสาขาในประเทศไทย รวมถึงการยกระดับขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยของสถาบันราชภัฏและสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล 

มหาวิทยาลัยของรัฐ อาทิ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหิดล เกษตรศาสตร์ ที่เปิดหลักสูตรพิเศษ โดยเปิดสอนในตอนเย็นวันธรรมดาและเสาร์อาทิตย์ คิดราคาค่าหน่วยกิตในอัตราเดียวกับมหาวิทยาลัยเอกชน 

ปี 2549 รัฐบาลออกนโยบายเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต หรือ เงินกู้ กรอ. โดยยกเลิกเงินกู้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ที่ใช้มาประมาณสิบปี เงินกู้แบบใหม่นี้ได้ ก่ออานิสงส์ให้แก่มหาวิทยาลัยเอกชนเติบโตกันถ้วน เนื่องจากเป็นเงินกู้ที่เปิดโอกาสให้ใครก็สามารถกู้ได้ ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติด้านเพดานรายได้ หรือระบุว่าต้องมีฐานะยากจน

ต่อมาในปี 2550 รัฐบาล ได้ยุติเงินกู้ กรอ. นำนโยบายเงินกู้ กยศ. กลับมาใช้เหมือนเดิม ทำให้ยอดนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยเอกชนลดลงทันที และในปีต่อมา 2551 มีการนโยบายนำเงินกู้ กรอ. กลับมาใช้อีกครั้ง โดยให้ใช้ควบคู่ กยศ. แต่ให้กู้ยืมเฉพาะสาขาวิชาที่ขาดแคลนเท่านั้น ได้แก่ วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิศวกรรมศาสตร์ บริการและการท่องเที่ยว และเกษตรศาสตร์ มีงบประมาณ 2,000 ล้านบาท จึงมีผู้ที่สามารถขอกู้ กรอ. ได้เพียง 30,000 คนเท่านั้น ส่งผลให้ยอดนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยเอกชน ลดลงอีกครั้งเป็นปีที่สองติดต่อ

ภายใต้สถานการณ์การแข่งขันที่ยากลำบากมากขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยเอกชน จึงต้องทุ่มงบโฆษณา เพื่อแย่งชิงลูกค้าที่ลดน้อยลงไปให้ได้มากที่สุด มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งถึงกับต้องออกกฎให้อาจารย์ ต้องเริ่มหานักศึกษาเข้ามาเรียนในคณะที่สอนอยู่ด้วย