ลูกค้า ตจว.อิงไลฟ์สไตล์แบบเมือง : 5 ข้อต้องรู้ก่อนลุยสื่อ OHM

ผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในหัวเมืองต่างจังหวัด คือกำลังซื้อที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากปัจจุบันที่ผู้คนกลับถิ่นฐาน มีรายได้จากการเกษตรและธุรกิจในท้องถิ่นมากขึ้น และเขตการค้าเสรีอาเซียนในอนาคต นี่คือเวลาที่แบรนด์สินค้าและบริการต้องเตรียมความพร้อม เพื่อปักธงแบรนด์ของตัวเองให้อยู่ในใจผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ได้

นอกจากสื่อที่ใช้กันทั่วไปอย่างทีวีซี เคเบิลท้องถิ่น และอีเวนต์ออนกราวนด์แล้ว สื่อหนึ่งที่ มายด์แชร์ เอเยนซี่การตลาดและการสื่อสาร และคินเนติค เวิลด์ไวด์ (ประเทศไทย) ผู้วางแผนการใช้สื่อนอกบ้าน (Out of Home Media) กำลังวางแผนดึงให้แบรนด์สามารถใช้ประโยชน์ได้คือ สื่อนอกบ้าน 

“เริงฤทธิ์ จินดาพร” ผู้อำนวยการวางแผนและพัฒนาธุรกิจ มายด์แชร์ บอกว่า หัวเมืองในต่างจังหวัดขณะนี้มีการพัฒนาความเจริญไม่ต่างจากกรุงเทพฯ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผู้บริโภคมีรายได้มากขึ้น มีห้างสรรพสินค้าที่ขยายสาขากันจำนวนมาก แน่นอนว่าทำให้ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในต่างจังหวัดเปลี่ยนไปจากเดิมที่อยู่ในบ้าน ก็ออกมานอกบ้าน พบปะ สังสรรค์ ทำกิจกรรม มีการเดินทางไปมากันมากขึ้น นี่คือโอกาสที่สื่อนอกบ้านจะทำหน้าที่ได้อย่างดี

แต่จะใช้สื่อนอกบ้านให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไรนั้น ทีมงานของมายด์แชร์ที่ออกสำรวจพื้นที่ใน 11 จังหวัดแบบสังเกต และสอบถามกลุ่มเป้าหมายในช่วงกลางปี 2011 และเมื่อเดือนมีนาคม 2012 ที่ผ่านมา มีข้อมูลน่าสนใจดังนี้

 

แหล่งแฮงก์เอาต์

การจะนำแบรนด์ไปอยู่ในสื่อนอกบ้านที่กลุ่มเป้าหมายอยู่ และผ่านนั้น ต้องรู้ก่อนว่าในแต่ละวันเขาอยู่ที่ไหนกันบ้าง จากการสังเกตพบว่า วัยรุ่น และผู้ใหญ่จะใช้เวลาอยู่ในสถานที่ทั้งที่เหมือนกันและต่างกัน

 

กลางวันอยู่ในแอร์

วัยรุ่นในต่างจังหวัด เฉลี่ยใช้เวลานอกบ้านเดินทาง พบปะเพื่อนประมาณ 3-4 ชั่วโมง ในช่วงกลางวัน ที่เห็นได้ชัด คือเป็นสถานที่ติดแอร์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

– กลุ่มที่มีฐานะ ทันสมัยจะไปห้างสรรพสินค้า ที่มีสินค้าที่มีแบรนด์ดัง เช่น มีแบรนด์เสื้อผ้าที่มีอยู่ตามห้างในกรุงเทพฯ 

– กลุ่มระดับรองลงมา ไปไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือที่มีโรงภาพยนตร์  

 

วัยรุ่นในเมืองใหญ่ยังใช้ชีวิตใกล้เคียงกับวัยรุ่นในกรุงเทพฯ เช่นวัยรุ่นในศรีษะเกษ จะเที่ยวเป็นกลุ่มในโรงหนัง ตู้เพลงคาราโอเกะ  

การใช้เวลาของวัยรุ่นนี้ไม่ต่างจากกลุ่มคนวัยทำงานในเสาร์-อาทิตย์ที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ในต่างจังหวัดนี้โดยเฉพาะผู้ชาย บางส่วนใช้เวลาดื่มเบียร์ในฟู้ดคอร์ทที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตด้วย 

 

ช่วงเย็น ร้านเด็ดของวัยรุ่น

ช่วงเย็นที่ลานกลางตัวเมือง หรือที่เรียกว่า ทุ่งศรีเมือง สวนสาธารณะ ก็เป็นแหล่งที่วัยรุ่นมาจับกลุ่มพบกัน และที่นี่เช่นกันในมุมหนึ่งจะมีผู้ใหญ่ วัยทำงานมาออกกำลังกายแอโรบิกกัน หรือมีแหล่งชุมชนใกล้บ้าน ตลาดนัด ตลาดสดแถวบ้าน เป็นต้น

ส่วนที่สังสรรค์ยามเย็น วัยรุ่นจะไปที่ร้านเด็ดประจำท้องถิ่นกัน เช่นร้านที่มีสินค้าโดดเด่น เช่น ร้านเครื่องดื่มนม ขนมปัง น้ำปั่น ใกล้มหาวิทยาลัย ส่วนผู้ใหญ่ ร้านหมูกระทะ ร้านเหล้าบาร์ แอลกอฮอล์ เป็นสถานที่นิยมของกลุ่มนี้

เอกลักษณะที่ชัดเจนผู้บริโภคในต่างจังหวัดมีความภูมิใจในท้องถิ่น เห็นได้จากในบางจังหวัดมีธุรกิจห้างขนาดใหญ่ มีชื่อเลือนแบบห้างชื่อดัง และได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เช่น บิ๊กซ้ง ที่สมุทรสาคร บิ๊กพี ที่กำแพงเพชร หรือร้านสุกี้อย่าง เอ็ม.ดี.ในภาคอีสาน หรืออย่างฟุตบอลไทยลีกที่ทำให้ท้องถิ่นภาคภูมิใจ ดังนั้นการวางแผนการใช้สื่อหากเชื่อมโยงกับความชอบของท้องถิ่นก็มีโอกาสบรรลุเป้าหมาย

 

5 อันดับสินค้าสุดฮิตใช้สื่อนอกบ้าน

1.รถยนต์

2.โครงการบ้าน

3.ธนาคาร

4.สินค้าอุปโภคบริโภค 

5.บริการระบบโทรศัพท์มือถือ

“วรรณี วิริยะกิจไพบูลย์” Acount Director คินเนติคฯ บอกว่า 5 อันดับสินค้าและบริการดังกล่าวมาจากการสังกตเบื้องต้น ซึ่งสะท้อนถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น การใช้รถยนต์นอกจากรถกระบะ ที่เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต่างจังหวัดจำเป็นใช้งาน แล้วปัจจุบันเริ่มเห็นรถยนต์หรือรถเก๋งในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารก็เริ่มให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าในต่างจังหวัดมากขึ้น โดยสื่อนอกบ้านที่ใช้จะเห็นการปรับปรุงสาขาให้เป็นสื่อโฆษณาหุ้มตึกที่ให้บริการ เหมือนอย่างที่สาขาในกรุงเทพฯ ทำมาแล้ว

 

สื่อนอกบ้านใช้อย่างไรถึงเอาอยู่

6 วินาที คือเวลาที่ต้องทำให้ผู้บริโภคเข้าใจ ”สื่อ” ที่สื่อนอกบ้านนั้นต้องการสื่อสารให้ได้

ภาพใหญ่ชัด คือหลักที่สื่อนอกบ้านนั้นต้องทำเพื่อดึงความสนใจได้เร็ว

ตัวเลข คือข้อความที่ต้องแสดงให้ชัด ในสื่อ ณ จุดขายอย่าง In Store Media เพื่อเร่งการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค

 

5 ข้อต้องรู้

มายด์แชร์ได้สรุปถึงการวางแผนการใช้สื่อนอกบ้านให้สำเร็จต้องมีข้อมูล 5 ส่วนดังนี้

 

1.ต้องรู้จักผู้บริโภค (Know our consumer) สิ่งที่สังเกตพบคือ 

– คนต่างจังหวัดเริ่มใช้ชีวิตใกล้เคียงคนกรุงเทพฯ มากขึ้น 

– มีความเป็นท้องถิ่น และภาคภูมิใจในท้องถิ่น

– มีส่วนร่วมกับกิจกรรมในท้องถิ่น สังเกตได้จากทีมฟุตบอลไทยลีกที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ 

 

2.รู้จักสถานที่ในการวางสื่อ (Know Location) คือสถานที่คนหนาแน่น

– หอนาฬิกา

– วงเวียน 

– ทุ่งศรีเมือง

 

3.รู้จักยานพาหนะที่ใช้เดินทาง (Know the Trasportation)

– มอเตอร์ไซค์ วัยรุ่นต้องมี และพร้อมโชว์

– รถกระบะ รถยนต์

– แท็กซี่มิเตอร์

– รถประจำทางระหว่างตัวเมือง และอำเภอ

 

4.เนื้อหาและภาษาที่ลงโฆษณา (Know the Content)

-เนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องที่คนในท้องถิ่นประสบหรือสนใจ (Local issue)

-พูดเฉพาะเจาะจงกับคนในพื้นที่ เช่น “สัญญาณทรูมูฟ เอช มาถึงศรีษะเกษแล้ว” (Be Specific)

– ภาษาท้องถิ่นก็ได้ผลดี (Local Dialect&Language)

 

5.อนาคตที่สื่อนอกบ้านมีโอกาสพัฒนา (Know the future) จากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

– การปรับไลฟ์สไตล์แบบคนในเมืองหลวง

– การมีพื้นที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้เวลานอกบ้าน เช่นคอมมูนิตี้มอลล์ หรือพื้นที่ในชุมชนมากขึ้น 

– การเชื่อมโยงเอเชียด้วยถนนจากเวียดนาม ผ่านไทยจนถึงอินเดีย

– สถานศึกษาในจังหวัดต่างๆ มีการพัฒนามากขึ้น ทำให้คนอยู่ท้องถิ่นมากขึ้น

– การปรับใช้เทคโนโลยี ตามการขยายตัวของห้างสรรพสินค้าที่นำสื่อใหม่มาใช้ เช่นจอแอลซีดี บิลบอร์ดแบบอินเตอร์แอคทีฟ ผสานกับเทคโนโลยีมือถืออย่าง Location Base Advertising